อัญชนา ยื่นหนังสือเวทีชนกลุ่มน้อย UN ขอให้รัฐขจัดเงื่อนไขเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย และแก้ไข กม.ทหารทำผิดต้องรับโทษ



จากเวทีการประชุมในประเด็นชนกลุ่มน้อย ครั้งที่ 14 โดยสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในหัวข้อ “ความขัดแย้งและการปกป้องสิทธิมนุษยชนสำหรับชนชาติกลุ่มน้อย” เมื่อวันที่ 2-3 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตัวแทนจากพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี อีกท่านหนึ่งคือ อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ที่จะเป็นผู้อ่านคำแถลงต่อที่ประชุมในประเด็นการปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ แต่ก็ไม่สามารถอ่านให้ประธานในที่ประชุมฟังได้

คุณอัญชนา ก็ได้จัดส่งหนังสือแถลงไปให้ที่ประชุมในกรุงเจนีวาเรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน และหลังจากที่ทราบว่าไม่สามารถอ่านแถลงได้ อัญชนาจึงได้โพสต์คำแถลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว เป็นภาษาอังกฤษ ทาง The Motive จึงได้ขออนุญาตแปลแถลงดังกล่าวเป็นภาษาไทย

บทแปลของคำกล่าวโดย อัญชนา หีมมิหน๊ะ

อัญชนา หีมมิหน๊ะ
กลุ่มด้วยใจ ประเทศไทย

วาระที่ 2 : กรอบกฎหมาย : สิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยและการป้องกันความขัดแย้ง

ขอขอบคุณท่านประธาน

ดิฉันอัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งอยู่ในปัตตานี ประเทศไทย

ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 4.1 ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของผู้คนที่เป็นชนกลุ่มน้อย “รัฐต่างๆ จะต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลที่เป็นชนกลุ่มน้อยสามารถใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งหมดของตนได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และความเสมอภาคโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม เรามีความกังวลอย่างยิ่งกับปัญหาที่พบเห็นต่อการดำเนินการตามปฏิญญาของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเลือกปฏิบัติและการขาดการคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อยชาวมาลายูมุสลิมที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

หลังความรุนแรงระลอกใหม่ในปี 2547 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก และต่อมาได้ออกกฎหมายพิเศษอีกสองฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติความมั่นคงภายใน พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบันความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้น มีผู้เสียชีวิต 7,294 คน บาดเจ็บ 13,550 คน

กฎอัยการศึกได้ให้อำนาจแก่กองทัพในการตรวจค้น บังคับ ห้าม ยึด ยึดครอง ทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ใดๆ และการขับไล่ ภายใต้พระราชกำหนดนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจในการจับกุมและกักขังบุคคลโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหาได้นานถึง 30 วัน โดยอ้างเป็นความมั่นคงของชาติ

ตั้งแต่ปี 2547 ชาวมลายูมุสลิมตกเป็นเป้าหมายเป็นจำนวนมากจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นชาวมลายูมุสลิมทั้งหมด มีผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงจำนวน 8,000 คดี มีผู้ถูกทรมานมากกว่า 147 คน และมีรายงานการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่มกราคม ปี 2547 ถึงพฤศจิกายน ปี 2564 มีคดีวิสามัญฆาตกรรม 482 คดี


ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่รักษาความปลอดภัยไม่ได้ถูกดำเนินคดีฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการซ้อมทรมาน การบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือกรณีวิสามัญฆาตกรรม แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังพยายามที่จะผ่านพระราชบัญญัติป้องกันการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย ในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดฉุกเฉิน กฎหมายนี้ไม่สามารถบังคับใช้ได้

เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย :

– แก้ไขกฎอัยการศึก และกฎหมายฉุกเฉินซึ่งมีบทบัญญัติว่าด้วยการไม่ต้องรับโทษ เพื่อให้ทหารต้องรับผิดชอบ หรือยกเลิกและแทนที่ด้วยกฎหมายที่สามารถให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างเพียงพอ

– ใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา

ขอขอบคุณท่านประธาน
.
อ่านฉบับภาษาอังกฤษ : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=4937908052920492&id=100001040373757