กะตี คุณแม่แห่งบ้านเด็กกำพร้า NUSANTARA การเสียสละทั้งชีวิตเพื่ออีกหลายชีวิตที่ยังมีฝัน

“เราเสียสละความฝันส่วนตัว เพราะคิดว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ ความฝันร่วมกันของสังคมที่นี่ ที่ต้องการคนมาดูแลเด็กกำพร้า” 

คำกล่าวนี้ของนูรฮายาตี เจ๊ะสมอเจ๊ะ อดีตครูสอนศาสนา ที่ผันตัวเป็นทั้งแม่บ้าน ผู้จัดการ ผู้ปกครอง พี่สาว หรือแม้แต่เป็นเพื่อนให้กับเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ ดูเหมือนว่าจะเป็นคำพูดธรรมดาๆ แต่น้ำหนักของน้ำเสียงนั้นมั่นคงดุจภูผา

หากพูดถึงบ้านพักเด็กกำพร้าของมูลนิธินูซันตา ที่บ้านบาโลย ตำบลบาโลย  อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เราอาจรับรู้ว่ามีเด็กชายกำพร้าทั้งจากสถานการณ์ความไม่สงบและทั่วไป ซึ่ง“ส่วนใหญ่กำพร้าจากสถานการณ์” มีตัวเลขหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือจำนวนของเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความรุนแรง ที่มีสะสมมากถึง 7,297 ฅน

ในจำนวนนี้มีเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ที่นักสิทธิมนุษยชนเก็บข้อมูลได้ประมาณ 1,000 คน ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ เพราะเป็นลูกของกลุ่มผู้คิดต่าง ที่เสียชีวิตจากการถูกวิสามัญฆาตกรรมหรือปะทะกับเจ้าหน้าที่

The Motive ชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับ กะตี หรือ “นูรฮายาตี เจ๊ะสมอเจ๊ะ” ถึงความเป็นมาของการที่ผู้หญิงคนหนึ่งอาสาทั้งชีวิตมาดูแลเด็กกำพร้ากลุ่มนี้ กระทั่งพบเจอปัญหา อุปสรรคอะไรบ้าง ผ่านการสนทนาที่เรียบเรียงในบทสัมภาษณ์ฉบับนี้

ก่อนจะมาเป็นฅนดูแลเด็กกำพร้าของมูลนิธินูซันตารา ทำอะไรมาก่อน

สอนหนังสือ เป็นครูสอนศาสนา (อุสตะซะฮ์) ที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ตอนนั้นประมาณ ปี2555 เพิ่งจบกลับมาจากไคโร ประเทศอียิปต์ เราเรียนสาขาวิชาชะรีอะฮฺ (กฎหมายอิสลาม) มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร  วิทยาเขตอเล็กซานเดรีย กลับมาก็มีโอกาสได้เข้าสอนเลย ก็สอนอยู่ 6 ปีแล้วตัดสินใจลาออกจากอาชีพครูเมื่อ ปี2561

คิดอย่างไร ถึงไปเป็นครู

มันคือความไฝ่ฝันตั้งแต่เด็กแล้ว ดีใจมากได้ทำตามความฝัน

ทำไมถึงเลิกเป็นครู

เราได้ทำตามความฝันแล้ว ในเวลาขณะเดียวกันเรามองดูสังคมที่มีเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ แต่ไม่มีคนที่จะเสียสละมาดูแลพวกเขา ณ ตอนนั้นทางมูลนิธินูซันตารายังหาคนมาดูแลเด็กไม่ได้ เราเลยคิดว่าจะต้องเสียสละความฝันตัวเองแล้วมาอยู่ที่บาโลย เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ทำความฝันให้เป็นจริงแล้วตั้ง 6 ปี

สาเหตุอะไรถึงไม่มีคนจะมาอยู่ที่ บ้านเด็กกำพร้า ที่บาโลย

เพราะต้องเสียสละเวลาตลอด 24 ชม. มาอยู่ในสภาพแวดล้อม สถานที่ ที่ยังไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง เนื่องจากเป็นหมู่บ้านอื่นที่ไม่คุ้นเคย เราอยู่บ้านสามีที่ตำบลปูยุด ก็ต้องย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเรื่องเช่นนี้มันไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ สำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมใจ มันเหมือนอพยพถิ่นฐานมาเริ่มต้นชีวิตใหม่เลย ก็คิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องยากมากที่จะหาคนมาอยู่ประจำจึงหาคนไม่ได้

แสดงว่า กะตีย้ายมาทั้งครอบครัวเลย

ใช่ค่ะ! เราคุยกับสามี ปรึกษาหารือกับครอบครัวทั้งสองฝ่าย ทั้งครอบครัวตัวเอง ครอบครัวสามี ญาติ ๆ เพื่อนสนิทใกล้ชิด ต่างก็สนับสนุนเราอย่างดี จึงตัดสินใจพาสามีพร้อมลูกน้อยสองคนมาอยู่ด้วย เราขนของที่บ้านเดิมปูยุดเอามาที่บาโลยทั้งหมด แต่ตอนแรกอาคารที่พักบ้านเด็กกำพร้ายังไม่พร้อม เรามาขออาศัยบ้านชาวบ้านก่อนเป็นเวลา 10 เดือนกว่าจะเข้าที่เข้าทางได้เข้ามาอยู่ในบ้านเด็กกำพร้า

ปรับตัวอย่างไรบ้าง

อย่างแรกเลย ระยะทางที่ต้องไปสอนหนังสือต่างกันมากจากที่เคยอยู่ปูยุด ซึ่งต้องขับมอไซด์ไกลขึ้นจากบาโลย อำเภอยะหริ่ง ไปโรงเรียนธรรมฯเมืองยะลา เราขับมอเตอร์ไซด์ไปอย่างน้อย 1 ชม. กลับอีก 1 ชม. วันหนึ่งเราต้องขับรถ 2 ชม. ชีวิตประจำวันแบบนี้อาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเสียลูกไป  เราเสียลูกในท้องสองคน(เสียชีวิตในท้อง อายุครรภ์แปดเดือน) ซึ่งเป็นคู่แฝดชาย และแท้งลูกอีก 3 ครั้ง ช่วงนั้นเครียดมาก ก็อดทนมาตลอด 3 ปี แต่เรารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เลยตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู เพราะคิดว่าระยะทางไป-กลับ มีผลเมื่อเราตั้งครรภ์ และเหตุผลเรื่องเวลาที่จะอยู่ดูแลเด็กกำพร้าด้วย

หลังตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู มีผลอะไรตามมาบ้าง

เป็นโรคซึมเศร้า และใช้เวลาเยียวยาตัวเองเป็นปี ๆ เนื่องจากคนที่เคยสนับสนุนเรา ทั้งครอบครัวตัวเอง ครอบครัวสามี ญาติ ๆ เพื่อนสนิทใกล้ชิด ต่างไม่เห็นด้วยที่เราลาออกจากครู ไม่มีใครเห็นด้วยกับการตัดสินใจของเรา เกิดคำถามมากมายว่า ทำไมต้องลาออก มีเงินเดือนดีๆ สอนหนังสือมั่นคงแล้ว ออกมาทำไมให้ลำบาก ทำไมต้องไปเผชิญอนาคตที่ไม่แน่นอน ฟีดแบ็คต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เราร้องไห้ตลอดจนกลายเป็นซึมเศร้า เรื่องนี้เราเก็บเงียบไว้คนเดียวไม่บอกใครเลย เพราะเบื้องหน้าของเราคือเด็กกำพร้าอีก 10 กว่าชีวิตที่เราต้องดูแล

อะไรเป็นแรงผลักดันให้กะตีมุ่งมั่นในการดูแลเด็กกำพร้า

เราเสียสละความฝันส่วนตัว เพราะคิดว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ ความฝันร่วมกันของสังคมที่นี่ที่ต้องการคนมาดูแลเด็กกำพร้า ซึ่งเราสอนหนังสือเรามีความสุขคนเดียว แต่การที่เราเลือกมาดูแลเด็กกำพร้าที่บาโลย เราคิดว่าสามารถทำให้ฅนอีกหลายชีวิตมีความสุข ทั้งผู้ปกครองเด็กกำพร้าจะได้มีเวลาทำงานได้ผ่อนเบาภาระ เพราะเราเรามาช่วยดูแลลูก ๆ ให้เขา เด็กๆก็มีความสุข ปีแรกที่เข้ามาดูแลมีเด็กกำพร้า 6 ฅน ปัจจุบันที่ดูแลจำนวน 14 ฅน เราอยากให้เด็กกำพร้าหรือเด็กที่ยากไร้ที่เราดูแล ได้มีความฝันและความหวังในการใช้ชีวิตต่อไป สิ่งนี้ทำให้เรามีแรงบันดาลใจและเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราไม่เคยยอมแพ้

“เด็กแต่ละฅนมีความสามารถ ความชอบที่ไม่เหมือนกัน เราก็ต้องสังเกตและเกาะติดเพื่อให้รับรู้ในสิ่งที่เขาคิด คอยเป็นเพื่อนคู่คิดแก้ปัญหาให้เขาเพื่อที่จะซัพพอร์ตเขาได้ตรงจุด”

อยากให้เด็กที่ดูแล โตขึ้นเป็นอย่างไร

เป็นคนรับผิดชอบต่อสังคม เข้ากับสังคมได้และไม่เป็นภาระของสังคม ส่วนจะประสบความสำเร็จอะไรบ้างในชีวิตเรายอมรับได้หมด ขอให้เด็กๆ ได้ทำอาชีพที่สุจริตและเติบโตเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีศักดิ์ศรี

สภาพแวดล้อมของครอบครัวเด็กกำพร้าเป็นอย่างไร

สภาพครอบครัวเด็กที่เราดูแลนั้น เด็ก ๆ เขาไม่มีคนมาอยู่เคียงข้าง มารับฟังพวกเขา สาเหตุหลักจากการที่ผู้นำครอบครัวที่เสียชีวิต ทำให้ผู้ปกครองที่ดูแลเด็ก ไม่จะเป็นแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ญาติ ไม่มีเวลามาดูแลตลอด 24 ชม.เพราะต้องทำมาหากิน เด็กจึงขาดความอบอุ่นและไม่มีคนมารับฟังปัญหาของพวกเขา

กะตีดูแลเด็กที่มาอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้านูซันตาราอย่างไร

เนื่องจากเด็กไม่เคยได้รับการอบรมที่ดี จากปัญหาครอบครัวที่บ้านไม่มีเวลาดูแลเลี้ยงดูเหมือนครอบครัวปกติทั่วไป เราจึงต้องมีกฎระเบียบ วินัย เมื่อพวกเขาต้องมาอยู่รวมกัน หลักๆเลยเราต้องการที่จะสนับสนุนความฝันของเด็ก ๆ ในขณะเดียวกันเราก็จะต้องให้พวกเขาตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มากกว่าเด็กปกติทั่วไป เด็กแต่ละฅนมีความสามารถ ความชอบที่ไม่เหมือนกัน เราก็ต้องสังเกตและเกาะติดเพื่อให้รับรู้ในสิ่งที่เขาคิด คอยเป็นเพื่อนคู่คิดแก้ปัญหาให้เขาเพื่อที่จะซัพพอร์ตเขาได้ตรงจุด

สังเกตเจออะไรในตัวเด็ก ๆ บ้าง

ข้อสังเกตที่เจอ ความสนใจในการเรียนของเด็ก บางฅนมีความฝันจะเป็นหมอ เป็นครู อยากเรียนต่อสายสามัญ บางฅนสนใจในกิจกรรมไม่อยากเรียน บางฅนอยากเรียนศาสนา มีฅนที่สนใจศิลปะ เราก็จะช่วยหาว่าสามารถพาเขาไปเรียนศิลปะได้ที่ไหนบ้าง เราก็พยายามแนะแนวเด็ก ๆ ให้เรียนทั้งสองสายสามัญและศาสนาควบคู่กันไป

ปัญหาของเด็กมีอะไรบ้าง

เด็ก ๆ อยากใช้มือถือ เพราะอยู่ที่บ้านเขาใช้มือถือของพ่อแม่ พอมาอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้านูซันตารา ตอนแรกเราห้ามเล่นมือถือ และยึดเก็บไว้ ค่อยให้คืนตอนเขากลับบ้าน แต่เรื่องนี้เราก็มาคุยกับเด็ก ๆ ภายหลัง หลังจากฟังสิ่งที่พวกเขาสะท้อนมาเราก็มากำหนดคนละครึ่งทาง โดยอนุญาตให้เล่นมือถือ แต่จำกัดชั่วโมงและช่วงเวลาที่ตกลงกันในแต่ละวัน ส่วนวันหยุดเรียน เพิ่มชั่วโมงเพื่อผ่อนคลาย สิ่งสำคัญคือเราต้องรับฟังให้มาก เด็ก ๆ จะเปิดใจหลังกลับจากเรียนหนังสือพวกเขาจะมาเล่าเรื่องราวที่พบเจอในแต่ละวัน เรื่องครูสอนอะไร มีเพื่อนยังไง เล่นอะไรบ้างที่โรงเรียน ซึ่งเราดีใจมากที่เขาเล่าให้เราฟังทุกเรื่อง ส่วนที่หนักใจคือเด็ก ๆ ไม่ชอบโรงเรียนพวกเขาไปเรียนแต่ไม่มีความมุ่งมั่นในการเรียนหนังสือ

ทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาให้แก่เด็ก ๆ

เราสร้างแรงจูงใจให้กับเด็กด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน ตั้งแต่ตื่นนอน หลังซุบฮี(ช่วงเวลาเช้าตรู่ 05.00-6.30 น.) จะทบทวนบทเรียน จัดการชีวิตตัวเองด้วยการ ซักผ้า รีดผ้า แบ่งเวรช่วยแม่บ้านทำกับข้าว เด็กที่โตก็จะช่วยดูน้องๆ ที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราใช้ระบบพี่ดูแลน้อง ด้านมูลนิธินูซันตาราจะมีส่วนในการประสานองค์กรภายนอก ที่จะมาทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ เราให้เด็กๆ ได้คิดด้วยตัวเองผ่านกิจกรรมที่พวกเขามีส่วนร่วม

ช่วงโควิดระบาด อยู่กันอย่างไร และรับมือหลังจากนี้ยังไง

เด็ก ๆ กลับบ้านไปตั้งแต่รายอฮัจย์แล้วมาไม่ได้เพราะสถานการณ์โควิด เราจึงระดมทุนมีคนบริจาคเงิน เราก็โอนไปให้เด็ก ๆ บางครั้งก็ซื้อของส่งไปตามที่อยู่ของเด็ก สำหรับคนที่อยู่ไกล จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา ส่วนคนที่อยู่ใกล้ในเขตจังหวัดเดียวกัน เราก็ไปส่งถึงบ้าน แวะไปเยี่ยมเยียนถามข่าวคราว ที่ไม่สามารถเข้าไปได้เพราะหมู่บ้านปิดจากสถานนการณ์โควิด เราก็วีดีโอคอลคุยกับเด็ก ๆ ล่าสุดเราไปเบิกเงิน 2,000 บาทที่โรงเรียนของเด็ก ๆ แล้วก็โอนให้ทุกฅนได้ใช้จับจ่าย หลังจากสถานการณ์คลี่คลายเด็ก ๆ ก็จะกลับมาอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้านูซันตารา เรากำลังเตรียมความพร้อมมาตรการที่จะใช้ชีวิตร่วมกันหลังโควิด-19 คิดว่าต้องนิวโนม่อลค่ะ