
KEKERASAN MENINGKAT DI PATANI BILA MANA RUNDINGAN DAMAI KEHILANGAN ARAH
.
วารสาร SURAT ฉบับที่ 113 กุมภาพันธ์ 2568 หน้าที่ 6-7
แปลโดย ชินทาโร่ ฮาร่า
.
ปฏิบัติการทางการทหารในการต่อสู้ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่าความขัดแย้งที่ปาตานีนับวันก็ยิ่งร้อนขึ้น ความขัดแย้งนองเลือดที่ปาตานีก็จะคร่าชีวิตและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่กำลังวิวาทกัน ในเมื่อรัฐบาลนักล่าอาณานิคมไทยยังมุ่งมั่นที่จะปราบปรามนักต่อสู้ปลดปล่อยปาตานีด้วยปฏิบัติการทางการทหาร ฝ่ายแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ก็ยังรักษาจุดยืนเพื่อต่อต้าน
.
สงครามในยุคใหม่เริ่มต้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ปี 2547 เมื่อนักต่อสู้เอกราชปาตานีดำเนินการโจมตีต่อค่ายทหารไทยและปล้นปืน ตั้งแต่บัดนั้น ผู้คนมากกว่า 7,000 คนเสียชีวิตตามสงครามอันยืดยาว ฝ่ายนักต่อสู้ปาตานีดำเนินปฏิบัติการในรูปแบบการวางระเบิด การยิงเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทย ปฏิบัติการบ่อนทำลายในสถานที่ต่าง ๆ และปฏิบัติการรูปแบบอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากนักล่าอาณานิคมไทยบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงสามฉบับ และใช้อุปกรณ์ทางการทหารทันสมัยเพื่อจับกุม ปิดล้อม และสังหารนักต่อสู้และสังคมปาตานีอย่างเป็นประจำ
.
การใช้ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นในรูปแบบการโจมตีต่อกองทัพไทยเท่านั้น แต่ยังมีการตีกลับต่อนักต่อสู้ปลดปล่อยที่พยายามต่อสู้เพื่อชูศาสนา ชาติและมาตุภูมิของพวกเขา ความตึงเครียดในปัจจุบันเกิดขึ้นระหว่างชาติมลายูอิสลามปาตานีที่ต่อสู้เพื่อ “สิทธิความเป็นเจ้าของ (hak pertuanan)” กับนักล่าอาณานิคมไทยที่รักษาการปกครองแบบอาณานิคมและการควบคุมต่อพื้นที่ดังกล่าว สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งรุนแรงขึ้นโดยไม่มีจุดจบเนื่องจากนักล่าอาณานิคมไทยยกระดับปฏิบัติการทางการทหารเพื่อปราบปราม (ฝ่ายขบวนการ) แต่ไม่สำเร็จเพื่อลดความตึงเครียดดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น การคุกคามและปฏิบัติการทางการทหารของกองกำลังนักล่าอาณานิคมทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งที่ปาตานียิ่งรุนแรงขึ้นด้วย
.
การเจรจาสันติภาพถูกกีดกั้น หลังจากการโจมตี (จากฝ่ายขบวนการ) เพิ่มขึ้น นักล่าอาณานิคมไทยก็เริ่มคิดใหม่เพื่อดำเนินการเจรจากับบีอาร์เอ็นซึ่งเป็นตัวแสดงหลักในความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเคยมีการเจรจาหลายรอบ แต่กระบวนการสันติภาพปาตานีมีความคืบหน้าที่ล่าช้ามาก และมักจะเจอกับทางตัน เพราะนักล่าอาณานิคมไทยยังไม่มีความจริงจังเพื่อแก้ไขความขัดแย้งตาม “แผนที่นำทาง (roadmap)” ที่ตกลงกันในเอกสาร “ความริเริ่มเบอร์ลิน (Berlin Initiative)” การเจรจาครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ยังไม่ได้บรรลุข้อตกลงที่มีนัยสำคัญใด ๆ เลย หนึ่งในข้อท้าทายสำคัญของการเจรจาคือ การที่ฝ่ายรัฐบาลไทย (RTG) ไม่สามารถลงนามในข้อตกลงใดได้
.
นอกจากนั้น ความไว้วางใจระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นที่ฝังรากลึกก็ยังเป็นอุปสรรคสำหรับบรรลุข้อตกลง ในเมื่อไม่มี “การหยุดยิง” คู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็จะรู้สึกว่า การเจรจาที่กำลังดำเนินนี้ก็แค่สร้างคำสัญญาว่างเปล่าโดยไม่มีการนำมาปฏิบัติที่ชัดเจน ในขณะเดียวกัน ในเมื่อกระบวนการสันติภาพเริ่มต้น นักล่าอาณานิคมไทยก็มักจะเริ่มการโจมตีหรือนำนโยบายเชิงปราบปราม ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นเพื่อแก้ไขความขัดแย้งอย่างมีศักดิ์ศรีจะหายไป
.
การแก้ไข (ความขัดแย้ง) ยังห่างไกล เมื่อลูกสาวเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตรก็เริ่มแทรกแซงการเมือง และหน้าที่เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง (ในจังหวัดชายแดนภาคใต้) ถูกมอบให้กับรองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เขาเสนอให้สภาความมั่นคงแห่งชาติทบทวนยุทธศาสตร์การเจรจาที่จะใช้กับบีอาร์เอ็น การวางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นำโดย พล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก และคนอื่น ๆ ส่วนบทบาทหลักยังอยู่ในมือของ กอ.รมน. ภาคสี่ส่วนหน้าและตำรวจภาคเก้า ซึ่งชี้ให้เห็นว่านักล่าอาณานิคมสยามไม่มีความประสงค์ใด ๆ เพื่อบรรลุการแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีเลย
.
ไม่น่าแปลกใจว่า สังคมชาติมลายูปาตานียิ่งรู้สึกหมดหวังกับการแก้ไขความขัดแย้ง กระบวนการสันติภาพและข้อเรียกร้องของสังคมนั้นต่อสิทธิที่สมควรจะได้รับในด้านต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับความสนใจอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการบริหารจัดการพื้นที่ การยอมรับอัตลักษณ์ สิทธิด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา ความยุติธรรม กฎหมายและสิทธิมนุษยชน สิทธิในการศึกษา วัฒนธรรมและศาสนา และประเด็นความปลอดภัยและความมั่นคง
.
อย่างไรก็ตาม นักล่าอาณานิคมไทยยังให้ความสำคัญกับนโยบายด้านความมั่นคงโดยอาศัยปฏิบัติการทางการทหารมากกว่าแนวทางแก้ไขทางการเมือง หลังจาก (กระบวนการสันติภาพ) เจอกับทางตันดังกล่าว สังคมนานาชาติเริ่มให้ความสนใจต่อความขัดแย้งที่ปาตานีมากขึ้น โดยมีองค์กรนานาชาติบางองค์กร และประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศดังเช่นมาเลเซียเรียกร้องให้ประเทศไทยมีความจริงจังในการแสวงหาแนวทางแก้ไขด้วยสันติวิธีและครอบคลุมดังที่บันทึกไว้ในเอกสาร JCPP (แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม) ถึงกระนั้นก็ตาม การที่นักล่าอาณานิคมไม่ยอมรับว่า ปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานีมีรากเหง้าที่ลึก ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านความมั่นคงและความรุนแรงอย่างเดียวนั้นเป็นอุปสรรค (สำหรับความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพ)
.
ความหวังสำหรับอนาคต ถึงแม้ว่ากระบวนการสันติภาพปาตานีมักจะประสบอุปสรรคและข้อท้าทายต่าง ๆ ก็ตาม เราต้องเชื่อว่ายังมีความหวังเพื่อสร้างสันติภาพในอนาคตที่ปาตานี หนึ่งใสกุญแจสำคัญคือการดำเนินกระบวนการเจรจาสันติภาพที่มีประสิทธิผลและมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของทุกฝ่าย (inclusive) หรือผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ในความขัดแย้งนี้ การปรึกษาหารือสาธารณะ (public consultation) ควรเป็นพื้นที่สำหรับประชาชนชาติปาตานีมีส่วนร่วมในกระบวนการ หากมีพื้นที่ทางการเมืองในรูปแบบการปรึกษาหารือกับสาธารณะ ประชาชนในพื้นที่ที่มาจากภูมิหลังทางศาสนาที่แตกต่างกันก็จะสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้
นอกจากนั้น ฝ่ายรัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีทัศนคติที่เปิดกว้างเพื่อแก้ไขรากเหง้าของความขัดแย้งซึ่งเป็นที่มาของสถานการณ์ตึงเครียดในปัจจุบันที่ปาตานี โดยใช้วิธีการนี้ กระบวนการเจรจาสันติภาพจะสามารถให้ความสำคัญแก่แนวทางแก้ไขอันแท้จริง ไม่ใช่แค่ยุติการใช้ความรุนแรงอย่างเดียว ความขัดแย้งที่ปาตานีเป็นข้อท้าทายอันยิ่งใหญ่ซึ่งทุกภาคส่วนของประเทศชาติต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง หากไม่มีแนวทางแก้ไขอย่างครอบคลุม การใช้ความรุนแรงจะสูงขึ้นและเป็นภัยคุกคามต่อพื้นที่แห่งนี้ อย่างไรก็ตาม หากทุกฝ่ายมีความตั้งใจอันแน่ชัดและมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เรายังมีความหวังสำหรับอนาคต ถีงแม้ว่าเส้นทางไปสู่สันติภาพนั้นยังห่างไกลและอาจมีอุปสรรคหลาย ๆ อย่างก็ตาม .
.
หมายเหตุ : แปลจาก วารสาร SURAT ฉบับ 113 กุมภาพันธ์ 2025 หน้าที่ 6-7 แปลโดยชินทาโร่ ฮาร่า ซึ่งทาง The Motive เล็งเห็นถึงประโยชน์จากบทความดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพปาตานีจากมุมมองของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ และได้รับอนุญาตการแปลความจากกองบรรณาธิการของวารสาร SURAT ซึ่งเป็นวารสารภาษามลายู (รูมี-ยาวี) ที่เผยแพร่อยู่ในต่างประเทศและพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ในรูปแบบของไฟล์พีดีเอฟ มีลักษณะของการส่งต่อในอีเมลล์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการเอกราชปาตานีในปัจจุบัน
.
#TheMotive
#Peace