เด็กไทยไกลบ้าน คอนเทนต์ที่เติบโตตามวัย สำรวจคุณค่าในตัวตน และสื่อสารในความเป็นตัวเอง

“เด็กไทยไกลบ้าน” ช่องรายการที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ผ่าน Page Facebook และ Youtube ซึ่งมีผู้ที่ติดตามการเล่าเรื่อง เล่าประสบการณ์การเรียนต่างประเทศของสาวมุสลิม หรือมุสลีมะห์ ที่หลายฅนคงเคยหุ้นหูและผ่านตามาบ้าง

อุซมา ดารามั่น หรือ ซีม มุสลีมะห์ดีกรีปริญญาตรี ด้านมานุษยวิทยา Anthropology ที่สถาบัน Grinnell College สหรัฐอเมริกา และตอนนี้เธอกำลังศึกษา ป.โท คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของเพจ เด็กไทยไกลบ้าน เพจที่ได้รับความนิยมในการเล่าวิถีชีวิตของนักศึกษาต่างประเทศ วิธีการเอาตัวรอดในต่างประเทศ เทคนิคการเรียน การท่องศัพท์

ในปัจจุบันวันเวลาผ่านไปการเล่าเรื่องคอนเทนต์เริ่มเติบโตตามอายุ mind set เริ่มเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น THE MOTIVE จะชวนไปอ่านมุมมองของเธอในการริเริ่มทำเพจ ความตั้งใจแรกเริ่ม จนปัจจุบันคอนเทนต์ถูกเปลี่ยนไปอย่างไรอะไรเป็นปัจจัย พร้อมกับรับฟังคำแนะนำจาก ซีม

แนะนำตัวเองให้ฅนรุ่นใหม่ๆรู้จักเราหน่อย

เป็นนักการศึกษาฅนหนึ่ง เป็นคุณครูฅนหนึ่งแหละ ที่เชื่อว่าการศึกษาที่ดีที่มีคุณภาพ มันจะสามารถเปลี่ยนชีวิตฅน สามารถเปิดโอกาสสร้างตัวเลือกให้กับบุคคลทุกฅนในสังคมได้ ให้เขามีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น

ซีมเลือกที่จะมุ้งเน้นในการสอนภาษาอังกฤษ ส่วนตัวไม่ได้นิยามว่าจะต้องอยู่กับสถานที่แห่งไหน แต่เป็นเชิง being เชิงตัวตนของเขา ว่าสิ่งที่เขาทำ งานที่เขาทำมันขับเคลื่อนอะไร ซึ่งสำหรับซีมการเป็นครู คือ การถ่ายทอด และจัดประสบการณ์เรียนรู้ ให้กับฅนที่ยังไม่เคยผ่านประสบการณ์เรียนรู้นั้น ฅนที่ยังไม่มีทักษะนั้น ให้เขามีสิ่งนั้นขึ้นมา

ในโลกโซเชียลเขารู้จัก ซีม ไม่ใช่ในฐานะนักมานุษยวิทยา  แต่เขารู้จักเราด้วยเรื่องอะไร

จริงๆ มันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเรียนนะ เพราะว่าตอนแรกๆที่เราเล่ามันคือ การเล่าประสบการณ์การเรียนต่างประเทศ การไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน มันเลยชื่อ “เด็กไทยไกลบ้าน” ทีแรก ตอนแรกตั้งเพจก่อน แล้วมันมาดังกับ youtube สมัยนั้นยูทูปที่เป็นฅนไทยแล้วมาพูดเนื้อหาประมาณนี้ การเล่าประสบการณ์การเรียนเมืองนอก การสอนภาษาอังกฤษ รีวิวเดินการทาง มันยังไม่ค่อยมี เลยกลายเป็นคอนเทนต์ที่แปลกใหม่ นี่หมายถึง 7-8 ปี ที่แล้วนะ

คอนเทนต์ตอนแรกๆ จะเป็นเรื่องของการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนซะส่วนใหญ่ การเป็นนักเรียนในต่างแดน อย่างเช่น การท่องศัพท์จะทำยังไง การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษจะทำยังไง เนื้อหาประมาณนั้น ตรงกับชื่อเพจเลย

Feedback ความตั้งใจแรกๆ ของซีม อาจจะแตกต่างจากสมัยนี้ ที่เขาใช้ยูทูป ตอนที่เริ่มเราไม่ได้มีความอยากดัง หรืออยากเป็นยูทูเบอร์ มันคือการที่เราหาแพลตฟอร์มอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะเป็นพื้นที่ให้เราได้ปล่อยของ พื้นที่ที่เราได้ส่งเสียงบอกเล่าในสิ่งที่เรารู้ แล้วทำในฟอร์แมตที่เราถนัด ซีมเป็นฅนที่ไม่ถนัดเขียน ไม่มั่นใจในการเขียนของตัวเอง แต่ว่าตั้งแต่เด็กเป็นฅนพูดเก่ง ซึ่งยูทูปตอบโจทย์ตรงนั้น แค่เรามีกล้อง เราเปิดกล้อง เรามีประเด็น เราพูด ตัดต่อเล็กน้อยปุ้บ เมื่อก่อนไม่ต้องอะไรมาก เอาลงก็มีฅนดู แล้วเราก็รู้สึกมันเกิดประโยชน์จากการดูในสิ่งที่เราพูด สิ่งที่อยู่ในเนื้อในตัวเรามันมีประโยชน์กับฅนอื่นด้วย รู้สึกว่าเฮ้ย มันเป็นพื้นที่หนึ่งที่เราได้สร้างคุณค่าให้กับสังคมผ่านประสบการณ์ของเรา อีกอย่างที่ซีมมองว่า โอกาสที่เราได้รับ มีฅนน้อยมากที่จะได้รับโอกาสนี้ การเป็นมุสลีมะห์คลุมหัวไปเรียนต่อต่างประเทศ ได้เรียนมหาวิทยาลัยระดับต้นๆของอเมริกา

คอนเทนต์ที่ซีมทำจัดอยู่ในประเภทไหน

วีดีโอของซีมอยู่ในกลุ่มของฅนที่ต้องการมารับรู้คอนเทนต์นี้จริงๆ เราไม่ไดทำคอนเทนต์ที่มันเป็นกระแสอย่างปัจจุบัน ฅนที่ทำยูทูปแล้วดังคือการทำแมสคอนเทนต์เพื่อให้มีฅนคอมเมนต์เยอะๆ แชร์เยอะๆ เอาไปวิจารณ์เน้นดราม่าเน้น Engagement สูงๆ แต่ของเราด้วยความตั้งต้นของเราตั้งใจทำให้มันมีประโยชน์กับฅนดู เราไม่ได้แค่ว่ามันจะดังหรือไม่ดัง เพียงแค่ว่าถ้าเราเป็นฅนที่ไม่รู้เราอยากฟังประสบการณ์อย่างไรบ้าง แล้วเราก็ทำคอนเทนต์นั้น

“เราเป็นส่วนหนึ่ง เป็นจิกซอร์ๆหนึ่งที่ทำให้เขามองเห็นความเป็นไปได้

แต่ความสำเร็จที่เขาได้มา มันเกิดจากการลงมือทำของเขาเอง”

คอนเทนต์ที่นำเสนอในแต่ละครั้ง ใช้เวลาคิดคอนเทนต์นานไหม มีใครช่วยคิดช่วยทำบ้าง

นานนะ คิดฅนเดียว ทำฅนเดียว เกือบหมดทุกอย่าง ถ่ายตัดต่อฅนเดียวส่วนใหญ่ก็จะทำฅนเดียว ถ้ามีฅนช่วยก็อาจจะเป็นเพื่อสนิท พอเราเริ่มมีฅนติดตามเยอะขึ้นก็จะมีการไป colab กับฅนอื่นๆ ส่วนใหญ่คลิปหนึ่งสมมุติสัก 5 -7 นาที ใช้เวลาอย่างต่ำสัก 3 ชั่วโมง ตั้งแต่กระบวนการต้นจนจบ

ทางบ้านฅนในครอบครัวเห็นด้วย หรือคอมเมนต์อะไรไหม

ตอนแรกที่ซีมทำ ไม่กล้าบอกใครเลยทำเรียบร้อยแล้วอัพโหลดไปบนยูทูป เหมือนกับว่าอุมมี(แม่)ไปเจอในกลุ่มไลน์ “อ่ะ! นี่ลูกฉันนิ่” เรามั่นใจในความคิด เราพิจารณาแล้วว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็กลัวว่าเขาจะเบรคเรา จริงๆซีมเป็นฅนที่ดื้อเงียบนิดนึง อย่างการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน หรือเรียนต่ออเมริกา จะเอาให้ได้ทำจนทุกอย่างเรียบร้อยหมดแล้ว เหลือแค่เขาอนุญาต นั้นเป็นวิธีการพิสูจน์ตัวเองของซีม ในจังหวะที่ฅนในครอบครัวเห็นคลิป เขามาเห็นเมื่อมันเริ่มมีทราฟิกเริ่มมีการพูดถึง มีการชมแล้ว

ตอนที่ทำถือว่าเป็นมุสลีมะห์ในประเทศที่เป็นยูทูเบอร์ฅนแรกๆไหม

ซีมไม่กล้าเคลมว่าเป็นฅนแรก แต่ว่าสาเหตุที่ซีมทำ เพราะไม่เห็นฅนอื่นทำ น่าจะเป็นฅนต้นๆที่เริ่มทำ เราเป็นฅนชอบดูยูทูปมาก ความที่เราอยู่ไกลบ้าน เราจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเยอะ ทั้งเรื่องวิธีการเรียน การเข้าหาอาจารย์ เทคนิคการเอาชีวิตรอดในฐานะนักเรียนฅนหนึ่ง เด็กฝรั่งจะมียูทูปพวกนี้เยอะมากที่เป็นภาษาอังกฤษ และเรามองว่าหลายๆอย่างมันเป็นเทคนิคที่ใช้กับประเทศไทยก็ได้ เด็กไทยควรจะรู้ทำไมไม่มีใครพูดถึง ด้วยอุปสรรคของพรมแดนภาษาฅนไทย โดยเฉพาะเด็กในวัยมัธยม หรือมหาวิทยาลัยเรื่องภาษาก็ยังไม่ดีมากพอที่จะไปดูคลิปฝรั่งแล้วเข้าใจได้เลย หลายๆอันซีมก็แค่ถ่ายทอดจากการดูของฝรั่งมา เอามาผสมกับสิ่งที่เราทำอยู่ เชิงรีวิวไปด้วย บอกประสบการณ์ตัวเองไปด้วย เอาเนื้อหาเขามายำใหม่ก็มีเหมือนกันในช่วงแรกๆ

“ถ้าเราหาคุณค่าเจอว่า คุณค่าของเราคืออะไร มันก็สามารถเอาสิ่งนั้นมาสร้างประโยชน์กับฅนอื่นกับสังคมได้”

มีกระแสดราม่าว่าเป็นมุสลีมะห์แล้วมาเป็นยูทูเบอร์อะไรทำนองนี้ไหม

ไม่มีเลย แต่จะมีแบบคอมเมนต์จากอุมมีในช่องทางส่วนตัวว่า “ใส่ฮีญาบให้เรียบร้อยหน่อย ผ้าคลุมคลิปนี้สั้นไปนะ” เขาจะมี concern ความกังวลในเรื่องของการแต่งกาย

“เด็กไทยไกลบ้าน” เป็นช่องทางสร้างแรงบันดาลให้เด็กฅนอื่นประสบความสำเร็จไหม

ซีมจะไม่เล่าเพราะว่าเป็นเครดิตของเราที่ทำให้เขาไปถึงจุดๆนั้น เรามองว่าเราเป็นส่วนหนึ่ง เป็นจิกซอร์ๆหนึ่งที่ทำให้เขามองเห็นความเป็นไปได้ แต่ความสำเร็จที่เขาได้มา มันเกิดจากการลงมือทำของเขาเอง เด็กทุกฅนเขาก็มี ครู มีพ่อแม่ มีญาติพี่น้อง มีเพื่อนของเขาที่คอยผลักดันให้เขาก้าวไปข้างหน้าเหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่มีการพูดถึงเรื่อยๆ จะมีน้องมุสลีมะห์หลังไมค์ว่า ขอบคุณมากเลยที่ทำคลิปแบบนี้ ทำให้เห็นว่ามุสลีมะห์ก็ทำได้เหมือนกัน ซึ่งการทำได้ในที่นี้ มันลึกไปกว่าการแค่พูดเรียนอังกฤษได้ พูดอังกฤษได้ มันหมายถึงเขารู้สึก empower จากการเห็นตัวอย่างฅนเป็น representative ของมุสลีมะห์สักฅนนึงที่ทำสิ่งนี้ได้ อันนี้แหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยที่เรากำลังทำอยู่

ถ้าถามว่าช่อง “เด็กไทยไกลบ้าน” เป็นช่องสอนภาษาอังกฤษไหม ก็ใช่ คือช่องพาเที่ยวไหม ก็ใช่ คือช่องที่พูดถึงประสบการณ์ต่างแดนไหม ก็ใช่ คือช่องวาไรตี้ที่พูดถึงชีวิตการเติบโตของฅนๆนึงหรือเปล่า ก็ใช่เหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้ว ทั้งหลายทั้งปวง มันคือบันทึกเรื่องราวชีวิต ความคิด การเรียนรู้ การเติบโตของฅนๆนึง ที่พยายามฉายภาพของความเป็นไปได้แบบหนึ่งคะ

ซีมเริ่มทำตอนเรียนอยู่ปี 3 พอไปถึงจุดหนึ่งเมื่อจบกลับมาแล้วกลับมาเป็นครูอยู่ 2 ปี ก็ยังทำยูทูปอยู่ เราเริ่มสังเกตได้ว่าน้องๆโดยเฉพาะใน 3 จังหวัด มองว่าการไปเรียนเมืองนอกคือที่สุดของชีวิต เราได้ไปแดนศิวิไลซ์ เราหร่อย ซึ่งเราไม่เห็นด้วยถ้ามีมุมมองอยู่แค่นั้น แล้วเราก็มองว่าเฮ้ย! ตัวเรากำลังมีส่วนทำให้เขามองเห็นภาพฝันเป็นแบบนั้นหรือเปล่า จะให้หร่อยต้องไปเมืองนอกไปอยู่กับ White people เรากำลังสร้างภาพให้เห็นฅนฝรั่ง ฅนขาวคือฅนที่ดีกว่าหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่เรากังวล ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ มันต้องมีการยืนหยัดในตัวตนพอสมควรถึงจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้

ช่วงหลังๆ เลยลดความเป็นไกลบ้านลง มามองในเชิงคุณค่าที่ตัวเรายึดถือ ว่าเราสามารถฉายภาพอื่นได้อีกไหม อย่างเช่นซีมเป็นฅนชอบอ่านหนังสือ หลังๆจะมีการรีวิวหนังสือ หรือทำเป็น podcast มาเล่าให้ฟังว่าเราอ่านหนังสืออะไร ได้อะไรจากการอ่านหนังสือเล่มนั้น หากเป็นฅนชอบเขียน To Do List ชอบตั้งเป้าปีนี้อยากทำอะไร เราก็ทำคลิป New Year Resolutions เล่าว่าปีนี้เรามีเป้าหมายอยากทำอะไรให้สำเร็จ คือการยึดในสิ่งที่มันยังเป็นเนื้อเป็นตัวเราอยู่ แต่ว่าตระหนักมากขึ้นว่า สิ่งที่เราต้องการจะพูด message ที่เราต้องการจะบอกไป ไม่ใช่ว่าเรามาเป็นเด็กไทยไกลบ้านกันเถอะ แต่มันคือการบอกว่า เฮ้ย! ทุกฅนเรามาพัฒนาตัวเองกันเถอะ เรามาเติบโตกันไปอย่างมีคุณภาพดีกว่า

คิดจะหารายได้จากการเป็น youtuber บ้างไหม

ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าตัวเองล้มเหลว แต่ก็มีผลที่ทำให้เราไม่ได้อัพโหลดวีดีโอเหมือนกับแต่ก่อนที่มีฅนดูเยอะ เพราะว่า investment การลงทุนมันเยอะมากในแต่ละคลิป ประกอบกับปัจจุบันเรามีงานมีครอบครัว มีภารกิจอื่นๆที่จะต้องทำ และเราก็ไม่ได้มีรายได้จากโซเชียลมีเดีย เอาจริงๆ ซีมเสียมากกว่าได้ เสียเงินซื้ออุปกรณ์ ต่างกับยูทูเบอร์ปัจจุบัน ซึ่งมันต่างกันตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้ว่าเราดีกว่าเขา หรือเขาดีกว่าเรา เราพูดถึง intention ความตั้งใจแรกเริ่มตัวเราตอนต้นไม่ได้ว่ามันมีรายได้ได้ เราแค่หาพื้นที่ แล้วช่วงหนึ่งเราพยายามที่จะสร้างรายได้จากมัน แล้วพบว่าการที่จะมีรายได้จากยูทูปจริงๆ มันจะต้อง mass มากๆ แล้วเราจะต้องทำในสิ่งที่ขัดต่อตัวตนของเรา เราไม่อยากจะแลกกับสิ่งนั้น ยิ่งทำตัวตนของตัวเองยิ่งหาย เรามองว่า มันไม่คุ้มที่จะแลก รวมถึงเราจะเสีย privacy ความเป็นส่วนตัวในชีวิตเราไป อันนี้เราไม่โอเค

ครั้งหนึ่ง ตอนที่นั่งรถเมล์ร่วมบริการกลับบ้านตอนนั้น 8 บาท มีมุสลีมะห์ฅนหนึ่งเข้ามาทัก น้องซีมใช่ไหมค่ะพี่ดูคลิปของน้อง เราไม่ได้รู้สึกดีใจเลยนะที่เขามาทัก เรารู้สึกอายที่เขามาเจอเราในสภาพที่เราอยู่บนรถเมล์ ซึ่งมันจะอายทำไม มันไม่ควรอาย แต่เราเริ่มรู้ตัวแล้วกำลังสร้างอัตตาบางอย่าง เรามีอีโก้บางอย่างว่า ภาพของซีมเด็กไทยไกลบ้านคือ ผู้หญิงเก่งหร่อยๆฅนหนึ่งที่เดินทางไปหลายประเทศ เรียนหนังสือเก่ง แล้วกลับมาเจอเรานั่งรถเมล์ 8 บาท ความรู้สึกแบบนี้มันไม่ดีเลย เรามองเห็นเป็นปัญหาว่าสิ่งนี้เราอาจนำไปสู่ความหลงหรือเหลิงในตัวเอง เราต้องการเป็นฅนธรรมดาฅนหนึ่ง ที่มีพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิด ไม่อยากให้ฅนจำในฐานะ youtuber

Covid-19 เป็นปัญหากับการถ่ายทอดความเป็นครูผ่าน youtube หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไหม

สำหรับซีมจะมีปัญหาของพื้นที่ พอทุกฅนอยู่บ้าน แล้วการจะถ่ายคลิปส่วนใหญ่จะถ่ายตอนอยู่ในห้องหรืออยู่บ้านฅนเดียว พอทุกฅน quarantine อยู่ในที่เดียวกันก็ทำยากขึ้น ช่วงหลังๆส่วนใหญ่ก็จะลง IG และลอง Tiktok บ้าง ผลตอบรับก็ค่อนข้างดี แต่ตัวเราเองกลับไม่ชอบคลิปอะไรที่มั่นสั้น เรารู้สึกว่ามันยังไม่ทันเล่าเรื่องราวอะไร

ชีวิตคู่ ส่งผลต่อการปรับ mind set เราไหม

เปลี่ยนไปเยอะ รู้สึกว่าเวลาจากเมื่อก่อนเรามีเวลาว่างเยอะ เรามีอีกหนึ่งบทบาทเพิ่มเข้ามา คือภรรยา มันมีมุมมองที่เปลี่ยนไป กับการทำคอนเทนต์ เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น จากเมื่อก่อนเด็กไทยไกลบ้าน มันคือเด็ก คือวัยรุ่นฅนหนึ่ง ตอนนี้เราคือผู้หญิงอายุ 28 ปี แต่งงานแล้ว เรื่องราวที่เราจะเล่ามันก็ต้องเล่าในฐานะฅนที่มีประสบการณ์ชีวิตในระดับหนึ่ง สังเกตจากคอนเทนต์จะพูดคุยกับฅนอายุ 20 กว่าๆ 25 – 34 ปี เริ่มขยับอายุขึ้นมา เริ่มมีคอนเทนต์ที่โตขึ้น พูดถึงการดูแลสภาพจิตใจ พูดถึงเรื่องสุขภาพมากขึ้น เริ่มพูดถึงการจัดการการเงิน เราเริ่มมองว่า knowledge มันไม่พอแล้ว มันต้องมี skill ทักษะ attitude ทัศนคติในการใช้ชีวิตด้วย

เราพบว่าส่วนใหญ่ฅนที่ติดตามเราตั้งแต่ต้น ตอนวัยมัธยม และตอนนี้เขาก็คือฅนวัยทำงานฅนหนึ่ง ซึ่งโตมาด้วยกัน ก็เลยมุมมองความคิดไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางจักรวาน

ในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ สำหรับฅนที่อยากจะเป็น Youtuber หรือ Tiktoker อย่างพี่ซีม เราอยากจะฝากอะไรกับฅนรุ่นใหม่ๆ

อยากฝาก 2 อย่าง อย่างแรกคืออยากให้เป็นตัวเอง สำรวจคุณค่าของตัวเรา อะไรที่เราเชื่อ อะไรที่เรายึดถือ แล้วเลือกดึงอันที่เราสบายใจที่จะเล่า พยายามร้อยเรียงเรื่องราว่ให้มันชัดเจนที่สุดในมุมนั้น ไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา ตัวอย่างเพจที่ซีมชอบ เพจ“เรไรรายวัน” มันไม่มีอะไรเลยนะเพจนั้น มันคือเรื่องราวที่จริงแท้มากๆเลยคะ มันคือบันทึกของคุณแม่ฅนหนึ่งที่เห็นว่า การเขียนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเก็บบันทึกความทรงจำของลูกเขา บันทึกความสุข แล้วเสริมสร้างทักษะสร้างวินัยให้ลูก แล้วแชร์ให้ฅนอื่น ได้ยอดไลค์ 4 แสนกว่า ทำหนังสือขายดีมาก ความเป็นตัวเองตรงนี้ เราหมายรวมการที่ถ้าเราลองอะไรบางอย่างแล้วเราไม่ถนัด ก็อยากให้ซื่อสัตย์กับตัวเองมากพอที่จะเดินออกมา

อย่างที่สอง อยากให้สำรวจ intention หรือสำรวจเนียตตัวเองอยู่เสมอ เหตุผลที่เราเริ่มทำ เหตุผลที่เราทำมันต่อไป และเหตุผลที่เราเลิกทำมัน มันไม่เหมือนกัน เราควรทำกระบวนการตั้งคำถามกับตัวเองแบบนี้ควรทำเรื่อยๆ เหมือนตอนที่ซีมทำ Tiktok สมมุติก่อนจะทำซีมตั้งใจว่าฉันจะดังให้ได้ใน tiktok นี้คือเหตุผลในการเริ่ม พอทำไปสักพักเริ่มหาเหตุผลในการทำต่อไปไม่ได้แล้ว เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ แล้วเราก็มีเหตุผลที่จะหยุด หรือลบมันออกไปจากชีวิต ซึ่งในอนาคตซีมอาจพบเหตุผลใหม่ที่จะกลับมาทำ tiktok ก็ได้นะ อาจจะมีวิธีการใช้ tiktok แบบใหม่ที่ไม่ต้องเต้น ไม่ต้องใช้เพลง เราสบายใจที่จะทำ ก็อาจเป็นไปได้ที่อาจจะกลับไปใหม่ แต่ส่งนี้เราในฐานะปัจเจกบุคคลฅนหนึ่ง มีสิทธิที่จะเลือกที่จะทำอะไร ไม่ทำอะไร ทำด้วยเหตุผลอะไร ไม่ต้องไปตามความเห็นของผู้ติดตามเยอะขนาดนั้น

มุสลีมะห์ในโซเชียลมีเดีย ในเชิงสาระองค์ความรู้ มีมากพอไหม จะต้องกระตุ้นให้ผู้หญิงมุสลิมลุกขึ้นมาทำไหม

จริงๆในปัจจุบันมีอยู่เยอะนะ มุสลีมะห์ที่มีความสามารถ แต่ว่าเขาอาจจะไม่ได้รู้สึกสบายใจหรือปลอดภัยมากพอที่จะทำมันในพื้นที่พับลิค คิดง่ายๆว่า ยุคโควิด-19 คุณครูต้องสอนออนไลน์ แล้วคุณครู้ต้องทำคลิปวีดีโอ นั่นคือสกิลที่ยูทูเบอร์ต้องใช้นะ แล้วถ้าคุณครูที่เป็นมุสลีมะห์ในประเทศไทยต้องกลายมาเป็นยูทูเบอร์ สาระมาไหม ก็มาเต็ม เราจะมียูทูเบอร์สายสังคมมาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อิสลาม ยูทูเบอร์สายทดลองวิทยาศาสตร์ แต่สุดท้ายแล้วสังคมเราในปัจจุบันเราต้องตั้งคำถามกลับไปกับสภาพสังคมในปัจจุบันว่าสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับฅนที่มีความสามารถเหล่านี้อยากที่จะมาแสดงออกในพับลิคไหม ต้องมีการดูแลของชุมชนทั้งชุมชนออนไลน์ และชุมชนจริงๆ ซีมคิดว่าถ้าเขา take initiative เขาเริ่มที่จะทำ ควรจะสนับสนุน แต่ไม่ควรไปกดดัน

คุณค่าในตัวเอง ซีมนิยามอย่างไร

สำหรับซีมคิดว่า Value คือ แกนในการใช้ชีวิตของเรา ซึ่งฅนหนึ่งฅนมีคุณค่าหลายอย่าง แต่มีบางอย่างที่เด่นชัดมากกว่าอันอื่นๆ ถ้าเราหาคุณค่าเจอว่า คุณค่าของเราคืออะไร มันก็สามารถเอาสิ่งนั้นมาสร้างประโยชน์กับฅนอื่นกับสังคมได้

ในฐานะ Content Creator บ้านๆฅนหนึ่ง อยากให้ฅนดูสำรวจเนียตตัวเองว่า ดูทำไม คอมเมนต์ทำไม ไตร่ตรองนิดนึง บางทีเราอาจตัดสินเขาเพียงโพสต์ๆเดียว คลิปๆเดียว แล้วเอาไปแชร์ต่อ ไปคอมเมนต์โดยที่เราไม่ได้รู้จักฅนๆนั้นเลย มันก็ไม่ดี มันเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเราเองต้อง self-censor ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง นึกมีไอเดียอะไรสักอย่างที่อยากจะทำ แต่ไม่ทำดีกว่า เพราะเดี๋ยวต้องมีฅนมาคอนเมนต์ไม่ดีแน่เลย