ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 2 : ทำความรู้จักหนังสือประวัติศาสตร์ปาตานี โดย เชค ฟากีห์ อาลี อัล-ฟาตอนี

บรรยายเรื่องโดย อาจารย์ฮาซัน ยามาดีบุ
แปลและเรียบเรียงโดย The Motive


หนังสือ “Tarikh Patani” หรือ “ประวัติศาสตร์ปาตานี” ถูกบันทึกโดย เชค ซอฟียุดดีน อัล-อับบาซี ในรัชสมัยสุลต่าน มูศอฟฟาร์ ชาห์ และถูกคัดลอกครั้งแรกโดย เชค ฟากีห์ อาลี อัล-ฟาตอนี ในรัชสมัยราชินีฮีเยา (Raja Hijau) อีก 100 ปี ต่อมามีการเรียบเรียงและคัดลอกอีกครั้งโดย เชค ดาวูด อัล-ฟาตอนี ช่วงระหว่างปี 2312-2390


สุลต่าน มูศอฟฟาร์ ชาห์ เป็นกษัตริย์องค์ที่สองของอาณาจักรปาตานีหลังจากกษัตริย์องค์แรกซึ่งเป็นบิดามีนามว่า “สุลต่าน อิสมาอีล ชาห์” หรือ “พญาตู นักปา อินทิรา สิ้นพระชนม์ ส่วนราชินีฮีเยา (Raja Hijau) เป็นกษัตริย์องค์ที่หกของอาณาจักรปาตานีในราชวงศ์ศรีวังสา


ในเอกสารบันทึกของ เชค ฟากีห์ อาลี อัล-ฟาตอนี เป็นบุตรของ เชค วันมูฮัมหมัด อัล-ฟาตอนี เป็นบุตรของ เชค ซอฟียุดดีน อัล-อับบาซี ซึ่งเป็นสายตระกูลผู้ชำนาญด้านศาสนาอิสลาม และรับราชการเป็น โต๊ะ ราชา ฟากีห์ หรือ มุฟตี (จุฬาราชมนตรี) ของกษัตริย์ปาตานีทั้งตระกูล

ระบุว่า การบันทึกประวัติศาสตร์เล่มนี้เป็นราชโองการจากสุลต่านปาตานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการบันทึกรักษาไว้เพื่อจะได้ไม่เลือนหายไป และเพื่อให้เราได้นึกถึงบรรพบุรุษของตนเอง รวมไปถึงสามารถเช็คสืบสายเลือดที่มาได้ สายเลือดของกษัตริย์ปาตานีดั้งเดิมตั้งแต่สมัยอาณาจักรเก่าแก่

.
แต่กระนั้นก็ตาม เชค ฟากีห์ อาลี ก็ไม่สามารถแปลเอกสารบันทึกทั้งหมดนั้นได้ เพราะภาษาดั้งเดิมที่ถูกบันทึกก่อนหน้านั้นเป็นภาษาสันสกฤต และภาษาปัลลวะ ซึ่งเป็นภาษาอินเดียที่เป็นภาษาเก่าแก่ถึงพันๆ ปี


แสดงว่าบันทึกประวัติศาสตร์อาณาจักรปาตานีนั้นได้ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอาณาจักรลังกาสุกะแล้ว โดยสมัยนั้นมีศูนย์กลางปกครองอยู่ที่ยือแร (อ.ยะรัง จ.ปัตตานี) ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่กรือเซะ (บ้านกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี) และเปลี่ยนชื่อเป็นอาณาจักรปาตานีในเวลาต่อมา


แต่โชคดีมีผู้เฒ่าชาวมลายูพุทธจากเมืองลิกอร์ (จ.นครศรีธรรมราช) รู้ภาษาสันสกฤตและปัลลาวะมาช่วยแปลให้กับ เชค ฟากีห์ อาลี ได้มากพอสมควร


เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจกษัตริย์ปาตานีในสมัยนั้นได้มอบที่ดินเพื่อเป็นของขวัญให้กับผู้เฒ่าฅนนั้นไปอาศัยอยู่ที่เมืองยาลอ (จ.ยะลา) พร้อมกับครอบครัว


อีกทั้งยังมีเอกสารบันทึกประวัติศาสตร์ที่เป็นภาษาอาหรับด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับ เชค ฟากีห์ อาลี เสียเลย เพราะท่านมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับอยู่แล้ว


ในหนังสือเล่มนี้ยังระบุอีกว่า เอกสารบันทึกประวัติศาสตร์ที่ เชค ฟากีห์ อาลี กำลังแปลอยู่นั้น โดยเฉพาะที่ถูกบันทึกด้วยภาษาอาหรับเดิมทีเป็นของ เชค ซอฟียุดดีน ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของ เชค ฟากีห์ อาลี ตามที่กล่าวมาตอนต้น


นอกจากนั้นยังมีผู้ช่วยแปลทางด้านภาษาชวาด้วย ซึ่ง เชค ฟากีห์ อาลี ได้รับความช่วยเหลือจากฅนชวาที่เดินทางมาจากเมืองโบโฆร์ (ชวาตะวันตก อินโดนีเซีย)


ดังนั้น สรุปฅนที่มาช่วยแปลเอกสารบันทึกเก่าแก่ให้กับ เชค ฟากีห์ อาลี ในครั้งนี้นั้นมีทั้งฅนพุทธจากเมืองลิกอร์ (จ.นครศรีธรรมราช) และฅนชวาจากเมืองโบโฆร์ (ชวาตะวันตก อินโดนีเซีย) ที่มาอาศัยอยู่ในเมืองปาตานีในสมัยนั้น ซึ่ง เชค ฟากีห์ อาลี ได้บันทึกกล่าวขอบคุณทั้งสองท่านผ่านหนังสือเล่มนี้ด้วย


นอกจากนี้ เชค ฟากีห์ อาลี ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า การบันทึกประวัติศาสตร์เล่มนี้ใช้เวลานานพอสมควร ผลที่ได้มาก็เท่าที่ข้าพเจ้ากระทำได้เพียงเท่านี้

.
และหากหนังสือเล่มนี้มีความผิดพลาดประการใด ก็หวังว่าทุกท่านจะค้นหาความจริงด้วยความจริงใจต่อไป เพราะแน่แท้ความผิดพลาดสำหรับสิ่งมีชีวิตนั้นย่อมมี


ความยากลำบากในการบันทึกประวัติศาสตร์เล่มนี้แน่นอนมีมากพอสมควร เพราะประวัติศาสตร์เก่าแก่ของอาณาจักรแห่งนี้มีที่มาอย่างยาวนานเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและฮินดู


ส่วนศาสนาอิสลามนั้นก่อนหน้านี้ยังเข้ามาไม่ถึง แต่ทั้งนี้ก็ต้องสื่อสารออกมาให้หมด โดยไม่ต้องคำนึงถึงความแตกต่างด้านศาสนา เพื่อให้เราได้รับรู้ถึงความจริงว่าบรรพบุรุษของเรามีที่มาอย่างไร

ลิงค์บรรยายต้นฉบับภาษามลายู : https://www.facebook.com/salasilahpatani/videos/378214959727579

อ่านเพิ่มเติม :
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 1
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 3
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 4
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 5
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 6
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 7
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 8
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 9
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 10