ตาดีกาเป็นอะไร ในสังคมมลายูปาตานี



.
“ตาดีกา โรงเรียนที่ถูกจัดการโดยคนในชุมชน ตาดีกาไม่ใช่เป็นมิติของการสู้ไม่ใช่เป็นการขยับไปข้างหน้า แต่ตาดีกาเป็นมิติของการรักษาคงไว้กลัวจะหายไป”
.
The Motive ชวนผู้อ่านมาสนทนากับ อัสมาดี บือเฮง อดีต เลขาธิการ PerMAS ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิก The PATANI ในประเด็นตาดีกา ต่อกรณีกลุ่มเยาวชนบ้านดูกู ออกแถลงการณ์ประณามและขอให้ทหารยุติกิจกรรมที่แทรกแซงเวลาตาดีกา จากกรณี ที่ทหารชุดควบคุมที่ 954 หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข โดยชุดสันติสุขที่ 405 ร่วมกับ ชุด ทสพ.401, ร้อย.ทพ.นย.5 ฯ และพระสมุห์จิรพนธ์ ธมมจาโร เจ้าอาวาสวัดอุไรรัตนารามฯ ดำเนินกิจกรรม “ครูช่วยสอน” ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของธงชาติไทย ณ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดหรือโรงเรียนฟัรฎูอีน (TADIKA) บูงอบังซอ บ้านดูกู ม.3 ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

อัสมาดี บือเฮง ให้ความเห็นว่า “กรณี โรงเรียนมลายูบ้านดูกู มันสะท้อนวิธีคิดบางอย่างของฝ่ายความมั่นคง พวกเขามองโรงเรียนมลายู ในฐานะใด แหล่งบ่มเพาะของกลุ่มขบวนการใช่หรือไม่ สิ่งที่รัฐไม่มีวันจัดการได้คือความรู้สึกความเป็นมลายู หากถามมลายูเป็นอย่างไร ก็คงไม่มีใครตอบชัดไปมากกว่า การที่เราไม่เหมือนคนอื่นในส่วนใหญ่ของประเทศนี้

เหมือนรัฐพยายามที่จะทำให้ส่วนน้อยตรงนี้หายไป คนที่นี่สอนภาษา ประวัติศาสตร์ ความเชื่อจริยธรรมของชุมชนต่อเด็ก ๆ ได้แค่สองวันต่อสัปดาห์ ก็ยังถูกรบกวนไม่ขาดหาย

โรงเรียนมลายู – ตาดีกา เกิดจากการออกแบบของชุมชนชาวมลายู ที่ก่อเกิดเรียงร้อยกัน ด้วยพื้นฐานวัฒนธรรมความเชื่อที่เหมือนกัน สิ่งที่สำคัญต่อการก่อเกิด คือ ธรรมนูญชุมชน / Hukum Adat-Hukum – Pakat แต่หลัง ๆ ฉันทามติร่วมต่าง ๆ ของชุมชนค่อย ๆ หายไป เพราะ ความรู้สึกว่าโรงเรียนมลายู/ตาดีกา เป็นของรัฐ รัฐเข้ามายุ่มย่ามมากไปจนความร่วมมือของชุมชนต่อตาดีกา ค่อย ๆ หายไป

แต่ปรากฎการณ์ เอาพระสงฆ์ไปจัดกิจกรรมในโรงเรียนมลายู /ตาดีกา ที่หมู่บ้านดูกู มันทำให้คนรู้สึกว่า รัฐกำลังล้ำเส้นมากเกินไป การออกแถลงการณ์ของเยาวชนกำลังฟื้นสิ่งที่หายไป คือ กติกาชุมชน เราจะอยู่กันอย่างไร ชุมชนจะมีธรรมนูญแบบไหนในอนาคต

คนที่นี่ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับความแตกต่างหลากหลาย มันเป็นเรื่องความเหมาะสม ความสมเหตุสมผล

รัฐก็ควรชี้แจง เพราะภาพเดียวมันสะท้อนวิธีคิดของรัฐได้อยู่ ในความรู้สึกความทรงจำ ที่ว่ารัฐไทยไม่เคยเปลี่ยน ความเป็นไทยต้องประกอบด้วยอุดมการณ์แบบพุทธราชาเท่านั้น”

.
อัสมาดี เปิดเผยต่อว่า “ตาดีกาไม่ได้มีมิติของความเป็นรัฐ แต่มีความเป็นมิติของความเป็นชาติ เชื้อชาติหรือไม่ ก็อยู่ที่การอธิบาย ตาดีกาไม่ได้สอนเรื่องปาตานีแต่ตาดีกาสอนเรื่องมลายู เรื่องอิสลาม แต่คนที่สอนก็คน คือครู ซึ่งครูจะมีแนวคิด อุดมการณ์ ก็เป็นสิทธิของคนเหมือนคนทั่วไป ถ้าเขาสอนไม่ดีชุมชนก็จะจัดการกับครูของเขาเอง เพราะตาดีกาเป็นของชุมชน

ผมเชื่อว่าตาดีกาเกิดจากพฤติกรรมการเลียนแบบของสังคม หนึ่งหมู่บ้านที่มีความก้าวหน้าที่คิดว่าต้องมีระบบโรงเรียนเองที่ถูกจัดการโดยชุมชน จะเรียกโรงเรียนมลายู หรือตาดีกาก็แล้วแต่ต่างก็เป็นโรงเรียนที่ถูกจัดการโดยคนในชุมชน ตาดีกาไม่ใช่เป็นมิติของการสู้ไม่ใช่เป็นการขยับไปข้างหน้า แต่ตาดีกาเป็นมิติของการรักษาคงไว้กลัวจะหายไป พอเป็นมลายูแล้วกลัวจะถูกกลืนด้วยโรงเรียนรัฐ ผมรู้สึกว่าเป็นแบบนั้นไม่ใช่เพื่อการต่อสู้แต่เพื่อรักษา”

.
อัสมาดี กล่าวต่อไปว่า “ตาดีกาเกิดมาในแบบที่จำเป็นต้องคู่กับมัสยิดทั้ง ๆ ที่สามารถเอกเทศได้ ถูกจัดให้เป็นศูนย์อบรมจริยธรรมของมัสยิด สุดท้ายตาดีกาเป็นสถาบันที่อยู่ภายใต้โครงสร้างมหาดไทย มัสยิดอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย นี้คือสิ่งที่แปลกมาก ถ้าจะเรียกร้องการพัฒนาจากรัฐมันก็ยากเหมือนกัน มันอยู่ในโครงสร้างมหาดไทยไม่ใช่ศึกษาธิการ จะพัฒนาในปาตานีก็ไม่มีอำนาจจริง ๆ ในแบบที่เคยเป็น ในแบบที่เป็นของชุมชนจริง ๆ ไม่มี

ข้อดีของตาดีกาอยู่ได้เพราะจิตอาสาของคน สุดท้ายความเป็นจิตอาสาถูกทำลายมันไม่ได้เสียแค่ศีลธรรม แต่เสียความรู้สึกร่วม ตาดีกาของพวกเราหรือตาดีกาของรัฐบาล แต่ในมิติของประชาชน ประชาชนไม่ได้เห็นขนาดนั้น ประชาชนมองว่าตาดีกา กลายเป็นของการอุปถัมภ์ตระกูลตาดีกาเป็นของโต๊ะอีหม่าม ตาดีกาเป็นของครูผู้สอน สุดท้ายตาดีกาเป็นอะไรกัน จริง ๆ เมื่อชุมชนเสีย ตาดีกาก็เสียเพราะตาดีกาโตในท้องของชุมชน” อัสมาดี กล่าวปิดท้าย

.
ข้อมูลอ้างอิง :
[1] สัมภาษณ์ อัสมาดี บือเฮง