วารสาร SURAT ฉบับ 99 หน้า 6-7 เดือนมิถุนายน 2023
แปลโดย ชินทาโร่ ฮาร่า
KERAJAAN THAI HARUS BERLAPANG DADA MENANGANI ISU KEBANGKITAN
.
การลุกขึ้น(ตื่นตัวทางการเมือง)ของชนชาติบนโลกนี้เป็นเรื่องปกติ ทุกสิ่งที่มีชีวิตต้องการเสรีภาพตามธรรมชาติ เช่น นกที่ถูกเลี้ยงในกรงทองคำก็ยังต้องการบินไปอย่างเสรี และมนุษย์ที่มีภูมิปัญญาย่อมอยากได้เสรีภาพมากกว่า ดังนั้น ทุกคนทุ่มเททุกอย่างเพื่อได้รับอิสรภาพจากการกดขี่ของชาติอื่น ๆ ความหมายของอิสระในบริบทนี้ก็เสรีภาพในการจัดการชีวิตของชาติตัวเองตามทัศนคติและความเชื่อที่มีคุณค่าต่อชาติดังกล่าว ชาติมลายูปาตานีที่ได้รับการกดขี่และความโหดร้ายมาเป็นหลายสมัยสมควรที่จะลุกขึ้น ไม่ว่าจะใช้วิธีการรุนแรงหรือสันติวิธี การใช้ความรุนแรงที่ปาตานีไม่ใช่เป้าหมายหรือความต้องการของนักต่อสู้ แต่มีความจำเป็นในเมื่อรัฐบาลไทยไม่ตอบรับต่อการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ดังเช่น หะยี สุหลง และบุคคลอื่น ๆ ที่ถูกสยามฆ่าตายอย่างเปิดเผยหรืออย่างปิดลับ
.
ตอนนี้มีข้อเรียกร้องต่าง ๆ จากบุคคลหรือองค์กรในปาตานีในเรื่องการเมือง ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลไทยไม่สบายใจและมองว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายไทย พวกเขาอ้างว่า ประเทศไทยนั้นแบ่งแยกไม่ได้ (ในมาตรา ๑ ของรัฐธรรมนูญ) เป็นการสร้างความชอบธรรมต่อการยึดครองดินแดน (การล่าอาณานิคม) ทั้ง ๆ ที่มาตราในรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้นสามารถแก้ไขได้
.
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีการจำลองประชามติประเด็นสิทธิกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยกลุ่มนักศึกษาชื่อ “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” เป็นผู้จัด และยังมีตัวแทนของ NGO และนักการเมืองและนักวิชาการเข้าร่วมด้วย งานดังกล่าวมีหัวข้อเรื่องการแสวงหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีโดยสันติวิธี และเป้าหมายของงานคือการปรับปรุงแนวทางแก้ไขความขัดแย้งให้ดีขึ้น
.
การลุกขึ้น(ตื่นตัวทางการเมือง)ของกลุ่มนักศึกษาดังกล่าว ไม่ได้รับการชี้แนะจากฝ่ายใด ๆ แต่เกิดจากจิตสำนึก ส่วนความเห็นของฝ่ายรัฐต่อการจำลองครั้งนี้ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง และอาจมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างหนัก แต่จริง ๆ แล้วฝ่ายรัฐไทยควรที่จะเปิดใจกว้างและมีความสุขุมในการรับมือกับประเด็นที่มาจากสังคมในพื้นที่ ไม่ว่าจากโต๊ะเจรจาหรือจากเวทีเสวนาสาธารณะ เพราะในการเสวนา (ประเด็นสิทธิกำหนดชะตากรรมตนเอง) นั้น พวกเขาเพียงแต่แสดงความคิดเห็นในกรอบการแสวงหาแนวทางแก้ไขโดยสันติวิธีเท่านั้น หากสถานการณ์ปัจจุบันนี้ยังไม่ถึงขั้นกระบวนการสันติภาพกับฝ่ายนักต่อสู้ (ขบวนการเอกราช) ฝ่ายไทยก็ควรให้โอกาสและเปิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อให้พวกเขากล้าที่จะแสดงความคิดเห็น ส่วนประเด็นที่ว่า ความเห็นนั้นฝ่ายรัฐจะรับได้หรือไม่นั้น ต้องมีการพูดคุยต่อไป จนถึงบรรลุการแก้ไขที่ดีที่สุดที่เป็นความชัยชนะของทั้งสองฝ่าย (win-win solution)
.
คุณภาพของประชาธิปไตยในประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ยังไม่สามารถรับรองการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีได้ เพราะประชาธิปไตยครึ่งเผด็จการนั้น ไม่อาจจะยอมรับความคิดเห็นของคนที่มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุดมการณ์ของคนที่มีเชื้อชาติและศาสนาที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ชาวมลายูปาตานีจึงประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตอย่างปกติ เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกับสิทธิของคนมลายูปาตานีถูกจำกัดด้วยรัฐธรรมนูญของประเทศ คนปาตานีไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกี่ยวกับความเป็นปาตานีในยุคเผด็จการ เพราะกิจกรรมเช่นนี้ถูกมองว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
.
กระบวนการเจรจาสันติภาพตั้งแต่ปี 2556 ภายใต้รัฐบาลเผด็จการกับรัฐบาลประชาธิปไตยก็มีความแตกต่างอย่างชัดเจน เช่น ในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย ฝ่ายไทยใช้คำว่า สันติภาพ แต่รัฐบาลเผด็จการใช้คำว่า สันติสุข อีกอย่าง ในปี 2565 ฝ่ายนักต่อสู้กับรัฐบาลไทยได้ลงนามในเอกสารฉันตามติทั่วไป แต่รัฐบาลเผด็จการหลีกเลี่ยงการลงนามในเอกสารทุกฉบับ ทำให้กระบวนการสันติภาพดำเนินอย่างไม่เป็นปกติ ซึ่งทำให้สังคมในพื้นที่และนอกพื้นที่มองว่า กระบวนการสันติภาพจะสามารถแก้ไขความขัดแย้งที่ยืดยาวมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีนั้นได้หรือไม่
.
รัฐบาลไทยไม่เคยให้ความสำคัญแก่กระบวนการสันติภาพและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นปาตานี และไม่ยอมรับศักดิ์ศรีของชาติมลายูปาตานี ทั้ง ๆ ที่ในคนมลายูปาตานีมีหลายคนที่ความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ จนถึงได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ ปริญญาเอกหรือโท และประกาศนียบัตรในด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ กฎหมาย สาธารณสุข ฯลฯ พวกเขาล้วนประกอบอาชีพที่ต่างประเทศและมาตุภูมิ (ปาตานี) ซึ่งถือว่าเป็นการลุกขึ้น(ตื่นตัวทางการเมือง)ของประชาชาติอิสลามมลายูปาตานี โดยใช้วิธีการและความสามารถของแต่ละคน แต่ตราบใดที่รัฐบาลไทยไม่ตระหนักถึงศักดิ์ศรีของชาติปาตานี คนปาตานีก็จะไม่ยอมแพ้ แต่จะลุกขึ้น(ตื่นตัวทางการเมือง)เพื่อบรรลุความใฝ่ฝันของพวกเขา
.
หมายเหตุ : แปลจาก วารสาร SURAT ฉบับ 99 หน้า 6-7 เดือนมิถุนายน 2023 โดยชินทาโร่ ฮาร่า ซึ่งทาง The Motive เล็งเห็นถึงประโยชน์จากบทความดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพปาตานีจากมุมมองของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ และได้รับอนุญาตการแปลความจากกองบรรณาธิการของวารสาร SURAT ซึ่งเป็นวารสารภาษามลายู (รูมี-ยาวี) ที่เผยแพร่อยู่ในต่างประเทศและพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ในรูปแบบของไฟล์พีดีเอฟ มีลักษณะของการส่งต่อในอีเมลล์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการเอกราชปาตานีในปัจจุบัน