นักล่าอาณานิคมไทยไม่เคารพ “ฉันทามติทั่วไป” ระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย

“KOLONIAL THAI MERENDAHKAN GENERAL KONSENSUS BRN DAN RTG 2013 KUALA LUMPUR”
.
วารสาร SURAT ฉบับที่ 111 ธันวาคม 2024 หน้าที่ 6-7
แปลโดย ชินทาโร่ ฮาร่า

.
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 รัฐบาลไทยกับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี ในฐานะเป็นตัวแทนของขบวนการปลดปล่อยมลายูปาตานี จัดการพบปะกันเพื่อยุติความขัดแย้งที่ยืดยาวมาเป็นเวลาหลายศตวรรษในภาคใต้ของประเทศไทย การพบปะกันนำไปสู่การลงนามเอกสารฉบับหนึ่งที่รู้จักการในนาม “ฉันทามติทั่วไป” ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซียเป็นพยาน และต่อไปก็จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกของกระบวนการเจรจาสันติภาพ

ถึงแม้ว่าการพบปะกันครั้งนั้นได้สร้างความหวังว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ประสบความขัดแย้งอันยาวนาน แต่ความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า การเจรจายังไม่บรรลุผลตามความคาดหวัง หนึ่งในอุปสรรคสำหรับการสร้างสันติภาพในพื้นที่ดังกล่าวคือการที่รัฐบาลไทยไม่มีคามจริงจัง และไม่ให้ความสำคัญแก่ข้อตกลงที่เป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมือง

ความขัดแย้งที่ห้าจังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ สตูล ปาตานีตะวันตก (อำเภอจะนะ สะบ้าย้อย นาทวี เทพา และสะเดา) ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ดำเนินมาตั้งแต่การต่อสู้ของราชอาณาจักรมลายูปาตานีจนถึงทุกวันนี้ ความขัดแย้งก็ยืดยาวและมีความตึงเครียดด้านเชื้อชาติและศาสนาระหว่างประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่นับถือศาสนาพุทธกับชาติมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามมาเป็นหลายศตวรรษ

พื้นที่แห่งนี้มีอัตลักษ์ที่แตกต่างไปจากเชื้อชาติสยาม และการต่อสู้เพื่อเอกราชเริ่มตั้งแต่สมัยการล่าอาณานิคมของสยามในดินแดนมลายูหลังจากสยามผนวกปาตานีในปี ค.ศ. 1909 ความตึงเครียดระหว่างนักล่าอาณานิคมสยามกับชาติปาตานีดำเนินต่อเนื่องในรูปแบบความขัดแย้งด้วยอาวุธและการต่อสู้ทางการเมือง ผู้คนหลายคนเสียสละชีวิตของเขาในการต่อสู้ และยังมีอีกหลาย ๆ คนที่เป็นเหยื่อความรุนแรงและความโหดเหี้ยของนักล่าอาณานิคมสยาม เช่นเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะและโศกนาฏกรรมตากใบเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และเหตุการณ์อื่น ๆ อีกมากมาย

ฉันทามติทั่วไปที่ลงนาม ณ กัวลาลัมเปอร์เมื่อปี 2556 นั้นเป็นข้อตกลงระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยเพื่อดำเนินการพูดคุยอย่างเป็นทางการ กรุงกัวลาลัมเปอร์ได้รับเลือกเป็นสถานที่การประชุม เพราะมาเลเซียเป็นฝ่ายที่สามที่เป็นกลาง และมีความสัมพันธ์อันดีกับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ในการพบปะกันนั้น ทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะดำเนินการพูดคุยต่อไป โดยแต่ละฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขความขัดแย้งและแสวงหาทางออกทางการเมืองสำหรับประชาชนชาติมลายูปาตานีในภาคใต้ของประเทศไทย

ฉันทามติทั่วไปเน้นถึงการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงการยอมรับฝ่ายขบวนปลดปล่อยปาตานีไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย และแนวทางในการแสวงหาทางออกทางการเมืองสำหรับพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีที่ครอบคุลม

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ขาดความน่าเชื่อถือในการสร้างสันติภาพที่ปาตานี ถึงแม้ว่าข้อตกลงเบื้องต้นใน “ฉันทามติทั่วไป” ได้สร้างความหวังสำหรับสันติภาพ แต่พัฒนาการในวันนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยไม่เต็มใจและจริงจังเพื่อดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว การกระทำของรัฐบาลไทยที่ผ่านมาก็บ่งบอกว่า พวกเขานิยมใช้วิธีการรุนแรงมากกกว่าการพูดคุยสันติภาพตามข้อตกลง นี่เป็นผลที่เกิดจากความโอหังของนายกแพทองธาร ชินวัตร ที่ทำให้ความพยายามที่ผ่านมาของทุกฝ่ายไม่มีความหมาย ผลกระทบที่เกิดจากทัศนคติของรัฐบาลชุดใหม่มีดังนี้

1. สูญเสียความน่าเชื่อถือ ตามที่รัฐบาลไทยทำลายความน่าเชื่อถือของข้อตกลงที่ไม่ส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจโดยอาศัยข้อตกลง “ฉันทามติทั่วไป” ถึงแม้ว่ามีความพยายามเพื่อดำเนินการพูดคุย แต่การดำเนินการที่ไม่เหมาะสมถูกตั้งคำถามตลอด และทำให้ความตึงเครียดระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยยิ่งรุนแรงขึ้น และได้รับความสนใจจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง และสังคมนานาชาติ

2. ความไม่สงบตามการโจมตีจากฝ่ายนักต่อสู้ยังคงเกิดขึ้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ในขณะที่รัฐบาลไทยยังอาศัยปฏิบัติการทางการทหารเพื่อรับมือกับความขัดแย้งที่ปาตานี การตัดสินใจเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยยังเชื่ออำนาจทางการทหาร (มากกว่าวิธีการทางการเมือง) และไม่มีความต้องการที่จะยุติความขัดแย้ง และสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้กะรบวนการสันติภาพปาตานีถดถอย

3. การเมืองของไทยก็ประสบความวุ่นวายภายใน และบางฝ่ายที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีเองก็ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการเจรจาปาตานีที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และนี่เป็นอุปสรรคที่ทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถเดินหน้าต่อไปเพื่อกำหนดนโยบายตามข้อตกลงในแผนที่นำทางชื่อ “ความริเริ่มเบอร์ลิน” เนื่องจากกระบวนการสันติภาพปาตานียังเผชิญหน้ากับข้อท้าทายและการต่อต้านต่าง ๆ จึงยังไม่มีความหวังสำหรับสันติภาพในภาคใต้ของประเทศไทย ฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงมาเลเซียในฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผลักดันให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายดำเนินการพูดคุยโดยยึดมั่นข้อตกลงใน “ฉันทามติทั่วไป” อย่างไรก็ตาม เส้นทางไปสู่สันติภาพยังเต็มไปด้วยอุปสรรค โดยเฉพาะความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศไทยระหว่างนักการเมืองกับทหาร ทั้งนี้ ฝ่ายทหารก็ไม่ยอมรับกระบวนการเจรจาและแนวทางแก้ไขที่ยอมรับสิทธิของชาติปาตานี ทั้ง ๆ ที่ประเด็นนี้สอดคล้องกับเนื้อหาของกฎบัตรสหประชาชาติก็ตาม

“ฉันทามติทั่วไป” ระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยในปี 2556 ที่กัวลาลัมเปอร์นั้นเป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างสันติภาพอันแท้จริง แต่ความตั้งใจและความจริงจังของรัฐบาไทยเพื่อดำเนินกระบวนการสันติภาพตามข้อตกลงดังกล่าวยังถูกตั้งคำถาม และก่อให้เกิดความสงสัยของหลายฝ่าย ในขณะเดียวกัน ความขัดแย้งที่ยืดยาวและสถานการณ์ที่ร้อนระอุขึ้นที่ปาตานีแสดงให้เห็นว่า ทุกฝ่ายจำเป็นต้องมีความจริงจังและความตั้งใจในการแก้ไข (และรัฐบาลไทย) ต้องรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เจอกับทางตันซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับการสร้างสันติภาพในอนาคตที่ครอบคลุมทุกมิตของชีวิตสำหรับประชาชนชาติปาตานี

.
หมายเหตุ : แปลจาก วารสาร SURAT ฉบับ 111 ธันวาคม 2024 หน้าที่ 6-7 แปลโดยชินทาโร่ ฮาร่า ซึ่งทาง The Motive เล็งเห็นถึงประโยชน์จากบทความดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพปาตานีจากมุมมองของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ และได้รับอนุญาตการแปลความจากกองบรรณาธิการของวารสาร SURAT ซึ่งเป็นวารสารภาษามลายู (รูมี-ยาวี) ที่เผยแพร่อยู่ในต่างประเทศและพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ในรูปแบบของไฟล์พีดีเอฟ มีลักษณะของการส่งต่อในอีเมลล์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการเอกราชปาตานีในปัจจุบัน