การแก้ไขความขัดแย้งของพรรคก้าวไกล

วารสาร SURAT ฉบับ 99 หน้า 3 เดือนมิถุนายน 2023
แปลโดย ชินทาโร่ ฮาร่า

.
1. ความขัดแย้งที่ปาตานีเกิดจากการปกครองแบบอาณานิคมของสยาม/ไทยต่อรัฐปาตานีตั้งแต่ ค.ศ. 1785 และรัฐบาลนักล่าอาณานิคมสยามก็ได้พยายามเพื่อรับมือความขัดแย้งที่ปาตานีตามวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทางการทหาร/การใช้ความรุนแรงหรือวิธีการทางการเมือง/การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น โดยได้รับการสนับสนุนและการอำนวยความสะดวกจากรัฐบาลมาเลเซีย
.
2. เพื่อรักษาการปกครองตามจักรวรรดินิยมและอาณานิคมที่ปาตานี รัฐบาลสยาม/ไทยจึงก่อตั้ง ศอ.บต. เป็นหน่วยงานปกครองเฉพาะสำหรับปาตานี และก่อตั้ง กอ.รมน. เป็นหน่วยงานด้านการป้องกันและความมั่นคงที่ปาตานี นอกจากนี้ก็ยังบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลายฉบับ ได้แก่กฎอัยการศึก พรก. ฉุกเฉินฯ และพรบ. ความมั่นคง ซึ่งเป็นกรอบสำหรับควบคุมขบวนการต่อสู้ของประชาชนปาตานี
.
3. การต่อสู้ของประชาชนปาตานีคือการต่อสู้เพื่อสิทธิ คนปาตานีย่อมมีสิทธิต่อมาตุภูมิปาตานี สิทธิในการบริหารปกครองที่ปาตานี สิทธิในภาษาและวัฒนธรรมมลายูปาตานี สิทธิเพื่อดำรงศาสนา สิทธิในการใช้ชีวิตอย่างสงบ สันติสุขและปลอดภัยบนโลกนี้และโลกหน้า ณ ปาตานี ดารุสสลาม
.

4. พรรคก้าวไกลและพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรอื่น ที่ชนะการเลือกตั้งที่ผ่านมากำลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และสัญญาว่าจะแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานี และจะถอนทหารสยามทั้งหมดจากปาตานีและยุบ ศอ.บต. กับ กอ.รมน. เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ จะมีการเลือกตั้งผู้นำ/ผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย และยืนยันจะแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีตามวิธีการทางการเมือง โดยจัดตั้งเขตปกครองพิเศษสำหรับรัฐปาตานี และต่อยอดการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นให้เป็นวาระแห่งชาติ
.

5. ที่นี่ มีคำถามในใจของพวกเราว่า แนวทางแก้ไขเหล่านี้จะสามารถแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีได้จริงหรือไม่ เพราะพวกเราทุกคนทราบว่า ความขัดแย้งที่ปาตานีเป็น (ผลที่เกิดจาก) การปกครองแบบอาณานิคมของสยามที่ปาตานี พวกเราคนปาตานีมีข้อบังคับในการดำเนินการต่อสู้ต่อจนถึงได้รับชัยชนะ ชาติปาตานีเป็นชาติที่รักสันติภาพ แต่รักในเอกราชมากกว่า

.

หมายเหตุ : แปลจาก วารสาร SURAT ฉบับ 99 หน้า 3 เดือนมิถุนายน 2023 โดยชินทาโร่ ฮาร่า ซึ่งทาง The Motive เล็งเห็นถึงประโยชน์จากบทความดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพปาตานีจากมุมมองของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ และได้รับอนุญาตการแปลความจากกองบรรณาธิการของวารสาร SURAT ซึ่งเป็นวารสารภาษามลายู (รูมี-ยาวี) ที่เผยแพร่อยู่ในต่างประเทศและพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ในรูปแบบของไฟล์พีดีเอฟ มีลักษณะของการส่งต่อในอีเมลล์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการเอกราชปาตานีในปัจจุบัน

.