อดีตนายตำรวจใหญ่ชายแดนใต้ เสนอให้แยกงานสอบสวนออกจากมือตำรวจ เพราะผู้กระทำผิดกับผู้สอบสวนมีสีเดียวกัน หลายเคสศาลไม่สามารถเอาผิดได้ เผยตัวอย่างคดีตากใบเห็นชัดมากว่า ชาวบ้านถูกกระทำ แต่ผู้สอบสวนกับผู้กระทำ เป็นตำรวจด้วยกัน เลยมีการช่วยกัน ส่วนชาวบ้านตายไปก็ช่างมัน เสนอยกงานสืบสวนไปอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ต้องมีอิสระ ถ่วงดุลอำนาจกัน จึงจะเกิดความเป็นธรรม
แยกงานสอบสวนออกจากมือตำรวจ เพราะผู้กระทำผิดกับผู้สอบสวนมีสีเดียวกัน
พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม อดีตรองผู้บัญชาการ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 4 ที่ไม่เคยย้ายออกไปปฏิบัติหน้าที่นอกจังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดเผยข้อมูลจากประสบการณ์รับราชการอันยาวนานในพื้นที่แห่งนี้ว่า “หากจะทำการปฏิรูปตำรวจที่คาบเกี่ยวกับงานจังหวัดชายแดนภาคใต้จริงคงหนีไม่พ้นระบบกระบวนการยุติธรรมของตำรวจ หรือ งานสอบสวน เพราะมันส่งผลกระทบอย่างมากต่อปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
งานสอบสวนของตำรวจยังขาดความเป็นกลาง ขาดจิตสำนึก และไม่มีจริยธรรม แต่กลับมีอคติต่อชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ สังเกตเห็นหลายคดีที่ตำรวจกระทำความผิด ศาลกลับไม่อาจลงโทษได้ เพราะผู้กระทำความผิดกับผู้สอบสวนมีสีเดียวกัน หรือ เป็นพวกเดียวกัน หลายคดีที่เป็นคดีอาชญากรรม แต่เมื่อถึงกระบวนการสอบสวนของตำรวจไปจนถึงการตัดสินของศาลกลับกลายเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่สามารถลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดได้” พล.ต.จำรูญ กล่าว
คดีตากใบเห็นชัดมากว่า ชาวบ้านถูกกระทำ แต่ผู้สอบสวน กับผู้กระทำ เป็นตำรวจด้วยกัน
.
โดยอดีตรอง ผบก.ตชด.ภาค 4 ได้ยกตัวอย่างคดีตากใบที่มีพยานประจักษ์อย่างชัดแจ้งผ่านการฉายภาพเหตุการณ์ทางวีดีโอและช่องทีวีสาธารณะทั่วโลก แต่ผลการตัดสินของศาลระบุว่าเป็นการตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจ อีกทั้งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบของเจ้าหน้าที่
“คดีตากใบเป็นคดีที่คนทั้งโลกเห็นว่าตำรวจเป็นผู้ทำร้ายชาวบ้าน ในขณะที่ชาวบ้านรวมตัวกันประท้วงอย่างสงบหน้า สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ต่อด้วยการจับกุมโยนขึ้นรถทับซ้อนกันเป็นพันกว่าชีวิตจนมีการตายเกิดขึ้นเป็นจำนวนหลายสิบคน แต่ศาลกลับตัดสินการตายว่าเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและเป็นการตายเนื่องจากการขาดอากาศหายใจ
สรุปคือที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะกระบวนการยุติธรรมตอนต้นอยู่ในมือของตำรวจ ผู้สอบสวนกับผู้ถูกสอบสวนเป็นตำรวจด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ตำรวจต้องช่วยคนของรัฐก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ชาวบ้านตายไม่เท่ากับเจ้าหน้าที่รัฐตาย” พล.ต.ต.จำรูญ กล่าว
เสนอยกงานสืบสวนไปอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ต้องมีอิสระ ถ่วงดุลอำนาจกัน จึงจะเป็นธรรม
พล.ต.ต.จำรูญ เสริมว่า “หากจะแก้ปัญหานี้จะต้องยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปอยู่กับกระทรวงยุติธรรม สร้างสำนักงานสอบสวนที่ประกอบด้วยพนักงานสอบสวนทุกฝ่าย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นตำรวจ ไม่จำเป็นต้องมีชั้นยศ แต่ต้องมีความอิสระจึงจะเกิดความเป็นธรรมได้ ถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจกันและกัน” อดีตนายตำรวจใหญ่ชายแดนใต้ กล่าวทิ้งท้าย
*หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ประชาไท วันที่ 19-09-2017
https://prachatai.com/journal/2017/09/73300