วิถีมุสลิมและเงินหมุนเวียนในวันรายอกุรบ่านชายแดนใต้

ปีนี้สำนักจุฬาราชมนตรี ประกาศ ให้วันที่ ’10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ‘ วันรายอ อีดิลอัฎฮา ฮ.ศ.1441 ตรงกับ วันศุกร์ ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งสำหรับ ฮ.ศ.หรือ ฮิจเราะห์ศักราชนั้น นิยมใช้ในประเทศแถบตะวันออกกลางที่นับถือศาสนาอิสลามและชุมชนมุสลิม รวมทั้งปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยส่วนของจันทรคติใช้งานเฉพาะอ้างอิงวันสำคัญทางศาสนา หรือเทศกาลฉลองตามประเพณีดั้งเดิม เช่น ปฏิทินจีน ปฏิทินฮิบรู ปฏิทินฮินดู

สำหรับ อีดิลอัฎฮา (อาหรับ: عيد الأضحى‎) หรือ อีด กุรบ่าน (เปอร์เซีย: عيد قربان‎) ฅนมลายูปาตานีเรียก ฮารีรายอฮัจยี และฅนไทยมุสลิมเรียก วันอีดใหญ่ ตามปฏิทินอิสลาม อีดิลอัฎฮา อยู่ในวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ และมีระยะเวลารายอสามวัน

ในประวัติศาสตร์ของอิสลาม มีเรื่องราวของความภักดีที่ยิ่งใหญ่ต่อพระเจ้าของนบีอิบรอเฮมกับลูกชาย คือนบีอิสมาแอล หนึ่งในบททดสอบของอิบรอเฮมเพื่อทำตามคำสั่งของอัลลอฮ์คือเชือดพลีลูกชายที่รักของตนเอง ในระหว่างที่เตรียมตัวนั้น ชัยฏอน(ซาตาน) พยายามล่อลวงอิบรอฮีมและครอบครัวของท่านโดยการขัดขวางเขาจากคำสั่งของอัลลอฮ์ และอิบรอฮีมขว้างก้อนกรวดใส่มัน จึงเป็นที่มาของการระลึกถึงการปฏิเสธชัยฏอน ภายหลังได้มีการขว้างหินใส่เสาหินในช่วงการทำพิธีฮัจย์

เมื่อรู้ว่าอิบรอฮีมจะเชือดพลีในสิ่งที่ตนรักแล้ว อัลลอฮ์ทรงยกย่องทั้งอิบรอฮีมและอิสมาอีล ญิบรีลเรียกอิบรอฮีมว่า “โอ้ อิบรอฮีมเอ๋ย! “แน่นอน เจ้าได้ปฏิบัติถูกต้องตามฝันแล้ว” และส่งแกะตัวผู้จากสวรรค์มาเชือดแทนอิสมาอีล มุสลิมทั่วโลกฉลองอีดิลอัฎฮาเพื่อรำลึกถึงความจงรักภักดีของอิบรอฮีมและการรอดพ้นของอิสมาอีล อันเป็นที่มาของการทำกุรบ่านของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก เพราะวันอีดิลอัฎฮาเหมือนกับเป็นช่วงเวลาแห่งเทศกาลแห่งการประกอบพิธีฮัจญ์ด้วย

เรื่องราวนี้เป็นที่รู้จักในศาสนายูดายว่าการมัดอิสอัคซึ่งพบในคำภีร์โทราห์ หนังสือเล่มแรกของโมเสส (ปฐมกาล, ตอน 22)

คำว่า “อัฎฮา” แปลว่า เชือดสัตว์พลีทาน และยังเป็นวันที่มีการเฉลิมฉลองในการประกอบพิธีฮัจญ์ด้วย โดยในวันอารอฟะห์หรือวันที่ 9 เดือนซุลฮิจยะห์ตามปฏิทินของอิสลาม วันก่อนวันอีดิลอัฎฮาเพียงหนึ่งวันเป็นวันที่ชาวมุสลิมที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์จะต้องไปรวมตัวกันที่ทุ่งอาราฟะห์เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์เพื่อชำระบาปที่ได้กระทำความผิด

“กุรบ่าน” คือ การเชือดสัตว์ซึ่งได้แก่ แพะ แกะ วัว หรืออูฐ แจกจ่ายแก่ครอบครัว เครือญาติ ผู้ขัดสน หรือสังคม โดยสัตว์ที่นำมาเชือดจะต้องมีลักษณะสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่พิการ หรือมีตำหนิที่น่ารังเกียจ การเชือดสัตว์ หรือทำ “กุรบ่าน” เพื่อแจกจ่ายเนื่องในวันอีดิลอัฎฮานี้ แน่นอนเมื่อมีการเชือดสัตว์ก็ทำให้สัตว์ประเภทที่นิยมอันได้แก่ วัว เป็นที่ต้องการสูงของตลาด

สำหรับปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยนั้น มีเงินหมุนเวียนจากราคาวัวที่ใช้เพื่อกุรบ่าน ช่วงเทศกาลอีดิลอัฎฮา โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา หากกุรบ่านขั้นต่ำ หมู่บ้านละ 10 ตัว จากทั้งหมด 1,514 หมู่บ้าน ซึ่งคิดราคาเฉลี่ยตัวละ 25,000 บาท จะมีการใช้วัวเพื่อกุรบ่านทั้งหมด 15,140 ตัวต่อปี

โดยจะมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 378,500,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว (สามร้อยเจ็ดสิบแปดล้านห้าแสนบาท)

ส่วนสัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่านนั้นไม่ใช่เพียงแค่ วัว เท่านั้น แต่รวมถึงสัตว์อื่น ๆ ได้แก่ ควาย แพะ แกะ กีบัช อูฐ ซึ่งใช้ทำกุรบ่านได้ 7 ส่วน ดังนั้น จึงรวมกันทำ 7 คนต่อสัตว์ใหญ่ตัวเดียวก็ได้ หรือจะทำคนเดียวก็ยิ่งดี

วัว ควาย ต้องมีอายุ 2 ปีบริบูรณ์ ทำกุรบ่านได้ 7 ส่วน

แพะ ต้องมีอายุ 2 ปีบริบูรณ์ ทำกุรบ่านได้ 1 ส่วน

แกะและกิบัช ต้องมีอายุ 1 ปีบริบูรณ์ หรือเปลี่ยนฟันแล้ว ทำกุรบ่านได้ 1 ส่วน

สัตว์จะทำกุรบ่าน ต้องอ้วนสมบูรณ์ปราศจากสิ่งตำหนิหรือโรค ควรมีลักษณะสวยงามสง่า

สัตว์ที่ห้ามทำกุรบ่าน ได้แก่ สัตว์ที่เป็นโรค หรือพิการหรือไม่สมประกอบ เช่น ตาบอด หูแหว่ง เขาหัก ไม่มีฟัน แคระแก่น มีท้อง

เนื้อสัตว์ที่ทำกุรบ่านนั้น ให้แจกจ่ายแก่คนยากจนและเพื่อนบ้าน ควรเก็บไว้กินเองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นี่คือภาพรวมของวิถีมุสลิมกับอีดิลอัฎฮา

.