หมุดหมายความขัดแย้งทางการเมืองชายแดนใต้ คือ จุดสำคัญในการคลายปม หากต้องการที่จะแก้ปัญหา

รอมฎอน ปันจอร์ ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เปิดเผยว่า ดูจากกรณีการบังคับให้สูญหาย หรือ อุ้มหาย ย้อนหลังกลับไปมองเชื่อมโยงกับภาพรวมของความขัดแย้งในชายแดนใต้ ที่นี่เป็นตัวแบบ หรือ สนามทดลอง เป็นพื้นที่ทดลอง เป็นบ่ออนุบาลของการใช้อำนาจรัฐในการควบคุมและปกครองผู้ฅน เมื่อได้ตัวแบบมาแล้วก็จะนำไปใช้กับที่อื่นๆ ต่อ

กรณีภาพโพสเตอร์ฮัจยีสุหลง โต๊ะมีนา ที่ติดข้างหน้าเวทีนี้ ผมเข้าใจว่าจะบ่งบอกถึงที่นี่คือชายแดนใต้ ที่นี่คือปาตานี ซึ่งมันมีความหมายของการอุ้มหายที่ได้กลายเป็นจุดกำเนิดและเป็นหมุดหมายอันสำคัญที่วางอยู่ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งชายแดนใต้

แน่นอนประวัติศาสตร์ความขัดแย้งชายแดนใต้หรือปาตานียาวนานถึง 110 ปีหรือ 200 กว่าปี แต่การหายและการเสียชีวิตของฮัจยีสุหลงเมื่อปี พ.ศ.2497 มันคือหมุดหมายสำคัญ

เพราะว่ามันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของสมาชิกครอบครัวโต๊ะมีนาเท่านั้นที่หายไป แต่มันหมายถึงการหายตัวไปของผู้นำทางการเมือง หรือผู้นำทางศาสนาของฅนในพื้นที่แห่งนี้

บทบาทของฮัจยีสุหลงก่อนหน้านั้นจะมีการผลักดันข้อเสนอ 7 ข้อ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้น เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้ได้มาซึ่งสิทธิทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น หรือ อำนาจที่กระจายเข้าสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มมากขึ้น มันกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของความขัดแย้งทางการเมือง
.
แต่หลังจากการหายตัวไปของฮัจยีสุหลงทำให้มีส่วนอย่างยิ่งต่อการเกิดปฎิกิริยาการต่อต้านด้วยการใช้กำลังอาวุธในระยะ 5-6 ปีหลังจากที่ท่านหายไป หรือช่วงปี พ.ศ.2503 ตรงกับยุคสมัยของรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีไทยฅนที่ 11 (2496-2506)

หมายความว่า วิธีการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีในทางการเมืองถูกพิสูจน์แล้วว่ามันล้มเหลวเมื่อมีการต่อรองกับรัฐบาลไทย ฉะนั้น วิธีการที่ผงาดขึ้นมาแทนที่และได้รับฉันทามติในจำนวนหมู่ผู้นำทางการเมือง คือ การต่อสู้ด้วยการใช้กองกำลังติดอาวุธ

บาดแผลพวกนี้หมายความว่า เรื่องการหายตัวไปของฮัจยีสุหลง คือ ความทรงจำรวมหมู่ของชุมชนทางการเมืองในพื้นที่แห่งนี้

ดังนั้น การคลายปมเหล่านี้จึงสำคัญมากหากจะมุ่งเข้าสู่การแก้ปัญหา ถามว่าก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามที่จะคลายปมนี้หรือไม่ น่าสนใจในยุคหนึ่งวิธีการของชนชั้นนำไทยจะใช้วิธีการประนีประนอม แต่ไม่ได้มีการไต่สวนกันในศาล ไม่ได้หาฅนผิด และไม่ได้มีการลงโทษฅนผิด

ทั้งที่จริงการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และการอำนวยความยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการคลายปมความขัดแย้งนี้

ชมคลิปฉบับเต็ม : https://www.facebook.com/yalamovement/videos/563308994333431/

อ่านเพิ่มเติม :
บุคคลสูญหายใน จชต. มีมากถึง 33 ฅน พบมากสุดในปี 2547, 2548, 2550 ตรงกับช่วงยุทธการพิทักษ์ชายแดนใต้
ทายาทหัวหน้าเสรีไทยภาคอีสานเผย การอุ้มฅนให้หาย เป็นวิธีการที่ผิดมนุษย์ จะรักษาอำนาจได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ลดทอนความเป็นมนุษย์