ข้อตกลงร่วม MOU รัฐบาลก้าวไกล

เมื่อวันที่ 22 พ.ค.66 เวลาประมาณ 16.45 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม และนายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศกีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ ในฐานะพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จัดแถลงข่าวการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการตั้งรัฐบาล (MOU) ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้อ่านข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล “เรียนกับพี่น้องประชาชนว่า วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครบรอบวันรัฐประหารเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นหมุดหมายที่ดีในการสะท้อนความสำเร็จของสังคมไทยที่เปลี่ยนผ่านกลับสู่ระบบประชาธิปไตย ผ่านระบบรัฐสภาอย่างสันติ”

บันทึกความเข้าใจร่วมกันนี้ทำเพื่อสร้างพื้นฐานของรัฐบาล และการทำงานร่วมกันระหว่างพรรค ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลทุกพรรคที่จะผลักดันร่วมกันนั้น ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์

1. ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

2. ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ

3. ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยืดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

4. เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งกำลังทหารในยามศึกสงคราม

5. ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

6. ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และปราศจากการทุจริต

7. แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

8. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหสื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม

9. ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

10. ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิ์ในการไม่เห็นด้วยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา

11. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักตันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมแก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

12. ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

13. จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)

14. สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว

15. แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน

16. นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ผ่านบัญญัติของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา

17. ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มงเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์กษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

18. แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน

19. ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตของเศรษฐกิจ

20.ยกระดับระบบสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทั้งการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ

21.ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

22. สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด

23. ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเชียน ตามกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะกรอบพหุภาคี และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ

.