ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 3 : วิถีของทนายที่ถูกบังคับให้สูญหาย ผ่านการเล่าเรื่องของลูกศิษย์

วาสนา ภัทรนันทกุล อดีตลูกศิษย์ทนายความสมชาย และเป็นทนายความเชื้อสายชนเผ่าอาข่า สังกัดโครงการกฎหมายบ้านปลาดาวเชียงราย เปิดเผยว่า ตนเจออาจารย์สมชายครั้งแรกเมื่อปี 2543-2544 ตอนไปสอบตั๋วทนายความ อาจารย์เป็นผู้มาบรรยายให้กับผู้ไปสอบใบอนุญาตทนายความ และทุกฅนจะต้องไปฝึกงาน

ปกติสภาทนายความจะสุ่มส่งไป แต่ตนจะไปฝึกงานกับอาจารย์สมชาย พอแจ้งไปอาจารย์ตอบว่า ไม่ๆ ไม่รับผู้หญิง เรียกว่าถูกปฏิเสธตั้งแต่วันแรกที่เจอกันในวันที่ท่านไปบรรยาย

แต่อย่างไรก็อยากจะไปเป็นทนายความกับอาจารย์ จึงพยายามที่จะไปอยู่กับอาจารย์และตามหาว่ามีใครบ้างที่พอจะฝากตนไปฝึกงานกับอาจารย์ได้บ้าง สุดท้ายอาจารย์ก็ได้รับไว้

วันที่ไปสำนักงานครั้งแรกอาจารย์ก็บอกว่าที่นี่ไม่มีเงินเดือน ที่นี่จะอยู่กันแบบพี่น้อง จะอยู่กันแบบมีอะไรก็แบ่งกันกิน

อาจารย์จะมีสมุดนัดอยู่ 2 เล่ม เล่มหนึ่งอาจารย์จะถือติดตัว อีกเล่มหนึ่งอาจารย์จะเอาไว้ที่สำนักงาน ทุกฅนในสำนักงานจะรู้ว่าวันนี้อาจารย์มีคดีที่ไหนบ้าง วันต่อไปอาจารย์มีคดีที่ไหนบ้าง และจะจดไว้ในสมุดนัดส่วนตัวของเรา หลังจากนั้นก็จะตามอาจารย์ไปทุกเช้าโดยเราจะไปถึงก่อนอาจารย์

อาจารย์ขับรถฮอนด้าสีเขียว มาถึงอาจารย์จะจอดด้านหลังสำนักงาน ทุกฅนก็จะดูว่ามาถึงแล้วหรือยัง สำนักงานอยู่ตรงข้ามศาลรัชดา จะต้องข้ามสะพานลอยเพื่อที่จะไปศาล บางทีก็ไปศาลแพ่ง บางทีก็จะไปศาลอาญา

พออาจารย์มาถึงปุ๊บ เราก็จะบอกว่า “หนูถือกระเป๋าให้ค่ะอาจารย์” อาจารย์ก็ตอบว่า “ไม่ต้อง คุณเป็นผู้หญิง” เรียกว่าจะมีศึกการแย่งกระเป๋าอยู่ทุกวัน บางวันก็แย่งสำเร็จ บางวันก็แย่งไม่ได้ ซึ่งกระเป๋าใบนี้จะหนักประมาณ 5 กิโลกว่า

อาจารย์เขาจะไม่สอนว่าต้องทำอย่างนั้นหรือย่างนี้ แต่เราจะสามารถเรียนรู้จากตัวอาจารย์เอง อยากรู้อะไรก็ตามอาจารย์ไปแล้วก็ดูเอาเอง

มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยถามอาจารย์ว่า จะเป็นทนายความที่ดีที่และเก่งเหมือนอาจารย์ต้องทำอย่างไรบ้าง อาจารย์ก็บอกว่า ไม่มีคำตอบ แต่อีก 20 ปี ข้างหน้าคุณจะรู้คำตอบเอง

อาจารย์เป็นคนใจดี สำนักงานจะมี 2 ชั้น ปกติอาจารย์จะอยู่ชั้นสอง ที่นั่นมีทนายความอยู่ 3 รุ่น รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นเล็ก ซึ่งตนจะเป็นรุ่นเล็กที่สุดแล้ว

เวลาจะเขียนสำนวนอาจารย์ก็จะร่างด้วยดินสอใส่กระดาษ พอเขียนเสร็จแล้วก็จะเรียกรุ่นเล็กสุดอย่างเราเป็นฅนพิมพ์ดีด สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ตนก็จะไปรับเอกสารกับอาจารย์เพื่อที่จะพิมพ์คำฟ้อง คำร้อง หรือคำแถลงต่างๆ ซึ่งอาจารย์จะเป็นคนร่างให้ในปีแรกที่ตนไปอยู่ พอหลังๆ อาจารย์ไม่ร่างให้แล้ว ให้ไปทำเองและส่งให้อาจารย์อีกทีหนึ่ง

ครั้งแรกที่อาจารย์ให้ ลายมืออาจารย์ยิ่งกว่านายแพทย์ อ่านไม่ออก รุ่นที่สามก็อ่านไม่ออก ก็จะไปหารุ่นที่สองให้ช่วยอ่าน บางครั้งรุ่นที่สองก็อ่านได้ แต่ถ้าอ่านไม่ได้ก็ต้องไปหารุ่นแรก พอรุ่นแรกอ่านไม่ออก ก็จะขึ้นไปหาอาจารย์ อาจารย์ก็ให้ไปถามพี่รุ่นแรกฅนหนึ่งที่จะอ่านลายมืออาจารย์ออก ปรากฏว่าพี่เขาก็อ่านไม่ออก

ก็ไปบอกอาจารย์อีกครั้งว่าพี่เขาก็อ่านไม่ออกเหมือนกัน อาจารย์ก็จะเขียนใหม่ให้ พอเขียนใหม่ก็อ่านไม่ออกอีก แล้วอาจารย์ก็บอกถ้าอย่างนั้นคุณก็เขียนไป ปกติลายมืออาจารย์จะเป็นเอกลักษณ์ที่อ่านไม่ค่อยได้

ทุกวันที่อาจารย์มาสำนักงานก็จะซื้อกับข้าวมาด้วย ซึ่งหลังๆ ไม่ค่อยซื้อกับข้าวมาแล้ว แต่จะซื้อข้าวหมกไก่มาแทน วันไหนที่อาจารย์เข้ามาสำนักงานพวกเราก็จะได้กินข้าวหมกไก่ แต่วันไหนที่อาจารย์ไม่เข้าพวกเราก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง

ในสำนักงานจะมีอยู่กัน 5 ฅน ตนจะเป็นรุ่นน้องสุดที่จะต้องไปหาซื้อกับข้าวฝั่งศาลรัชดา วันไหนที่อาจารย์เข้ามาตนจะเป็นคนที่ดีใจที่สุดเพราะไม่ต้องไปซื้อข้าวให้กับรุ่นพี่

หมายเหตุ : งานชั้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท (Sun, 2017-03-12 / 19:39)
ลิงค์ฉบับเต็ม : https://prachatai.com/journal/2017/03/70535

อ่านเพิ่มเติม :
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 1
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 2
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 4
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 5