วงการทุเรียนชายแดนใต้จากโควิด ตลาดไม่มี ถูกกดราคา ได้เสียต้องลุ้นเสี่ยงวันต่อวัน



ผู้รับเหมาทุเรียนจะแนะแจงพ่อค้าฅนกลางลดลงเพราะโควิด กระทบผู้รับเหมาเพราะไม่มีที่ระบายสินค้าได้ตามราคาที่เป็นธรรม ระบุไทยสร้างปัญหาระหว่างประเทศส่งผลให้ส่งออกไปจีนไม่ได้ ตัดพ้อแบรนด์ยะลาถูกลดคุณค่าทั้งที่คุณภาพเหมือนกัน ผู้รับเหมาทุเรียนบันนังสตาเผยเคยได้ 40 ตันต่อ 1 ฤดูกาล ตอนนี้พึ่งขายได้แค่ 2 ตัน ด้านผู้รับเหมาทุเรียนศรีสาครย้ำปีนี้มีแต่ขาดทุน ทั้งเรื่องราคาตลาด ค่าน้ำมัน และเวลาที่หมดไป
.
The Motive ชวนท่านผู้อ่านไปฟังเรื่องของผู้รับเหมาทุเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ / ปาตานี ว่าฤดูกาลนี้พวกเขาพบเจอเรื่องราวอะไรมาบ้าง จากต้นทางไปสู่ปลายทางบนเส้นทางการค้าทุเรียน โดยทุกๆ ปี ตลาดยะลาสามารถซื้อทุเรียนได้อย่างน้อย 300 ตันต่อวัน แต่ในช่วงโรคระบาดโควิดอย่างแสนสาหัส พวกเขาจะสามารถขายทุเรียนได้เหมือนทุกปีหรือไม่
.
ฅนแรก อับดุลอานัส (นามสมมุติ) เป็นผู้รับเหมาทุเรียนจาก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เขาได้เปิดเผยต่อ The Motive ว่า ได้ตัดทุเรียนจากสวนของตัวเอง และรับเหมาซื้อจากชาวบ้านด้วย จากนั้นก็นำเอาไปขายที่ตลาดซื้อทุเรียนในจังหวัดยะลา แต่มาประสบปัญหาจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้มีคำสั่งล็อกดาวน์และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานและออกจากเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะการเดินทางเข้าพื้นที่ ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 29 จังหวัด

.
มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายผลผลิตของชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ภาคใต้ค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะทุเรียนที่ออกสู่ท้องตลาดมาก และทำให้ราคาดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง แถมพ่อค้าฅนกลางที่มาซื้อทุเรียนในพื้นที่ก็ลดน้อยลง ทำให้ราคาถูกกดลงกำไรก็หดหาย ซึ่งต่างจากอดีต ที่พ่อค้าฅนกลางจะแย่งกันซื้อ เพราะฅนซื้อมีจำนวนมาก ซึ่งอับดุลอานัสได้สรุปว่า ปัญหาตอนนี้แยกได้ 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือโรคระบาดโควิด ส่วนประเด็นที่สองคือราคาไม่นิ่ง
.
แต่ยังมีอีกประเด็นที่เป็นประเด็นปัญหาระดับชาติคือ ประเทศไทยไปมีปัญหากับเวียดนาม อันเป็นประเทศชายแดนที่เราต้องข้ามไปประเทศจีนเพื่อระบายสินค้าลง และจีนก็เป็นประเทศเบอร์หนึ่งในตลาดทุเรียน
(อ้างอิง ; จับตู้คอนเทนเนอร์ ขน ‘ทุเรียนเวียดนาม’ 18 ตัน https://www.matichon.co.th/economy/news_2786815)


การที่ประเทศไทยไปมีปัญหาตรงชายแดนที่เราต้องข้ามไป หรือ ชายแดนที่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนามก็ถูกปิดไปสำหรับฅนไทย เราเลยต้องแปรรูปขายเนื้อเข้าโรงงานแทน แต่พอโรงงานถูกสั่งปิดเพราะโควิด มันก็เลยกระทบลงมาเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง ทุกฅนที่เกี่ยวข้องจึงได้รับผลกระทบทั้งหมด
.
ส่วนพ่อค้าฅนกลางที่มีตลาดระหว่างประเทศอื่นๆ ก็ฉวยโอกาสตรงนี้กดราคาผู้รับเหมาและชาวบ้านลง ซึ่งปกติราคาจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 150 บาท แต่ตอนนี้ลงเหลือ กิโลกรัมละ 65 – 70 บาท
.
ด้านปัญหาแบรนด์สินค้าของสุราษฎร์ธานีจะมีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพดีกว่าของยะลา ฉะนั้นห้องเย็นที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร จะรับซื้อทุเรียนที่มาจากสุราษฎร์ธานีก่อน ส่วนของที่มาจากยะลาก็จะรับซื้อหลังจากนั้น แต่เมื่อห้องเย็นมีจำกัดทุเรียนที่มาจากยะลาก็จะถูกปฏิเสธ หรือไม่ก็ต้องขายด้วยราคาที่ต่ำลง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วคุณภาพทุเรียนของทั้งสองแบรนด์นี้สามารถเทียบเคียงกันได้
.
นายรอมลี (นามสมมุติ) เป็นผู้รับเหมาทุเรียนจาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทุเรียนในพื้นที่บ้านเราจะส่งกระจายไปสองทาง หนึ่ง ส่งออกไปต่างประเทศ อย่างจีน ลาว เขมร มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และสอง ส่งขายภายในประเทศตามจังหวัดต่างๆ อย่างเช่น ตลาดหลังสวน ตลาดไทย ตลาดสี่มุมเมือง เป็นต้น
.
ก่อนหน้านี้พวกเราสามารถเลือกตลาดขายได้ทั่วทุกที่ ต้นทางดี ปลายทางก็ดี ซึ่งวันหนึ่งตลาดมลายูบางกอกยะลาขายได้อย่างน้อย 300 ตันต่อวัน 1 คันรถกระบะสามารถขนได้ 4 ตันต่อรอบ แต่พอมาถึงช่วงระบาดโรคโควิดตลาดปลายทางก็ถูกปิดหมด พ่อค้าฅนกลางก็ไม่มี
.
ปกติผมจะขายได้ 40 ตันต่อ 1 ฤดูกาล รายได้เป็นล้าน ส่วนปีนี้ผมเพิ่งขายได้แค่ 2 ตัน (1 ตัน = 1,000 กิโลกรัม) กลายเป็นว่าต้องเป็นหนี้แทนทำกำไร จะเห็นว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบตรงๆ คือ ผู้รับเหมาที่ซื้อมาจากชาวบ้านอีกทอดหนึ่ง อย่างเช่นซื้อจากชาวบ้าน 10 บาท แต่พอไปขายเขารับซื้อแค่ 8 บาท จึงมีแต่ขาดทุนกับขาดทุน
.
ด้าน นาเซร์ (นามสมมุติ) ผู้รับเหมาจาก อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ปกติตนจะขายเฉพาะของแม่ทุกๆ ปี แต่ปีนี้คิดลองรับซื้อจากฅนอื่นดูบ้าง เวลาไปขายก็จะได้รอบละ 5,000 บาท แต่พอราคาไม่นิ่ง ตลาดมีปัญหา เราเลยต้องเสี่ยง อย่างเช่น บางวันขับรถจากศรีสาครเพื่อไปขายที่ตลาดยะลา แต่ตลาดไม่รับซื้อเราก็เอาของลงไม่ได้
.
หรือบางครั้งซื้อจากชาวบ้าน 60 บาท แต่พอไปขายที่ตลาดยะลาเขาก็รับซื้อกิโลกรัม 60 บาทเช่นกัน เราก็เลยขาดทุน ถึงแม้ว่าจะขายได้ราคาทุน แต่อย่าลืมว่าเราต้องเสียค่าน้ำมันรถ เสียทั้งเวลาในวันที่เราเอาของลงไม่ได้ ตอนนี้เราเลยต้องลุ้นวันต่อวัน
.
.