คณะพูดคุยฯไทย เดินสายพูดคุยภายใน มท. 4 ย้ำต้องจัดตั้งคณะทำงานร่วมเรื่องข้อเรียกร้องของผู้เห็นต่าง ชี้มีสภาสันติสุขตําบลอยู่แล้ว



วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร ได้โพสต์ระบุในเฟสบุ๊คที่ใช้นามว่า Wassana Nanuam เรื่องความคืบหน้าของกระบวนการสันติสุข/สันติภาพ ปาตานี/ชายแดนใต้ โดยพลเอกวัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่ประชุม รับฟังข้อเสนอจากผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมถึงข้อเรียกร้องหรือความต้องการของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี(มัจลิสปัตตานี) ทุ่งนเรนทร์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ประเด็นสำคัญที่ วาสนาโพสต์ไว้ก็คือ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานคณะสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอเรียกร้องที่ได้จากการรับฟังข้อเสนอจากผู้เห็นต่าง เสนอต่อพลเอกวัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 4 ด้าน คือ
1.ขอรัฐบาลไฟเขียว”วันศุกร์”เป็นวันหยุดราชการ ให้สอดคล้องกับเพื่อนบ้าน
2.แนะทำป้ายหมู่บ้าน -ส่วนราชการ 3 ภาษา คือ ไทย มลายู ภาษาอังกฤษ
3.ขอให้เพิ่ม ภาษามลายู เป็นภาษาราชการ
4. เสนอตั้ง”คณะกรรมการร่วม” รองรับ พื้นที่พิเศษ-พ.ร.บ.กระจายอำนาจ, พ.ร.บ.การปกครองรูปแบบพิเศษ


ส่วนด้านแม่ทัพภาค 4 เห็นควรต้องมาจัดตั้งคณะทำงานร่วมเรื่องข้อเรียกร้องทั้งหมด ชี้ มี”สภาสันติสุขตําบล” 290 ตำบล อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานคณะสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจน คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำศาสนา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประชุมพร้อมกันวันนี้ ระบุว่า ได้มีการรวบรวมผ่านคณะสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตั้งขึ้นมาเป็นตัวแทน สื่อกลางเชื่อมต่อนำความคิดเห็น ข้อเสนอ ข้อเรียกร้องของทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ทั้งนี้จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอ ข้อเรียกร้อง และความต้องการของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้มีการเสนอจากประชาชนผ่านสภาสันติสุขตำบล รวมถึงจากการพบปะประชาชนในหลายโอกาส คณะสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รวบรวมนำข้อเรียกร้อง และความต้องการของประชาชนมาประมวลผลกลั่นกรอง เพื่อยื่นเสนอต่อรัฐบาลให้เกิดความเข้าใจความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
โดยใช้แนวทางการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ยุติความรุนแรง และนำไปสู่ความสุข สงบ สันติ ปรองดองสมานฉันท์บนพื้นฐานของพหุวัฒนธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ


โดยข้อเสนอประกอบด้วย
1.ด้านศาสนา
เรื่องการบริหารกิจการฮัจญ์ โดยขอให้ใช้บุคคลที่มีความรู้ ความเข้าใจ อย่างเช่น สมาพันธ์ฯ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบ ผ่านคณะสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการบริหารจัดการ และเสนอให้มีคณะทำงานร่างกฎหมายอิสลาม ในพื้นที่ 4 จชต. โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว และมรดก เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต
นอกจากนี้ เสนอให้ ถ่ายโอนภารกิจของ ตาดีกา ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอิสลาม ให้อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการอิสลาม หรือผู้นำศาสนา

2.ด้านเศรษฐกิจและสังคม
เสนอให้มีการจัดระเบียบสังคม ให้สอดคล้องกับศาสนาและวัฒนธรรมของพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและผู้นำศาสนาในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม การบริหารศูนย์กลางอาหารฮาลาล จะต้องยกระดับให้เห็นผลอย่างจริงจัง โดยประสานความร่วมมือของผู้นำศาสนา ภาครัฐ และภาคเอกชน ภาคธุรกิจที่มีประสบการณ์มีความรู้ความสามารถ เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

3. ด้านการสร้างสภาวะแวดล้อม พหุวัฒนธรรม ที่เหมาะต่อสังคมและอัตลักษณ์ของพื้นที่
เสนอให้รัฐบาล พิจารณา เรื่องการให้วันศุกร์เป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับเพื่อนบ้าน จัดให้มีป้ายหมู่บ้าน และส่วนราชการ 3 ภาษา คือ ไทย มลายู (ถิ่น,กลาง) และภาษาอังกฤษ เพื่อเปิดประตูสู่อาเซียน
อีกทั้งยกระดับภาษามลายูให้เป็นภาษาราชการอีกภาษาหนึ่ง
นอกจากนี้ เสนอให้มีการระบุอัตลักษณ์ เชื้อชาติ ที่มีการยอมรับเป็นทางการ เช่น เชื้อชาติไทย, เชื้อชาติจีน ,เชื้อชาติมลายู , สัญชาติไทย ศาสนาอิสลาม เป็นต้น

4. ด้านการปกครอง เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่พิเศษ และมี พ.ร.บ.กระจายอำนาจ, พ.ร.บ.การปกครองรูปแบบพิเศษอยู่มากมาย

จึงควรตั้ง”คณะกรรมการร่วม” ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อนำกฎหมายที่มีอยู่มาศึกษารูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ อันจะนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกัน



พลเอกวัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังข้อเสนอ และความต้องการของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณท่านประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานคณะสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อคิดเห็นข้อเสนอจากกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ มาเป็นข้อเสนอในวันนี้

รวมถึงขอบคุณกองทัพภาคที่ 4 ที่ได้สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยของคนในพื้นที่ ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดจะนำไปสู่การสร้างสันติสุขในพื้นที่อย่างถาวร เป็นการดำรงพหุวัฒนธรรม และอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องที่นำเสนอในบางส่วนอยู่ในกระบวนการที่จะดำเนินการอยู่แล้ว ก็จะมีการผลักดันให้ดำเนินการต่อได้อย่างรวดเร็ว บางส่วนที่อยู่ในแผนหรือในนโยบายของรัฐบาล ก็จะดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดตรงนั้นขึ้นมา

ส่วนที่ยังไม่ได้อยู่ในกระบวนการต่าง ๆ ทางคณะพูดคุยฯ จะได้นำไปศึกษาวิเคราะห์ และจะมีกลไกการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับประชาชนต่อไป


สำหรับข้อเสนอทั้ง 4 ประเด็นนั้น จะร่วมกับคณะสันติสุขและประชาชนในพื้นที่ทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนข้อเสนอต่าง ๆ เหล่านี้ ให้ไปมีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างถาวร และยั่งยืน



พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลในพื้นที่ว่า วันนี้ถือเป็นวันที่มีความสุขอีกวันหนึ่ง เป็นการจุดประกายความหวังให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ที่คนในพื้นที่รวมถึงคนทั้งประเทศที่เฝ้ามองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


สำหรับรายละเอียดต่าง ๆ ที่ได้มีการเสนอนั้น คงต้องมาจัดตั้งคณะทำงานพูดคุยหารือในแนวทางปฏิบัติ


แต่สำหรับพื้นที่ยังคงยึด “สภาสันติสุขตําบล” ที่มี 290 ตำบล ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่กว่า 2 ล้านคนให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการสะท้อนข้อมูลความต้องการในพื้นที่จริง ๆ เชื่อมั่นว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มเห็นทิศทางที่ดีที่จะก่อเกิดความสันติสุขขึ้น