การแปลเปลี่ยน (transformation) ประเด็นเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานี

โดย วารสาร Surat ฉบับที่ 80 หน้าที่ 6-7

แปลโดย ชินทาโร่ ฮาร่า

เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขสำหรับความขัดแย้งที่ปาตานี (คู่กรณี) ทั้งสองฝ่ายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนท่าที่เดิมที่ประนีประนอมมาเป็นท่าที่ที่ยอมประนีประนอมกัน

การประนีประนอมที่นี่ไม่ได้หมายถึงการละทิ้งหลักการเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นการยอมรับความเป็นจริงที่ประจักษ์ เพื่อให้มีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคต ความขัดแย้งที่ปาตานีหรือทางใต้ของประเทศไทยนั้น

(รัฐบาลไทยอ้างตลอดมาว่า) เป็นปัญหาภายในและไม่เปิดช่องทางให้แก่โลกภายนอกมีบทบาทใด ๆ (อย่างไรก็ตาม) ฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียวย่อมก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และจำเป็นต้องให้ฝ่ายนักต่อสู้มีส่วนร่วมในการแสวงหาแนวทางแก้ไขด้วย

แต่ฝ่ายนักต่อสู้ต้องการฝ่ายที่สามที่จะเป็นผู้ไกลเกลี่ย (ในกระบวนการ) เพราะท่าที่ของรัฐบาลไทยนั้นไม่ได้ทำให้ฝ่ายนักต่อสู้มั่นใจว่า ฝ่ายรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้อย่างยุติธรรมและมีศักดิ์ศรีได้

การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นที่ต่างประเทศเป็นจุดเปลี่ยนอันสำคัญตั้งแต่ความขัดแย้งอุบัติขึ้นมาที่ปาตานี ในกระบวนการเจรจารอบนี้ ได้มีการพบปะกันอย่างเป็นทางการสองครั้งและประชุมทีมเทคนิคสามครั้งแล้ว และมีความคืบหน้าในบางเรื่องทางเทคนิค เช่น ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันเกี่ยวกับข้อกำหนดของกระบวนการเพื่อให้กระบวนการสามารถดำเนินต่อได้ตามมาตรฐานสากลและมีความน่าเชื่อถือ

(ทั้งสองฝ่าย) ยังตกลงกันอีกว่าจะมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกและอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (expert) มาสังเกตการณ์การประชุมอย่างเป็นทางการและทั้งสองฝ่ายก็จะแลกเปลี่ยนร่างข้อเรียกร้องกันผ่านผู้อำนวยความสะดวก

กระบวนการเจรจาที่ต่างประเทศจะมีส่วนร่วมของหลายฝ่ายและมีการติดตามขององค์กรนานาชาติหรือฝ่ายที่สามด้วย แต่ผู้นำกองทัพไทยบางส่วนแสดงความกังวลและไม่สบายใจต่อกระบวนการที่ถูกสร้างขึ้นมาระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับบีอาร์เอ็นที่มีส่วนร่วมของนานาชาติ (เพราะพวกเขามองว่า การมีส่วนร่วมของสังคมนานาชาติ) จะเปิดช่องทางให้แก่ชาติปาตานี (bangsa Patani) มีบทบาทมากขึ้นและสถานการณ์หรือสภาพของชาติปาตานีจากอดีตถึงปัจจุบันก็จะได้รับการยอมรับของสังคมนานาชาติด้วย

เพื่อรับมือกระบวนการ (สันติภาพ) ที่กำลังดำเนินอยู่ที่ต่างประเทศ รัฐบาลไทยก็เตรียมกระบวนการอีกกระบวนการหนึ่งโดยทางอ้อมภายในประเทศ เพื่อปกปิดข้อบกพร่องต่าง ๆ ของฝ่ายรัฐบาลเองและไม่ให้ปัญหาภายใน (ของปาตานี) เป็นที่รู้จักกันในโลกภายนอก

ดังนั้น กระบวนการอีกกระบวนการก็เกิดขึ้นมาในประเทศไทยเองตามความพยายามเพื่อให้กระบวนการภายนอก (external process) กลายเป็นกระบวนการภายใน (internal process) กระบวนการภายในนี้นำโดย พล.อ. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับกระบวนการสันติภาพที่ต่างประเทศ

กระบวนการภายในที่สร้างขึ้นมาโดยรัฐบาลไทยนี้ทำให้ทุกฝ่ายสับสน เพราะเป็นการสร้างกระบวนการสันติภาพซ้ำ (ในการสร้างกระบวนการภายในนี้ ฝ่ายรัฐบาล) ขอความร่วมมือจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและนักวิชาการเชื้อสายมลายู กระบวนการภายในนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่มีทิศทางตามความร่วมมือระหว่างกองทัพกับคณะกรรมการอิสลามนั่นเอง

นี่คือกระบวนการที่ถูกกำกับทิศทางโดยทาหรที่ใช้ช่องทางพิเศษระหว่างตัวแทนของกองทัพกับกลุ่มตัวแทนบางกลุ่ม กลุ่มตัวแทนเหล่านี้แค่ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในหมู่ประชาชนหรือไม่ก็ประกอบด้วยพวกที่มีความประสงค์จะทำลายกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่ที่ต่างประเทศ พวกเขาได้ถูกบังคับและได้รับเงินเพื่อเข้าร่วมกระบวนการภายในนี้

(ฝ่ายรัฐบบาลอาจ) คิดว่ากระบวนการนี้มีอำนาจเหนือประชาชน แต่ที่จริงแล้วไม่ได้มีผลใด ๆ ต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานีเลย เพราะคุณค่าของกระบวนการสันติภาพอยู่ที่โครงสร้างที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ ทั้งภายในและภายนอกด้วย

กระบวนการที่ต่างประเทศนั้นมีปัจจัยบางอย่างที่เป็นกลไกในการสร้างความไว้วางใจกัน (trust building) ดังเช่นการลงนามในข้อตกลงระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับกรอบการพูดคุย (framework) โดยมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญ (expert) และการสังเกตของประเทศที่สามหรือสังคมนานาชาติ

ยังมีผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) บางกลุ่มที่พยายามจะควบคุมกระบวนการสันติภาพโดยนำเสนอสิ่งที่ได้ตกลงกันระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการภายใน และไม่สนใจแนวทางแก้ไขทางการเมืองบนโต๊ะเจรจา (ที่ต่างประเทศ)

ตัวอย่างของประเด็นที่กลุ่มเหล่านี้พยายามจะนำเสนอคือเรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์และเรื่องศาสนาและภาษามลายู แต่สำหรับการต่อสู้ของชาติปาตานีและฝ่าย (ตัวแทนของชาวปาตานี) ที่กำลังเจรจาที่ต่างประเทศนั้น ข้อเรียกร้องหลักนั้นยังเชื่อมโยงกับการปกครองในระดับภูมิภาค ซึ่งไม่ได้แตกต่างกันมากจากข้อเรียกร้องของหะยีสุหลง บิน อับดุลกอเดร์ เพราะชาติมลายูปาตานีต้องการรูปแบบกาปกครองตนเองเพื่อคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลไทยกับชาติปาตานี

ดังนั้น เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขอันแท้จริงสำหรับความขัดแย้งนี้ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องพยายามแก้ไขรากเหง้าของความขัดแย้งที่ยังไม่สิ้นสุดจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่ารัฐบาลไทยได้เจรจากับฝ่ายนักต่อสู้มาหลาย ๆ ครั้งแล้วก็ตาม แต่กุญแจสำคัญ (สำหรับการแก้ไขความขัดแย้ง) คือ รัฐบาลไทยต้องตระหนักถึงรากเหง้าที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ปาตานีและแสวงหาแนวทางแก้ไขทางการเมือง

หมายเหตุ : แปลจาก วารสาร SURAT ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2021 เล่มที่ 80 หน้า 6-7 ชื่อบทความภาษามลายู “TRANFORMASI ISU MERUPAKAN KUNCI UTAMA DALAM PENYELESAIAN KONFLIK PATANI” ทาง The Motive เล็งเห็นถึงประโยชน์จากบทความดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพปาตานีจากมุมมองของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ และได้รับอนุญาตการแปลความจากกองบรรณาธิการของวารสาร SURAT ซึ่งเป็นวารสารภาษามลายู (รูมี-ยาวี) ที่เผยแพร่อยู่ในต่างประเทศและพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ในรูปของไฟล์พีดีเอฟ ในลักษณะของการส่งต่อในอีเมลล์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีในปัจจุบัน