เดือนสิงหาคม 2020 สถานการณ์ปกติที่ไม่ปกติในปาตานี/จังหวัดชายแดนใต้

หลังวันรายอ อีดิลอัฎฮา ก็สิ้นเดือนกรกฎาคม และเริ่มเข้าเดือนสิงหาคม 2563 สถานการณ์การเมืองเริ่มร้อนระอุ เมื่อม็อบชุดมลายู ชูสามนิ้วไล่ลุงตู่ ที่กรือเซะ โดยกลุ่มเยาวชนปาตานี ต่างรวมตัวด้วยชุดรายอ บูดายอ-มลายู (การแต่งตัวตามอัตลักษณ์ วัฒนธรรมมลายูในพื้นที่ปาตานี) ได้รวมตัวกันจัดแฟลชม็อบ “ออแร ตานิง ตะเละห์ เอาะ” หรือ “ฅนปาตานีจะไม่ทน” ตั้งแต่ต้นเดือนในวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งพร้อมหนุนเสริมข้อเรียกร้อง 3 ข้อของประชาชนปลดแอก ชี้ไม่เอารัฐบาลเผด็จการ ย้ำประชาธิปไตยของไทยคือแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนใต้

ต่อมา ในวันที่ 3 สิงหาคม เกิดเหตุยิง ประชาชนเพศชาย อายุ 31 ปี เสียชีวิต ที่ตำบลลุโบะยิไร อ.มายอ จ.ปัตตานี ทราบชื่อคือนายมะแอ ลาเต๊ะ บาดแผลโดนยิงจำนวน 2 นัด บริเวณข้อศอกซ้าย และด้านหลัง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงแรกของเดือน

ในวันที่ 5 สิงหาคม ได้มีปฏิบัติการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง (อส.),อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัด จำนวนประมาณ 50 นาย มาปิดล้อมและควบคุมตัว(เชิญตัว) นายอับดุลเลาะ มะเกะ นักศึกษาชั้นปีที่4 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่บ้านของนายอับดุลเลาะ หมู่บ้านดาเราะห์มาเซ็ง(คูระ) ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ฯอ้างว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติด จากนั้นได้เชิญนายอับดุลเลาะไปที่ สภ.แม่ลาน เพื่อสอบปากคำ ซึ่งเจ้าหน้าที่กลับบอกว่าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงเกี่ยวข้องเหตุยิงทหารที่อำเภอสายบุรี เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะรถที่นายอับดุลเลาะใช้นั้นคล้ายกับรถผู้ก่อเหตุ รถเวฟ125i สีดำ ต่อมาหลังจากทำการสอบปากคำเสร็จสิ้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ทำการเก็บ DNA ของนายอับดุลเลาะ โดยสภาพจำยอมเพราะมีการกดดันโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “ให้ ๆ ไปเถอะ เรื่องจะได้จบ ๆ” พร้อมกับการยื่นเอกสารให้เซ็นชื่อการยินยอม 3ฉบับ ด้านนายอับดุลเลาะได้จำยอมเซ็นเอกสารด้วยสภาพบังคับ และหลังจากเสร็จสิ้นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ฯต้องการ ก็ได้ปล่อยให้นายอับดุลเลาะกลับบ้าน และมีการข่มขู่ไม่ให้เป็นข่าว และวันต่อมา 6 สิงหาคม 2563 นายอับดุลเลาะ ได้เดินทางไปยังศูนย์ทนายความมุสลิมเพื่อไปร้องทุกข์และบันทึกประจำวันเกี่ยวกับการโดนคุกคามและการโดนเก็บ DNA ทั้งหมดเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยและยืนยันความบริสุทธิ์ใจ

ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม มีรายงานในสื่อว่า กองทัพภาคที่ 4 เตรียมเสนอรัฐบาลให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ปัตตานี มีสองอำเภอ คือไม้แก่น,กะพ้อ พื้นที่จังหวัดยะลา มีอำเภอกาบัง และนราธิวาส อำเภอแว้ง นับเป็นข่าวดีของประชาชนในพื้นที่ปาตานีจังหวัดชายแดนใต้

ต่อมาในวันที่ 8 สิงหาคม เกิดเหตุ 2 เหตุ คือหนึ่งวางเพลิง เผายางรถจักรยานยนต์ บนถนน เส้นถนนสายยี่งอ – คอลอกาเว ระหว่าง หมู่ 1 – 4 ต.ยี่งอ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เหตุที่สอง ยิงทหาร วัย 56 ปี ได้รับบาดเจ็บที่ใบหูข้างซ้าย ริมถนนบาเจาะ – บ้านทอน บริเวณบ้านบูเก๊ะสูดอ ต.บาเร๊ะใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

วันที่ 9 สิงหาคม ได้มีการคุกคามผู้เข้าร่วมชุมนุมแฟลชม็อบคนปาตานีจะไม่ทน โดยทหารพรานได้มาเยี่ยมเป็นรายแรกและต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม เป็นวันเดียวที่เจ้าหน้าที่รุกเยี่ยมแกนนำและผู้ร่วมแฟลชม็อบปาตานีจะไม่ทนที่มัสยิดกรือเซะ มากถึง 6 ราย ส่วนวันที่ 12 สิงหาคม 2563 เจ้าหน้าที่(ทหารพราน) เข้าพบ คณะทำงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DeepSouthWatch) หลังไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมแฟลชม็อบที่จัดโดยเยาวชนปลดแอกและนักศึกษาปาตานี ที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมาอีกด้วย

ต่อมาเกิดเหตุวิสามัญฯจากการปะทะสามวันที่ยะรัง ซึ่งฝ่ายเห็นต่างจากรัฐเสียชีวิตทั้งหมด 7 ราย ระหว่างวันที่ 14-16 สิงหาคม เหตุปะทะบริเวณหมู่ที่ 2 ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของขบวนการปลดปล่อยเอกราชปาตานี นับตั้งแต่กรณีมะรอโซ เมื่อปีพ.ศ. 2556


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Duayjai Group กลุ่มด้วยใจ / เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ Jasad / Wartani / Mac Span / HAP / iLaw / ประชาไท prachatai.com

.