ประวัติศาสตร์ปาตานี ยังคงเป็นหนามทิ่มแทง ความมั่นคงไทย EP.3

อิสมาอีล ฮายีแวจิ.
.

ในประเด็นการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมด้านการเมือง ลงวันที่ 9 ม.ค.2566 คำสั่งโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) นั้น ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้
.
อาทิเช่น ทหารไทยต้องการเป็นคนวางกฎเกณฑ์ต่างๆ ในประเทศแห่งนี้ ในขณะเดียวกันตนเองมีปัญหาใต้โต๊ะมากมายนับไม่ถ้วน หรือแม้แต่ทหารไทยใช้อำนาจเกินขอบเขต อย่างกรณีนี้ทหารแต่งตั้งตำรวจ ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่นในราชการ กระทั่งการตั้งคำถามไปยังทหารกลับไปว่า คุณมีความรู้เรื่องทฤษฎีประวัติศาสตร์มากแค่ไหนกัน หากคิดว่ามีความรู้มากเพียงพอแล้ว ก็กลับไปเป็นนักประวัติศาสตร์ดีกว่า อย่าเป็นเลยทหาร
.
Ep3. นี้ทาง The Motive จะชวนผู้อ่านทุกท่านมาอ่านความคิดเห็นของนักกิจกรรมภาคประชาสังคมและว่าที่นักการเมืองต่อว่ามีความเห็นอย่างไร อีกทั้ง Ep3. นี้ทาง The Motive ยังนำความคิดเห็นของอาจารย์ชาญวิทย์ หรือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ชาวไทย และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่ามีความเห็นอย่างไรต่อคำสั่งการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบประเด็นประวัติศาสตร์ปาตานีในครั้งนี้
.

อาจารย์ชาญวิทย์ ได้โพสต์แสดงความเห็นในประเด็นนี้ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวชื่อว่า “Charnvit Kasetsiri” ในหัวข้อ “ใครหนอที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ของชาติและราษฎรไทย? – Who fakes History of the Thai Nation and the Thai People?” โดยทาง The Motiveได้คัดมาบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งครั้งนี้มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน
.
อาจารย์ชาญวิทย์ ระบุว่า “นี่คือหนึ่งในหลาย ๆ อุปสรรคในการสร้างสันติสุขชายแดนใต้ เป็นความเขลาและความล้มเหลวของ “รัฐราชการไทย” ที่ไม่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เป็นสากล
.
การออกคำสั่งในลักษณะนี้ ขัดต่อหลักนานาอารยะ และหลักวิชาการประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติ เป็นของราษฎรไทย และเป็นของมนุษยชาติ ดังนั้น จึงไม่ใช่สมบัติส่วนตัวขององค์กรใด หรือกลุ่มบุคคลใด ๆ เพียงไม่กี่คน ที่ขาดหลักวิชาการ และขาดความรู้ความเข้าใจต่ออดีต”
.
ในเฟสบุ๊คอาจารย์ชาญวิทย์ ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า “การบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่ผ่าน ๆ มาหลายทศวรรษนั้น เกิดจากชนชั้นผู้กุมอำนาจรัฐไทย กับผู้ปกครองเพียงไม่กี่คน ดังที่เราจะเห็นได้จากความคิดทางประวัติศาสตร์ที่ผูกขาดให้ไทยมีแค่สมัย 3 กรุง คือ สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ส่วนธนบุรีตกหายไป หรือแม้แต่บิดเบือนประวัติศาสตร์ของรัฐราชอาณาจักรดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้าน
.
ดังนั้น ในฐานะผู้ศึกษาและผู้สอนประวัติศาสตร์ พบว่าประวัติศาสตร์จะต้องมีการถกเถียงและจะต้องยอมรับในความแตกต่างทางความคิดความเห็น ต้องมีการตีความได้ใหม่ ๆ เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีข้อมูลใหม่ ๆ และความคิดความรู้ทางวิชาการใหม่ ๆ (ต้องไม่จมปลักอยู่กับที่)
.
ที่สำคัญ ต้องไม่มีการผูกขาดโดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่กุมอำนาจรัฐที่ใช้ทั้งกฎหมาย ทั้งตุลาการ หมอความ ใช้ทั้งกำลังพลรบ รวมทั้งใช้อาวุธ บีบบังคับ ปราบปราม ให้ประวัติศาสตร์ “มี” เพียงเวอร์ชั่นเดียว หรือ สำนักสกุลเดียว ที่มีขึ้นมาได้โดยข้าราชการ ของข้าราชการ และเพื่อข้าราชการ เท่านั้น”
.
ด้านกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการ พรรคเป็นธรรม ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “จะมั่นใจได้อย่างไรว่าประวัติศาสตร์ที่ทหารนำมาเป็นเกณฑ์วัดอยู่มันไม่บิดเบือนตั้งแต่แรก แม้แต่ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนมาตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัย คุณรู้ได้อย่างไรว่าประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง ดังนั้น ประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องศึกษา
.
ในด้านคณะทำงานที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาก็ล้วนเป็นทหารและตำรวจ ถามกลับไปว่า คุณมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ขนาดไหนกัน ทฤษฎีในการสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาคุณรู้หรือเปล่าว่ามีอะไรบ้าง ถ้าคุณคิดว่าคุณมีความรู้เพียงพอแล้ว คุณกลับไปเป็นนักประวัติศาสตร์เถิด อย่าเป็นเลยทหาร”
.
ขณะที่ อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani เปิดเผยว่า “การที่ทหารแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมามองว่าเขาแค่เพียงต้องการแสดงอำนาจ ทหารในประเทศไทยมีอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหา คือ ชอบคิดว่าตัวเองเป็นมาตรวัดของทุกอย่าง ชอบคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ที่สุด
.
ทหารอยากเล่นการเมือง แต่ไม่อยากลงเลือกตั้ง ทหารอยากเป็นคนวางกฎเกณฑ์ต่างๆ ในประเทศนี้ ในขณะที่ตนเองมีปัญหาใต้โต๊ะมากมายนับไม่ถ้วน อยากจะตรวจสอบคนอื่น ในขณะที่คนอื่นไม่สามารถตรวจสอบเขาได้ แม้แต่กางเกงในทหารเกณฑ์คุณยังมองเป็นปัญหา แล้วคุณจะไปตรวจสอบคนอื่นได้อย่างไร
.
ส่วนฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการ พรรคเป็นธรรม มองว่าเป็นเรื่องตลกในมุมการใช้อำนาจแต่งตั้งหน่วยงานอื่นในราชการด้วยอำนาจของทหาร ซึ่งเชิงโครงสร้างเขาไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย ฉะนั้น ปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่กองทัพ เราจะต้องใช้กลไกรัฐสภาแต่งตั้งกรรมการเพื่อศึกษาดูว่า กอ.รมน.ยังมีประโยชน์อีกหรือไม่

.