มหากาพย์คดีระเบิดน้ำบูดูอันลือลั่น ล่าสุดปล่อยตัวผู้ต้องขังกลับบ้านเกิดแล้ว 4 ฅน เหลืออีกหนึ่ง

ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์” รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟสบุ๊คในนาม Chalita Bundhuwong ระบุว่า “ขอต้อนรับอาเด๊ะ (น้องๆ) จาก “คดีระเบิดน้ำบูดู” กลับบ้าน” เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 14 กันยายน 2563 จากการที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง คดีระเบิดน้ำบูดู ที่พ้นโทษเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 คน โดยมีญาติพี่น้องที่เดินทางไกลมาจาก อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส มารอรับอย่างอบอุ่น รวมทั้งมีนักศึกษาจาก สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) และตัวแทนจาก เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) มาร่วมให้กำลังใจ ทั้งนี้ ยังมีผู้ต้องขังจากคดีนี้เหลืออีก 1 รายในเรือนจำ และมีกำหนดพ้นโทษในปลายปีนี้


ไม่น่าเชื่อว่า กรณีคดีระเบิดน้ำบูดูจะกลายเป็นมหากาพย์ที่คนจังหวัดภาคใต้จะเล่าขานไปอีกนาน ซึ่งหากจะท้าวความกรณีนี้คงต้องเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ได้มีการกวาดจับนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่าน ม.รามฯ ไป 40 กว่าคนท่ามกลางการข่าวที่รัฐบอกว่าอาจมี “คาร์บอม” ซึ่ง 9 คนโดนคุมขังในเรือนจำ ส่วนอีกหลายคนถูกจับแล้วปล่อยแล้วจับ บางส่วนจับเพิ่มใน 3 จังหวัด ยึดของกลางได้แค่ลังใส่น้ำบูดู จำเลยทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยเป็นที่รู้จักกันตอนนั้นว่า “คดีกวาดจับหน้ารามฯ”


ในปีต่อมา พ.ศ.2560 มีรายงานข่าวว่า ศาลมีคำสั่ง(วันที่ 8/5/60) เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีกวาดจับหน้ารามฯ เหตุอัยการยื่นเอกสารหลักฐานกว่า 10 ฉบับ ทำให้ทนายจำเลยต้องขอเลื่อนไปอีกสองเดือนเพื่อตรวจดูเอกสารอย่างละเอียด ก่อนนัดพร้อมอีกครั้ง ขณะที่ 9 จำเลยยังอยู่ในคุก ทั้งนี้ญาติจำเลยทั้ง 9 ราย ก็ได้ทวงถามคำร้องขอกู้เงินประกันตัวกับกองทุนยุติธรรม หลังยื่นไปนาน 6 เดือนแล้วไม่คืบหน้า จากการตรวจสอบพบเอกสารตกค้าง 1 ศาลไม่อนุมัติ 4 กำลังพิจารณา 1 และไม่มีเอกสารอีก 3


สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นของคดี นางฮานีละห์ (ขอสงวนนามสกุล) แม่ผู้ต้องหาคดีกวาดจับหน้ารามฯ ก็ได้เผยกับสื่อว่าลูกตัวเองถูกซ้อมให้สารภาพ ซ้ำร้ายแยกทางสามีหลังลูกติดคุก เผยหากเคลียร์เรื่องลูกไม่ได้จะไม่กลับอยู่ด้วยกัน ขอความเมตตากองทุนยุติธรรม หวังประกันลูกกลับมาช่วยที่บ้านทำงาน วอนรัฐอย่าใส่ร้าย โปรดให้ยุติธรรม

“ลูกของแม่ถูกจับไปโดยไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน ตอนที่ลูกแม่ถูกสอบสวนก็โดนซ้อมเพื่อให้รับสารภาพด้วย อีกทั้งยังไม่มีทนายความที่เราไว้ใจร่วมสอบสวนด้วย ความจริงตำรวจจะทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเขายังไม่ใช่ผู้ต้องหา เขาเป็นเพียงแค่ผู้ต้องสงสัย” นางฮานีละห์ แม่ผู้ต้องหากล่าว

ด้านศาลได้นัดสืบพยานคดีนี้ถึง 52 ปากและนัดอีก 27 นัด ขณะที่จำเลยยังต้องนอนรออยู่ในคุกอีก 8 เดือน บิดาจำเลยร้องเรียนว่าการที่ต้องรอในคุกกระทบญาติหลายด้าน ส่วนทนายขอสืบ 4 พยานโจทก์สำคัญใช้เวลาสืบ 8 นัด พร้อมเปิดชื่อมีทั้งตัวแทน คสช. สายข่าวตำรวจและทหารใต้ด้านสันติวิธี


ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาคดีนี้ให้จำเลยที่ 1,2,4 และ 9-13 ผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร รวมโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์กับคดี เหลือ 4 ปี จำเลยที่ 3 ผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดรวมโทษจำคุก 9 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ 6 ปี และยกฟ้องจำเลยที่ 5-8 และ 14 เนื่องจากไม่มีหลักฐานให้เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย

หลังติดคุกได้ 3 ปีกว่า ผู้ต้องหาคดีระเบิดน้ำบูดูก็ทยอยพ้นโทษ (ได้เข้าเกณฑ์อภัยโทษ) ขณะนี้พ้นโทษมาแล้ว 4 ราย ยังเหลืออีก 5 รายที่เข้าเรือนจำทีหลังเนื่องจากได้ร่วมโครงการของศูนย์สันติสุขที่ค่ายอิงคยุทธฯ ตามคำแนะนำของนายทหารในพื้นที่ก่อนจะถูกนำตัวมามอบตัวที่กองปราบในเดือนพฤษภาคม 2560 และต้องถูกโทษเช่นเดียวจำเลยคนอื่นๆ

จากคดีกวาดจับหน้ารามฯ สู่คดีระเบิดน้ำบูดู ซึ่งเป็นคดีที่ถูกที่วิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง เพราะกระบวนการของฝ่ายความมั่นคงภายใต้กฎหมายพิเศษและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นที่กังขา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิทธิในการประกันตัว (ใช้เวลา 18 เดือนในการฝากขังนับแต่ผู้ต้องหาคนแรกถูกนำตัวมาฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือใช้เวลา 15 เดือนหลังจากที่อัยการยื่นฟ้องโดยไม่ได้สิทธิในการประกันตัว) พยานหลักฐานของโจทก์ที่หลายฝ่ายมองว่ายังอ่อน (ใช้เพียงการซัดทอดจากผู้ต้องหาด้วยกัน) การให้น้ำหนักกับผลการซักถามในค่ายทหารภายใต้กฎหมายพิเศษ (โดยในกระบวนการซักถามนั้นมีเพียงผู้ต้องหา ไม่มีทนายหรือญาติอยู่ด้วย)

อีกทั้งประเด็นเรื่องการซ้อมทรมานที่ไม่เคยถูกยอมรับว่ามีจริงจากรัฐ และการใช้เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของฝ่ายรัฐเกี่ยวกับรัฐปาตานีหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาถือเสมือนว่าเป็นข้อเท็จจริงเพื่อนำมาผูกโยงกับหลักฐานอื่นๆ ทำให้เห็นถึงภาพของกระบวนการยุติธรรมของรัฐที่มีปัญหาอย่างมากในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน


อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดในมหากาพย์คดีระเบิดน้ำบูดูผ่านคำสัมภาษณ์ประโยคหนึ่งของนางฮานีละห์ที่กล่าวว่า “สิ่งที่แม่คาดหวังมากที่สุดตอนนี้ คือ อยากให้ลูกพ้นจากการใส่ร้าย อยากให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมที่จริงใจที่สุด หากผิดจริงเราก็พร้อมรับผลที่จะตามมา แต่หากไม่ผิดก็อย่าใส่ร้ายกันเลย อย่ายัดข้อหาที่ลูกแม่ไม่ได้ทำเลย ถึงแม้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไรถ้าคุณจริงใจ ตรงไปตรงมา และตัดสินอย่างยุติธรรมจริง แม่ก็พร้อมที่จะรอ รับผลการตัดสินของศาล


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก:

[1] ความคืบหน้าคดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว “คาร์บอม” 9 จำเลยยังอยู่คุก https://prachatai.com/journal/2017/04/70904

[2] เลื่อนนัดพยานหลักฐาน คดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว ‘คาร์บอม’ เป็นปลาย ก.ค.นี้ https://prachatai.com/journal/2017/05/71379

[3] คดีกวาดจับหน้ารามฯ ญาติทวงกองทุนยุติธรรม-ยื่นคำร้องประกันตัว 6 เดือนไม่คืบ https://prachatai.com/journal/2017/05/71448

[4] เปิดใจแม่ผู้ต้องหาคดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว ‘คาร์บอม’ ปีที่แล้ว https://prachatai.com/journal/2017/09/73055

[5] เปิดตารางนัดสืบพยานคดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าวคาร์บอม เริ่ม 1 พ.ค. – 3 ส.ค.ปีหน้า https://prachatai.com/journal/2017/09/73141

[6] 8 ข้อสรุปคดี ‘ระเบิดน้ำบูดู’ หลักฐานอ่อน ซ้อมทรมาน คนจนชายแดนใต้ ฯลฯ ศาลนัดชี้ชะตา 25 ก.ย. นี้ https://prachatai.com/journal/2018/08/78227

[7] ‘คดีระเบิดน้ำบูดู’ ศาลระบุไม่มีหลักฐานซ้อม สั่งจำคุก 9 ยกฟ้อง 5 ทนายชี้หลักฐานมีแค่คำซักถามในค่ายทหาร https://prachatai.com/journal/2018/09/78847

[8] ศาลสั่งจำคุก 4-6 ปี คดีระเบิดน้ำบูดู และยกฟ้อง 5 จำเลย https://www.bbc.com/thai/thailand-45626501