ทศวรรษแห่งความระส่ำระสายของอำนาจรัฐส่วนกลาง เกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติรัฐประหารของระบอบสฤษดิ์ ที่โค่นระบอบพิบูลสงครามได้อย่างราบคาบ แต่ในแง่นโยบายดูดกลืนด้วยวิธีบังคับยังคงเหมือนเดิมอยู่ดีเพียงแต่ต่างวิธีใช้กันเท่านั้น กล่าวคือในขณะที่จอมพลป. ใช้นโยบายดูดกลืนทางวัฒนธรรมด้วยวิธีบังคับอย่างแข็งกร้าว ระบอบสฤษดิ์กลับใช้การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในดินแดนตอนใต้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการดูดกลืน[1]
ดินแดนตอนใต้จึงยังคงควบคุมไม่ได้ต่อไป แต่แนวคิดการพัฒนาระดับชาติที่ผสมผสานกับการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นสูตรที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบอำนาจนิยมมานานนับทศวรรษ ตั้งแต่ระบอบสฤษดิ์จนถึงทายาทอย่างถนอมกิตติขจร ก่อนที่การเรียกร้องประชาธิปไตยจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเดือนตุลาคม 2516 จนโค่นล้มระบอบนี้ลงและเปิดประตูสู่ยุคสมัยซึ่งเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่
ผลกระทบจากนโยบายยุคจอมพล ป. เป็นปุ๋ยชีวมวลอย่างดีทำให้เงื่อนไขที่ขบวนการฯใช้หยิบยกมากระตุ้นต่อมสำนึกชาตินิยมมลายูแก่ประชาชนได้ผลอย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อถึงยุคสมัยเผด็จการสฤษดิ์ การดำเนินการของขบวนการเอกราชจึงสามารถขยายแนวคิดได้แพร่หลายอย่างเงียบ ๆ ดังจะเห็นถึงการก่อเกิดของขบวนการต่าง ๆ ที่จะกลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีมาจนถึงปัจจุบันจากในช่วงของรอยต่อยุคสมัยนี้
อาทิ การนำของต่วนกูมะไฮยิดดีนขบวนการแบ่งแยกดินแดนรวมตัวเป็นเอกภาพโดยเปรียบเทียบในช่วงหลังสงครามไม่นานนัก แต่เมื่อถึงปลายทศวรรษ 1950 และ 1960 ขบวนการก็เริ่มแตกแยกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยใน พ.ศ. 2502 ตวนกูอับดุลยะลา อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสและรองประธาน GAMPAR ก็ได้จัดตั้งแนวร่วมแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยปาตานี (Barisan Nasional Pembebasan Patani-BNPP)
เมื่อถึง พ.ศ. 2506 ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi National-BRN) ก็เกิดขึ้นเพื่อจัดตั้งและกระตุ้นประชาชน รวมทั้งเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมอิสลาม และในปีพ.ศ. 2511 องค์กรเพื่อเอกราชแห่งสาธารณรัฐปาตานี (Patani United Liberation Organization-PULO) ก็ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการเน้นแนวคิดชาตินิยมมลายูและความเป็นประชาธิปไตย อย่างน้อยก็ในสมัยนั้น[2]
กองกำลังของขบวนการเริ่มมีศักยภาพสูงขึ้น อีกทั้งช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน กองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ก็มีบทบาทสูงในสี่จังหวัดภาคใต้ จำนวนของเจ้าหน้าที่ราชการที่ถูกฆ่าสูงขึ้นเป็นสองเท่าในปีนั้น และระหว่าง พ.ศ.2514-2516 เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่เสียชีวิตก็มีจำนวนกว่า 1,200 ฅน[3] การปะทะกันด้วยกำลังอาวุธ 385 ครั้ง ฝ่ายปลดปล่อยเอกราชปาตานีเสียชีวิต 329 ฅน ยอมแพ้ 165 ฅน และถูกจับกุม 1,208 ฅน[4]
สรุปสั้น ๆ คือความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการปลดปล่อยเอกราชปาตานีทางชายแดนภาคใต้ กลายเป็นการหลั่งเลือดในห้วงขณะเวลาที่การลุกฮือในเดือนตุลาคม 2516 นำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทย ทว่าหลังจากนั้นหนึ่งปี นโยบายความมั่นคงก็มีท่าทีแข็งกร้าว โดยผู้บัญชาการกองทัพทางภาคใต้ประกาศว่ากองกำลังของประเทศจะเดินหน้าปราบปรามอย่างเด็ดขาด ไม่เปิดโอกาสให้ “ผู้ก่อการร้าย” (ทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายแบ่งแยกดินแดน) มีเวลาในการรวมตัว[5]
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้สัมพันธ์กับพัฒนาการระดับชาติมาช้านาน ยิ่งช่วงเวลาในยุคดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันว่า ครั้งแรกที่การเมืองในพื้นที่ผนึกเข้ากับการเมืองในกรุงเทพฯ การประท้วงในจังหวัดปัตตานี ปี 2518 คล้ายคลึงกับการประท้วงในกรุงเทพฯ และที่อื่น คือมีนักศึกษาเป็นผู้นำ ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายซ้าย รัฐบาลไม่ยอมรับฟัง และเผชิญความรุนแรงจากฝ่ายขวา ผู้นำพรรคการเมือง ตัวแทน ส.ส. เข้าร่วมพิจารณาปัญหา สื่อมวลชนก็เผยแพร่ประเด็นปัญหาสู่สาธารณะ
ซึ่งหากย้อนกลับมามองดูปัจจุบัน ความคล้ายคลึงกันของยุคสมัยกับพัฒนาการทางการเมืองระหว่างชายแดนภาคใต้กับกรุงเทพเหมือนกับว่าเราฉายซ้ำภาพเดิม ความแตกต่างเพียงแต่เปลี่ยนจากเผด็จการสมัยก่อน จอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม เป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
.
.
อ้างอิงแหล่งข้อมูล:
[1] เจมส์ โอกีย์, การเลือกตั้งและบูรณาการทางการเมืองในภาคใต้ของไทย. (ในรวมเล่ม ไทยใต้ มลายูเหนือ หน้า 159-162.)
[2] เจมส์ โอกีย์, อ้างถึง: Wan Kadir, Muslim Separatism, pp. 98-99; Surin, Islam and Malay Nationalism, pp. 228 ff.
[3] เจมส์ โอกีย์, อ้างถึง: David Morell and Chai-anan Samudavanija, Political in Thailand: Reform, Reaction, Revolution (Cambridge, Massachusetts: Oelgeschlager, 1981), pp.82-83.
[4] เจมส์ โอกีย์, อ้างถึง: Megarat, อ้างจาก Wan Kadir, Muslim Separatism, pp. 101.
[5] เจมส์ โอกีย์, อ้างถึง: Panomporn Anurugsa, “Political Integration Policy in Thailand: The Case of the Malay Muslim Minority,” (PhD dissertation, University of Texas, 1984), p. 219.