ผศ.มัสลัน มาหะมะ : ชู 3 นิ้วและอิสลาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองของฅนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะฅนรุ่นใหม่ในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ที่มีความเข้มข้นในเรื่องอัตลักษณ์ และศาสนา ทำให้การชู 3 นิ้ว และการร่วมแสดงความคิดเห็นกับการเมืองในส่วนกลาง มีการตั้งคำถามว่า ควรต้อง หรือ ละเว้นเสีย

THE MOTIVE ได้มีโอกาสมานั่งพูดคุยสนทนากับ ผศ.มัสลัน มาหะมะ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสน์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และผู้ก่อตั้ง THE USTAZ เว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้วิทยปัญญาในอิสลาม ถึงความคิดเห็นต่อการแสดงออกทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ของฅนรุ่นใหม่มลายูมุสลิมในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้

ในสถานการณ์การเมืองในประเทศ มุมมองต่อการออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมือง โดยเยาวชนในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้

การแสดงออกทางการเมืองเป็นแก่นในระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพการแสดงออกทางความคิด ถือเป็นความต้องการที่จำเป็นของเรา เมื่อประชาชนมองเห็นสิ่งผิดปกติที่เกิดจากผู้บริหารประเทศ ทั้งการคุกคาม การกดขี่ การคอรัปชั่น ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะส่งเสียงแสดงออกถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็นับว่าเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ในอิสลามเองก็ถือว่ามีสิทธิที่จะแสดงออก ดังนั้นในอิสลามจึงมีประโยคที่ว่า “ศาสนาคือการตักเตือน” เป็นการตักเตือนเพื่ออัลลอฮฺ เพื่อท่านรอซูล(ศาสดา) ตักเตือนเพื่อผู้นำ และตักเตือนแก่ประชาชาติทั้งหลาย แต่การตักเตือนก็ต้องมาดูกันในแต่ละคอนเซ็ปต์ อย่างการตักเตือนเพื่ออัลลอฮฺคือการปฏิบัติตามบัญญัติ คอนเซ็ปต์การตักเตือนเพื่อรอซูลคือการเดินตามเส้นทางของท่าน

ส่วนการตักเตือนเพื่อผู้นำก็คือการบอกกล่าวเมื่อมีกระทำที่ผิดหรือแขวไปทิศทางอื่น เพราะว่าผู้นำไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผู้นำเป็นเพียงตัวแทน ในทัศนะของอิสลามแล้วผู้นำเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมาย เมื่อผู้นำได้รับโอกาสในการที่จะบริหารก็ควรต้องเปิดใจยอมรับเสียงสะท้อนจากประชาชน นับว่าเป็นหลักการพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคม

ในกรณีที่ผู้บริหารประเทศของไทยไม่ใช่มุสลิม การแสดงออกทางการเมืองสำหรับเยาวชนมุสลิมแล้วสามารถทำได้ไหม?

เราสามารถแสดงออกทางการเมืองได้ในฐานะที่เราเป็นพลเมือง แม้ว่าใครจะมาเป็นผู้นำก็ตาม ในฐานะหน้าที่พลเมือง ความเป็นราษฎรของเราย่อมมีสิทธิและหน้าที่ ด้วยเพราะว่าเราถือบัตรประชาชนไทย โดยอัตโนมัติเราก็มีสิทธิตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่เรายังคงแสดงความคิดเห็นที่ยังคงอยู่ในกรอบกฎหมาย เรามีสิทธิเสรีภาพ และเราก็สามารถที่จะสนับสนุนการเคลื่อนไหวด้วยความบริสุทธิ์ โดยไม่มีการใช้วิธีการผิดสกปรก ซึ่งมีเป้าหมายที่จะตักเตือน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีกว่า ถ้าจุดยืนอยู่ตรงจุดนั้น ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเรา

ไม่ใช่เฉพาะกรณีที่พื้นที่ปาตานีเพียงอย่างเดียวที่ฅนมุสลิมอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐที่ไม่ใช่มุสลิม มีอีกหลายประเทศหลายพื้นที่ ประสบการณ์จากสิงคโปร์เขาบริหารกันอย่างไรเราก็ต้องไปเรียนรู้ ที่ฟิลิปปินส์ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน หรืออินเดียเอง พวกเขามีวิธีการอย่างไรเมื่อต้องเผชิญปัญหากับรัฐบาลผู้ปกครองที่ไม่ใช่มุสลิม

เมื่อผู้นำประเทศเกิดการคอรัปชั่น ปกครองอย่างอยุติธรรม เผด็จการ เราในฐานมุสลิมควรมีบทบาทอย่างไรต่อปัญหาเช่นนี้?

การคอรัปชั่น เผด็จการ การใช้อำนาจที่เกินขอบเขต การกดขี่คุกคาม สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฎการณ์ทางด้านลบ คงไม่มีศาสนาไหนต้องการการบริหารปกครองในรูปแบบนี้ ถึงแม้ว่าผู้นำจะเป็นอิสลามหากเกิดการคอรัปชั่น ไม่รับผิดชอบทำลายความหวังของประชาชน ก็ต้องมีการตักเตือนแก่เขา ปัจจุบันเราจะต้องใช้ Fiqh Inkar AL-Munkar ศาสตร์ว่าด้วยการห้ามปรามความชั่วร้าย ในบ้านเราเมื่อพูดถึงหลักทางฟิกฮ์(หลักปฏิบัติ) เข้าใจเพียงหลักฟิกฮ์ในการละหมาดเท่านั้น เราเรียนรู้กันอย่างจริงจังในหลักการละหมาดอันนี้ถูกต้อง แต่ว่าในอีกมุมหนึ่งของความรู้ที่ถูกละเลยและสังคมไม่ได้ให้ความสนใจ ไม่มีการสะสมต้นทุนองค์ความรู้ก็คือเรื่อง หลักในการห้ามปรามสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม

แล้วเยาวชนที่มีอุดมการณ์ที่จะลุกขึ้นต่อต้านผู้ปกครองที่อธรรม กดขี่ และคอรัปชั่น พวกเขาควรต้องทำอย่างไร?

ไม่ได้มีปัญหาหากเยาวชนที่มีอุดมการณ์จะออกเคลื่อนไหวต่อต้านผู้ปกครองที่อธรรม แต่จำเป็นที่จะต้องผู้ที่เป็นผู้นำ จะนำไปในทิศทางไหน ใครจะเป็นฅนนำ เยาวชนจะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ เหตุการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียน ดั่งที่ระบุไว้ “อัลลอฮฺทรงรักผู้ที่ต่อสู้ในหนทางของพระองค์ในแนวทาง หรือแถวเดียวกัน” ความหมายของแถวเดียวกัน คือ  มีผู้นำที่ชัด มีแนวทางที่ชัด มีผู้ตามที่ชัด มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ชัด และมีวัตถุประสงค์แรงผลัดดันที่ชัดเจน แต่ถ้าหากไปแล้วกลับไม่รู้ว่าใครเป็นฅนชักชวนหรือฅนนำ การเคลื่อนไหวจะได้รับชัยชนะได้อย่างไร

การออกมา action เชิงสัญลักษณ์ อย่างการชู 3 นิ้ว ในทัศนะอิสลามเป็นอย่างไร?

ในอิสลามมีฮูกม หรือหลัก 5 ประการ ฮาลาล คือ สิ่งที่อนุมัติ ฮารอม คือ สิ่งที่ต้องห้าม มักรูฮ คือ สิ่งที่ให้ละเว้นอย่างไม่เด็ดขาด สุนัต คือ สิ่งที่สนับสนุนให้กระทำ และฮารุส คือ สิ่งที่กระทำหรือการละทิ้งมีค่าเท่ากัน ในการจะตัดสินว่าการกระทำนั้นเป็นเข้าข่ายหลักการใด จะต้องมีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจนที่จะว่าเป็นสิ่งฮาลาล หรือ ฮารอม ในประเด็นนี้อิสลามให้มา 2 แนวทางกว้าง ๆ เรียกเรื่องนี้ว่า อีบาดะฮฺ หรือ ศาสนกิจ และอาดัต หรือ ขนบธรรมเนียม

ในส่วนของอีบาดะฮฺหลักของประกอบศาสนกิจ อิสลามจะไม่เปิดให้มีการสร้างนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ คิดวิธีการใหม่ ๆในการประกอบศาสนกิจ อัลลอฮฺ มีดำรัสอย่างไร ท่านนบีปฏิบัติเช่นไร ก็ต้องปฏิบัติตาม อีบาดะห์ หมายถึง การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับผลบุญ บาป คุณค่า ช่วงเวลาที่ระบุชัด และวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน

สมมุติเราจะดื่มน้ำแดง น้ำแดงมันไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่หากว่าเราเชื่อว่าการดื่มน้ำแดงแล้วเราจะได้รับผลบุญเท่ากับการสร้างมัสยิด อัลลอฮฺจะให้เรารอดพ้นจากไฟนรก หากเราเชื่อเช่นนี้มันคืออีบาดะฮฺ เมื่อใดที่เป็นอีบาดะฮฺก็ต้องมีหลักฐานที่อ้างอิงยืนยัน

แต่ในอาดัต หรือขนบธรรมเนียม มันเปิดกว้างมาก แต่ก็มีเงื่อนไขเพียงแค่ว่า อาดัต จะต้องไม่ไปขัดกับหลักการของศาสนา อาดัตมันจะไม่ไปเกี่ยวเนื่องกับผลบุญ หรือ บาป ไม่เกี่ยวข้องกับนรกหรือสวรรค์

เราจะสวมใส่เสื้อมลายูลายบาติก ไม่มีใครออกมาบอกว่าผิด แต่หากเราเชื่อว่าเราละหมาดสวมเสื้อลายบาติกแล้วจะได้รับผลตอบแทนมากกว่าฅนอื่นถึง 70 เท่า มันจะกลายเป็นอีบาดะฮฺ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง เราต้องทำความเข้าใจในหลักของอีบาดะฮฺ และอาดัต

ในอดีตท่านนบีใช้สัญลักษณ์การชู 2 นิ้ว เพื่อเปรียบเปรยความใกล้ชิดระหว่าง เด็กกำพร้ากับท่านนบีในสรวงสวรรค์ และการชู 2 นิ้ว ที่อธิบายถึงช่วงเวลาของท่านนบีกับวันกียามัต หรือ วันสิ้นโลกว่าอยู่ใกล้เพียงแค่ระหว่าง 2 นิ้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ระบุว่ามีผลบุญหรือคุณค่าที่ชัดเจน

เวลาต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติจากแถบประเทศที่ไม่ได้เป็นประเทศมุสลิม มีการเคลื่อนไหวโดยก็ใช้มือเป็นสัญลักษณ์ ในส่วนประเทศมุสลิมเองก็มีการออกแบบโลโก้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงสถาบันมัสยิด โรงเรียน หรือการใช้สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิด การใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆหากไปเกี่ยวข้องกับศาสนาแล้ว ส่วนนี้ทำไม่ได้

วจนะหนึ่งที่กล่าวว่า “ผู้ใดเลียนแบบกลุ่มชนใด เขาก็เป็นส่วนหนึ่งจากกลุ่มชนนั้น” เป็นวจนะที่ผู้รู้ในอดีตหยิบยกมาว่าห้ามสวมหมวกแก๊ป สวมกางเกงก็ไม่ได้ กินข้าวโดยใช้ช้อน ใช้ตะเกียบก็ไม่ได้ ไปคล้ายกับชาวจีน เพราะในอิสลามไม่มีการใช้สิ่งของเหล่านี้ เช่นนี้แล้วการสวมเสื้อ นาฬิกา สูท เนคไท เราไปเหมือนกับชาวตะวันตกไหม เราจะตอบอย่างไร หากยึดหลักวจนะนี้จะแคบลงทันที เพราะว่ามีการอธิบายวจนะนี้ผิด ตัววจนะนี้ไม่ได้ผิดแต่ความเข้าใจในเป้าประสงค์ของเรานั้นคลาดเคลื่อน “ผู้ใดเลียนแบบกลุ่มชนใด” เลียนแบบที่นี่คือเลียนแบบในเรื่องศาสนา เช่น หากเราทำเครื่องหมายกางเขน เตะหน้าผาก ท้อง ไหล่ขวา และซ้าย แม้ว่าใครทำจะบ่งบอกเลยว่าเขาผู้นั้นนับถือศาสนาใด การกระทำนั่นถึงจะเข้าข่าย “เป็นส่วนหนึ่งจากกลุ่มชนนั้น” เพราะสัญลักษณ์เครื่องหมายนี้เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา แต่การใส่เนคไทนั้นเป็นวัฒนธรรมของชาวยุโรป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนา มุสลิมยุโรปเขาก็ใส่เนคไท เช่นเดียวกับสี สีอะไรก็ตามแต่ ในอิสลามสามารถสวมใส่ได้ แต่ถ้าว่าเราเอาผ้าสีเหลืองมาผืนหนึ่งแล้วมาพันรอบตัว มันจะกลายเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาทันที แต่ด้วยสีเหลืองมันไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้าม

ดังนั้นการ“เลียนแบบ”ตรงนี้ หมายถึง การเลียนแบบทางศาสนา มาดูสมัยเราในปัจจุบันใช้หลักตรงนี้วิเคราะห์ว่า การชู 3 นิ้ว มีคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาของเขาหรือไม่ การชู 3 นิ้วเดิมจะมาจากฝรั่งเศส ที่หมายถึง เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ การชูกำปั้นมาจากการปฏิวัติเมื่อปี 1917 ในสหภาพโซเวียต หลังจากนั้นอิหร่านก็นำมาใช้ เมื่อตอนปฏิวัติโดยโคมัยนี รอบีอะฮฺ สัญลักษณ์ 4 นิ้ว ในประเทศอียิปต์ ชื่อสถานที่ของการรวมพลประท้วง

เมื่อสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับศาสนา ดังนั้นศาสนาก็ไม่ได้ซีเรียส สามารถทำได้

สำหรับอุสตาซแล้ว การฮูกมหรือการตัดสินที่รีบเร่ง ที่จะบอกสิ่งหนึ่งสิ่งใดฮารอม หรือต้องห้าม เป็นการใช้อารมณ์มากจนเกินไป โดยขาดหลักฐานข้อมูลข้อเท็จจริงในการอ้างอิง

แม้ว่าหมุดหมายในสัญลักษณ์ 3 นิ้ว จะอธิบายคำว่าเสรีภาพไปในแนวทาง Liberalism หรือเสรีนิยม ความเสมอภาคอธิบายเกี่ยวกับความเสมอภาคในเพศสภาพ และภราดรภาพ ความเป็นพี่เป็นน้องกัน มนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกัน แต่หากเรามุสลิมจะนำไปใช้โดยอธิบายถึงภารดรภาพ ของเราคือ การเป็นอุควะฮฺ ความเป็นพี่น้อง เสรีภาพ และเสมอภาค ล้วนมีอยู่ในอิสลาม ก็สามารถอธิบายได้ไม่ได้มีปัญหา

ดังนั้นการที่จะใช้สัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว 4, 5 หรือ 10 นิ้ว ก็สามารถทำได้หมด ตราบใดที่การกระทำเชิงสัญลักษณ์นั้นไม่ใช้สัญลักษณ์ทางศาสนาใดศาสนาหนึ่ง