ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 3 : กำเนิดอาณาจักรลังกาสุกะ ก่อนท่านศาสดามูฮำหมัดจะประสูติ

บรรยายเรื่องโดย อาจารย์ฮาซัน ยามาดีบุ
แปลและเรียบเรียงโดย The Motive

อาณาจักรลังกาสุกะ (Langkasuka) เป็นชื่อภาษาสันสกฤต “ลังกา” แปลว่า “เกาะ” ส่วน “สุกะ” แปลว่า “ความสุข” แปลโดยรวมคือ อาณาจักรที่มากด้วยความสุข

ภาษอาหรับจะเขียนเป็น “ลันคาสุกะ (Lanqasuka)” อ้างอิงจากการบันทึกประวัติศาสตร์ของ เชค ฟากิห์ อาลี อัล-ฟาตอนี และคัดลอกอีกครั้งโดย เชค ดาวูด อัล-ฟาตอนี ในหนังสือประวัติศาสตร์ปาตานี (Tarikh Patani)

ส่วนภาษาจีนจะอ่านออกเสียงเป็น “หลังสยิว (Langsayiu)” หรือ “หลังหยาสิ้ว (Langyasiu)” หรือ “หลังหย่าซุ่ย (Langyasui)” อ้างจากจดหมายเหตุราชวงศ์เหลียง หรือ ราชวงศ์เหลียงซู ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จีนจตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง

แต่ฅนมลายูจะเรียกอาณาจักรแห่งนี้ว่า “ลังกาสุกะ (Langkasuka)” มาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นอาณาจักรมลายูที่เก่าแก่มาอย่างช้านาน

ตำนานอาณาจักรลังกาสุกะ (Hikayat Langkasuka) เป็นอาณาจักรโบราณ มีอายุนานถึง 1,000 กว่าปี ราชาลังกาสุกะจะปกครองอาณาจักรแห่งนี้ด้วยกฎหมายศาสนาฮินดูและศาสนาพรามห์ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองกือดะห์ (รัฐเคดาห์ มาเลเซีย) ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่เมืองยือแร (อ.ยะรัง จ.ปัตตานี)

แต่ไม่รู้วันเดือนปีที่กำเนิดขึ้นแน่ชัด กล่าวกันว่ากำเนิดก่อน “ท่านศาสดาอีซา บุตรของ มัรยัม” ประสูติ (ศาสดาศาสนาอิสลามฅนที่ 24) คือบุคคลเดียวกันกับ “พระเยซู” ศาสดาของศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันในสมัยของ “จักรวรรดิโรมัน” (ค.ศ. 330 – 476)

นั่นก็หมายความว่าอาณาจักรลังกาสุกะกำเนิดขึ้นมาก่อนที่ “ท่านศาสดามูฮำหมัด บุตรของ อับดุลเลาะห์” จะประสูติ (ศาสดาฅนที่ 25) เป็นศาสดาฅนสุดท้ายในศาสนาอิสลาม (ค.ศ. 570 – 632)

มีบันทึกของฅนจีนที่เคยเดินทางมายังอาณาจักรลังกาสุกะไว้ว่า อาณาจักรลังกาสุกะกำเนิดขึ้นมาก่อนที่ท่านศาสดาอีซา (Jesus) จะประสูติถึง 200 ปี ซึ่งตรงกับที่ เชค ฟากีห์ อาลี ได้บันทึกและเรียบเรียงใหม่ในหนังสือประวัติศาสตร์ปาตานี (Tarikh Patani)

ดังนั้น เราสามารถสรุปได้ว่าอาณาจักรลังกาสุกะเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่บุกเบิกตั้งรกรากบนคาบสมุทรมลายู (Semenanjung Tanah Melayu) ในลำดับต้นๆ

คาบสมุทรมลายู หรือ แหลมมลายู เป็นคาบสมุทรขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วางอยู่ใต้สุดของทวีปเอเชีย มีอาณาเขตตั้งแต่ใต้สุดของประเทศพม่า ภาคใต้ของประเทศไทย ภาคตะวันตกของประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ทั้งหมด โดยเป็นดินแดนที่กั้นด้วยมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

ชาวลังกาสุกะจะนับถือศาสนาตามชาวฮินดู (อินเดีย) ที่เดินทางมาค้าขายบนเกาะยาซีระห์ (Pulau Jazirah) หรือน่าจะเป็นเกาะลังกวี ที่อยู่ใกล้เมืองกือดะห์ (รัฐเคดาห์ มาเลเซีย) ซึ่งเป็นที่ทำการค้าขายของชาวทมิฬจากเมืองจูราปาตี (Jurapati) ทางตอนใต้ของอินเดีย

มีอาณาเขตปกครองกว้างขวางครอบคลุมคาบสมุทรมลายูทั้งหมดโดยพัฒนามาจากเมืองท่าเล็กๆ ของชาวพื้นเมืองจนเติบโตเป็นรัฐและมีฐานะเป็นอาณาจักร ครอบคลุมตั้งแต่เมืองลิกอร์ (จ.นครศรีธรรมราช) เมืองซึงโฆรา (จ.สงขลา)

และมีท่าเรือนานาชาติที่ยิ่งใหญ่อยู่ที่เมืองปาตานี (จังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าท่าเรือแห่งนั้นตั้งอยู่ตรงจุดใด เนื่องจากปาตานีในสมัยลังกาสุกะนั้นยังไม่ได้มีชื่อเรียกว่า “ปาตานี”

แต่มีความชัดเจนอย่างยิ่งว่าเมืองปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้) เป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักรลังกาสุกะ เป็นท่าเรือที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างกว้างขวาง

ในสมัยนั้นราชาเมืองลิกอร์ (จ.นครศรีธรรมราช) กับราชาเมืองซึงโฆรา (จ.สงขลา) อยู่ภายใต้การปกครองของราชาเมืองปาตานี (จังหวัดชายแดนภาคใต้) เนื่องจากเครือญาติราชาลังกาสุกะที่เมืองกือดะห์ (รัฐเคดาห์ มาเลเซีย) มอบอำนาจให้ปกครองเมืองชายทะเลด้านตะวันออก เพื่อทำการค้ากับชาวจีน ชาวเขมร ชาวบูกิส (เกาะสุลาเวซี อินโดนีเซีย) ชาวชวา (เกาะชวา อินโดนีเซีย) และชาวบาหลี (เกาะบาหลี อินโดนีเซีย)

ส่วนทางบกก็จะมีช้างเดินทางผ่านภูเขาเพื่อมารับสินค้าที่เมืองปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้) เดินทางจากเมืองกือดะห์ (รัฐเคดาห์ มาเลเซีย) ถึงเมืองปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้) ใช้เวลา 1 เดือน 25 วัน (รวม 55 วัน) โดยรูปแบบการเดินทางก็จะไม่เร็วมากและไม่ช้าจนเกินไป หากช้างหิวก็จะหยุดพักระหว่างทางเพื่อป้อนอาหารให้

ผู้ที่มาอาศัยอยู่ที่เมืองปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้) จะกินข้าวเป็นอาหารหลัก บ้างก็กินแป้งสาลี และมีบางฅนที่กินข้าวโพด

ส่วนชาวอาหรับเยเมนและชาวเปอร์เซียก็มีที่เดินทางเพื่อมาทำการค้ากับชาวปาตานี ชาวจีน และชาวฮินดู ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะกราบไหว้บูชาไฟ โดยนับศาสนามาจูซี (ศาสนาบูชาไฟ) ศาสนามูซา (ศาสนายูดาห์) และศาสนาอีซา (คริสเตียน) ซึ่งฅนมลายูไม่เข้าใจในสิ่งนั้น

แต่ชาวฮินดูจะมีความสามารถอย่างหนึ่งที่ทำให้ชนชาติอื่นๆ รู้สึกเกรงกลัว นั่นก็คือ การเล่นมายากล แถมยังมีมนต์คาถาอาคมด้วย โดยพวกเขาจะกราบไหว้ทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั้งก้อนหินและไม้ ฅนอื่นๆ ก็จะรู้สึกเกรงกลัวพวกเขาด้วยความฉงนสนเทห์

ชาวมลายูจำนวนหนึ่งจะนับถือศาสนาของชาวฮินดู ฅนที่นับถือศาสนาฮินดูเราจะสังเกตุได้ง่ายด้วยการดูฅนที่ผูกเชือกไว้ที่คอ เป็นเส้นสีดำและสีเหลือง ราชาลังกาสุกะ และราชาปาตานีในสมัยนั้นก็นับถือศาสนาฮินดูเช่นเดียวกัน

ลิงค์บรรยายต้นฉบับภาษามลายู : https://www.facebook.com/salasilahpatani/videos/378214959727579

อ่านเพิ่มเติม :
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 1
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 2
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 4
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 5
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 6
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 7
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 8
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 9
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 10