บุคคลสูญหายใน จชต. มีมากถึง 33 ฅน พบมากสุดในปี 2547, 2548, 2550 ตรงกับช่วงยุทธการพิทักษ์ชายแดนใต้

เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ภายในงานเปิดศูนย์ประสานงานคณะก้าวหน้าชายแดนใต้ มีวงเสวนา หัวข้อ “ความยุติธรรมที่เปลี่ยน (ไม่) ผ่านท่ามกลางผู้คนและหมุดที่สูญหาย ” อังคณา นีละไพจิตร เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาดังกล่าว

อังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในฐานะที่เคยทำวิจัยบุคคลสูญหายในประเทศไทย จะเก็บข้อมูลช่วงปี 2545-2554 ประมาณ 10 ปี โดยเก็บข้อมูลมาทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย พบทั้งหมดที 40 กรณี 59 ฅน

แต่วันนี้จะพูดถึงเฉพาะฅนที่ถูกอุ้มหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากข้อมูลที่บันทึกไว้บุคคลสูญหายในจังหวัดชายแดนใต้มีทั้งหมด 30 กว่าฅน ซึ่งบุคคลสูญหายทั้งหมดเป็นฅนมลายูมุสลิม แต่ไม่พบข้อมูลฅนไทยพุทธปรากฎขึ้นว่าสูญหาย
.
มี 16 ฅนที่สูญหายในจังหวัดยะลา 11 ฅนในจังหวัดนราธิวาส และ 6 ฅน ในจังหวัดปัตตานี การถูกอุ้มหายเกิดมากที่สุดในปี 2547, 2548 และ 2550 ตามลำดับ

ปี 2550 เป็นช่วงยุทธการพิทักษ์ชายแดนใต้ มีการคัดกรองแยกปลาออกจากน้ำ ซึ่งช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่มีบุคคลสูญหายมากที่สุด

80% ของบุคคลที่ถูกอุ้มหายจะมีอายุน้อยกว่า 40 ปี และ 45% ของบุคคลสูญหายจะมีอายุน้อยกว่า 30 ปี ส่วนมากจะอยู่ในช่วงวัยรุ่นไปถึงช่วงอายุ 40 ปี

และ 54% ของบุคคลที่สูญหายจะถูกลักพาตัวในที่สาธารณะ อาทิเช่น บังคับให้จอดรถแล้วนำตัวไป มีถูกลักพาตัวช่วงที่เขาไปละหมาดที่มัสยิด และมีถูกลักพาตัวไปในบ้านของเขาเอง มี 13% ถูกเชิญตัวไปเพื่อไปให้ข้อมูลที่หน่วยงานความมั่นคง และหลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับมาอีก

เราพบว่าการอุ้มหายเกิดขึ้นพร้อมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูแบบอื่นด้วย เช่น การควบคุมตัวโดยพลการ การจับกุมตัวโดยที่ไม่มีหมายจับ บางรายก็มีการถูกซ้อมทรมานไปด้วย

จากข้อมูลพบอีกว่า มี 5 กรณีที่ถูกเชิญตัวไปพบกับหน่วยงานความมั่นคงแล้วหายตัวไป กรณที่ 1 เป็นกรณีที่หลายฅนน่าจะเคยได้ยินมากที่สุด คือ กรณีที่มีเหตุการณ์เผาโรงเรียน และได้มีการจับกุมภารโรงโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา เขาถูกจับกุมและหายตัวไป

กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีแรกที่มีการนำขึ้นสู่ศาล เพราะครอบครัวได้ไปร้องเรียนที่ศาลตาม ป.วิอาญา มาตรา 90 ว่าด้วยการควบคุมตัวโดยไม่ถูกกฎหมาย แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับมีพยายานแจ้งศาลว่า ภารโรงฅนดังกล่าวได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว แต่กลับไม่ถึงบ้านจนถึงทุกวันนี้

ช่วงปี 2555 รัฐบาลมีนโยบายเยี่ยวยา ครอบครัวของเขาได้รับการเยี่ยวยาจากหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมด 7.5 ล้านบาท
.
นอกจากนั้นมีพบอีก 2 กรณี ที่หายตัวไปพร้อมกันหลายๆ ฅน เช่น กรณีหนึ่งนักศึกษา มอ.ปัตตานี ถูกอุ้มหายไปทั้งหมด 4 ฅน เรื่องเกิดขึ้นหลังจากมีฅนหนึ่งถูกจับกุมไปในข้อหาฆ่าลูกของตำรวจที่ปะกาฮะรัง จ.ปัตตานี

หลังจากนั้นศาลยกฟ้องเพราะเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำ ไม่นานเขาและเพื่อน 4 ฅน ถูกอุ้มหายไปทั้งรถและฅน ภายหลังจากวันนั้น 2 วัน ปรากฎว่ามีสัญญานโทรศัพท์ของ 1 ใน 4 ที่จังหวัดภูเก็ต แต่หลังจากตรวจสอบก็ไม่พบตัว ทั้ง 4 ฅน ก็ยังสูญหายจนถึงปัจจุบัน

และถ้าหากดูจากกรณีเหตุการณ์ปล้นปืน 4 ม.ค. 2547 ที่ค่ายปีเหล็ง จ.นราธิวาส มี 4 กรณีที่หายตัวไปหลังถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไป ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2547 หลังเหตุการณ์เกิดขึ้น 2 วัน มีการจับกุมผู้ชายฅนหนึ่งที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา หลังจากนั้นก็ไม่หายตัวไปจนถึงทุกวันนี้

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2547 มีกรณีการจับกุมเจ้าของร้านโทรศัพท์ที่ จ.นราธิวาส หลังมีการตรวจพิสูจน์พบว่า ซิมโทรศัพท์ที่ใช้ในการก่อเหตุน่าจะซื้อมาจากร้านนี้ เจ้าหน้าที่จึงทำการจับกุมเจ้าของร้านและฅนงานไปทั้ง 2 ฅน และปรากฎว่าทั้ง 2 ฅนก็หายตัวไปจนถึงวันนี้

กรณีที่น่าสนใจกรณีหนึ่งก็มีการจับกุมประชาชน 5 ฅน ในข้อหาปล้นปืนและเผาโรงเรียน ซึ่งกรณีนี้ทนายสมชาย นีละไพจิตร เข้ามาเป็นทนายความให้ หลังจากที่ท่านได้ไปเยี่ยมผู้ต้องสงสัยที่กองปราบและเรือนจำก็มีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำการซ้อมทรมานและมีบาดแผลปรากฎขึ้น

สมัยนั้นมีคณะ ส.ว. เข้าไปตรวจสอบ ประกอบด้วย หมอนิรันดร์ อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ คุณศักดิ์กร อดีตนายกสภาทนายความ อาจารย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ฯ ม.มหิดล และพบหลักฐานว่า “บุคคลเหล่านั้นถูกซ้อมทรมานจริง”

และหลังจากทนายสมชายเข้าไปช่วยเหลือ ปรากฎว่าทนายความก็ถูกอุ้มหายไปด้วยในวันที่ 12 มี.ค. 2547 ลูกความของทนายสมชายมีฅนหนึ่งที่ถูกยิงเสียชีวิต มีอีกฅนที่ยังอยู่ในเรือนจำ และที่สำคัญมีฅนหนึ่งที่เป็นพยานให้กับกรมคดีพิเศษ (DSI) หายตัวไป หลังจากที่เขากลับมาเยี่ยมบ้านภรรยาที่ จ.นราธิวาส

ทั้งที่เขาอยู่ในความคุ้มครองของพยาน DSI หลังภรรยาของเขาร่วมกับชาวบ้านออกไปตามหาพบเพียงแค่รถมอเตอร์ไซต์ในอีกอำเภอหนึ่ง แต่ไม่พบเจ้าตัว หลังจากนั้นปีหนึ่ง “ภรรยาของเขาก็ถูกยิงตัวเสียชีวิต”

พูดถึงภาพรวมจะเห็นว่า หลังเกิดเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่มักจับตัวบุคคลที่สงสัยมาสอบสวนโดยไม่มีหมายจับ และไม่มีหมายค้น หลังจากนั้นก็ปรากฎว่าหายตัวไป โดยเจ้าหน้าที่มักจะอ้างว่าได้ทำการปล่อยตัวไปแล้ว
.
ชมคลิปฉบับเต็ม : https://www.facebook.com/yalamovement/videos/563308994333431/

อ่านเพิ่มเติม :
หมุดหมายความขัดแย้งทางการเมืองชายแดนใต้ คือ จุดสำคัญในการคลายปม หากต้องการที่จะแก้ปัญหา
ทายาทหัวหน้าเสรีไทยภาคอีสานเผย การอุ้มฅนให้หาย เป็นวิธีการที่ผิดมนุษย์ จะรักษาอำนาจได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ลดทอนความเป็นมนุษย์