
.
แนวคิดเรื่อง “ชาตินิยม” (Nationalism) เป็นหัวข้อที่ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางในสาขาสังคมศาสตร์ การเมือง และปรัชญา ชาตินิยมไม่ได้มีรูปแบบเดียว แต่ถูกพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสังคม
.
เบเนดิก แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) เสนอแนวคิดที่ทรงอิทธิพลในหนังสือ Imagined Communities โดยเขามองว่า ชาติ (Nation) เป็น “ชุมชนที่ถูกจินตนาการขึ้น” (Imagined Community) โดยที่คนในชาติไม่รู้จักกันทั้งหมด แต่พวกเขาจินตนาการว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเดียวกัน ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นควบคู่กับการแพร่กระจายของสื่อสิ่งพิมพ์และภาษา ซึ่งช่วยหล่อหลอม “สำนึกความเป็นชาติ”
.
ส่วน เออเนส เกลเนอร์ ได้ให้คำนิยามชาตินิยมว่าเป็นกระบวนการที่รัฐสร้างชาติขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นชาติจึงเป็นผลผลิตของยุคอุตสาหกรรม ไม่ใช่สิ่งที่มีมาโดยธรรมชาติ ทำให้ชาตินิยมไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับระบบรัฐสมัยใหม่
.
ด้านแอนโทนี่ ดี สมิท มองว่าชาตินิยมไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่ยังเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เขาแยกชาตินิยมออกเป็นสองประเภทหลัก คือ หนึ่ง Civic Nationalism (ชาตินิยมภาคประชาชน) – เน้นความเป็นพลเมือง ไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และ สอง Ethnic Nationalism (ชาตินิยมทางชาติพันธุ์) – ผูกติดกับเชื้อชาติและวัฒนธรรม เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น
.
สำหรับการแยกประเภทของชาตินิยม ในทางวิชาการจะแบ่งออกเป็นดังนี้
1.Civic Nationalism (ชาตินิยมพลเมือง) คือมองว่าชาติเป็นชุมชนของพลเมืองที่มีสิทธิและเสรีภาพร่วมกัน ไม่เน้นเรื่องเชื้อชาติหรือศาสนา เช่น ชาตินิยมแบบฝรั่งเศสและอเมริกัน
2.Ethnic Nationalism (ชาตินิยมชาติพันธุ์) คือมองว่ายึดโยงกับสายเลือด เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม มีลักษณะของการกีดกันและแบ่งแยก เช่น ชาตินิยมของนาซีเยอรมนี
3.Extreme Nationalism (ชาตินิยมสุดโต่ง) เป็นรูปแบบที่นำไปสู่แนวคิดชาตินิยมแบบก้าวร้าวและมักใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและมักเกี่ยวข้องกับแนวคิด “อำนาจนิยม” (Authoritarianism) เช่น ฟาสซิสต์อิตาลี นาซีเยอรมัน
.
ชาตินิยมในบริบทของไทยและมลายู หากจะศึกษาเรื่องชาตินิยมไทย ก็คงต้องย้อนกลับไปทบทวนรากฐานของชาตินิยมไทยถูกสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5-6 เพื่อรวมอาณาจักรสยามให้เป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ก่อนที่ยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเปลี่ยนมาใช้ “ราชอาณาจักรไทย” ซึ่งเน้นความเป็น “ไทย” ผ่านแนวคิด “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” โดยมีแนวโน้มเป็น Ethnic Nationalism เนื่องจากอัตลักษณ์ “ไทย” ถูกเชื่อมโยงกับเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่กำหนดโดยรัฐ
.
ส่วนชาตินิยมมลายู รากฐานชาตินิยมมลายูมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมมลายู ในบริบทของปาตานี มีการพัฒนาแนวคิด Ethno-Religious Nationalism (ชาตินิยมชาติพันธุ์-ศาสนา) โดยชาตินิยมมลายูในปาตานีมีแนวโน้มเป็น Ethnic Nationalism ที่ต่อต้านรัฐไทย เพราะประสบการณ์ทางการเมืองและประวัติศาสตร์เน้นหนักไปทางประวัติศาสตร์บาดแผล การถูกกดขี่ กดทับ และเรื่องเล่าที่สังคมปาตานีตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง
.
ข้อสังเกตต่อปัญหาของ Extreme Nationalism และผลกระทบต่อความขัดแย้ง ที่มักนำไปสู่การกดขี่และความขัดแย้ง เช่น การพยายามกลืนกลายวัฒนธรรม การปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่าง และการทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็น “ศัตรูของชาติ”
.
ในกรณีของปาตานี ขบวนการติดอาวุธมลายูอาจถูกมองว่าเป็น Malay Extreme Nationalism ซึ่งยังมีข้อถกเถียงในทางวิชาการ แต่รัฐไทยเองก็มีลักษณะของ Thai/Siam Extreme Nationalism เช่นกัน ปัญหาคือ ในขณะที่ฝ่ายมลายูถูกมองว่าเป็น “ชาตินิยมสุดโต่ง” และถูกใช้เป็นเหตุผลในการปราบปราม แต่ฝ่ายไทยกลับไม่ถูกตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ในระดับเดียวกัน
.
อย่างไรก็ตาม จะเป็นชาตินิยมแบบไหนก็ได้ แต่ต้องเคารพกัน การนิยามตัวตนว่าเป็น “มลายูปาตานี” “ไทยมลายู” “ไทยมุสลิม” หรือ “สยาม” เป็นเรื่องที่เปิดกว้างและถกเถียงกันได้ ทุกคนมีสิทธิ์กำหนดตัวเอง (Self-determination)
แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ “ชาตินิยม” พัฒนาไปสู่ “Extreme Nationalism” หรือชาตินิยมสุดโต่งถ้ามันเกิดขึ้น มันจะนำไปสู่ความรุนแรง และการมองฝ่ายที่แตกต่างว่าเป็นศัตรู ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นทั้งทางกายภาพ ความคิด และโครงสร้างของรัฐ
หากทั้งสองฝ่ายสามารถ ยอมรับตัวตนของกันและกัน และหลีกเลี่ยงชาตินิยมสุดโต่ง เราอาจมีพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องพยายามทำลายอัตลักษณ์ของอีกฝ่าย จะเป็นชาตินิยมก็ได้ แต่ต้องไม่ลิดรอนสิทธิ์ของคนอื่น
สุดท้ายแล้ว “ชาตินิยมที่ดี คือต้องไม่กดขี่ใคร” เพราะหากเราต่างเคารพกัน ความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นก็จะลดลง และโลกนี้อาจจะน่าอยู่ขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
.
เอกสารอ้างอิง (References)
-Anderson, B. (1983). Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism. Verso.
-Gellner, E. (1983). Nations and Nationalism. Cornell University Press.
-Smith, A. D. (1991). National Identity. University of Nevada Press.
Enter.
.
.
เรียบเรียง : ซาฮารี เจ๊ะหลง