กอ.รมน.ภาค4 สน. และ ศอ.บต. ร่วม 13 สถาบันการศึกษาพัฒนาชายแดนใต้ สร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์แก่ฅนรุ่นใหม่


เมื่อวานนี้ (15 กันยายน 2563) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (MOA) ระหว่าง ศอ.บต. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ 13 สถาบันการศึกษาและหน่วยงานด้านการศึกษา ณ ห้องประชุม Conference Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
.
นำโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ประจำวิทยาเขตยะลา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โรงเรียนเสนาธิการทหารบก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีพลเอกปราการ ชลยุทธ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและประสานความร่วมมือในการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต. ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 2561-2580 พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานวิชาการ การจัดการศึกษา พัฒนางานวิจัย นวัตกรรม ตลอดจนการส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ทางด้านพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงฯในครั้งนี้ว่า เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดวิกฤติความรุนแรง ความไม่สงบในพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 17 ปี ทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตและการสร้างความเจริญตามศักยภาพของพื้นที่ มีผู้เสียชีวิต 5,200 ราย บาดเจ็บ บอบช้ำ และสูญเสียกว่า 10,000 คน ซึ่งมีเงื่อนไขสาเหตุการก่อความไม่สงบในหลายมิติ อาทิ ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์มลายู และความศรัทธาตามหลักศาสนาที่ถูกนำมาบิดเบือน สู่การสร้างแกนนำและแนวร่วมก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานความมั่นคง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานด้านการพัฒนา ศอ.บต. จึงเห็นว่า มีความจำเป็นที่ต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจและปัญญา เป็นฐานในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ สานพลังวิชาการร่วมกับสถาบันการศึกษาในการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต. อย่างเป็นรูปธรรม
.
ทั้งนี้ ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ระบุ ให้หน่วยงานที่ข้องร่วมกันสร้างกลไกการขับเคลื่อนงาน โดยการรวมพลังของกระทรวง กรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (อคว.ชต.) และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (อขว.ชต.) นอกจากนั้นยังระบุ ให้ร่วมกันสร้างชุดความรู้ นวัตกรรมที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ร่วมกันพัฒนาศักยภาพคน ร่วมกันสร้างพื้นที่ต้นแบบสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วน และร่วมกันขับเคลื่อนความรู้และนวัตกรรมสู่นโยบายสาธารณะ เพื่อเพิ่มศักยภาพพื้นที่สู่สันติสุขอย่างแท้จริง