ประวัติศาสตร์ปาตานี ยังคงเป็นหนามทิ่มแทง ความมั่นคงไทย EP.2

.
The Motive ชวนผู้อ่านทุกท่านมาอ่านความคิดเห็นของนักกิจกรรมภาคประชาสังคมและว่าที่นักการเมืองในประเด็นการแต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ว่ามีความเห็นอย่างไร ซึ่งจากกระแสคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ลงวันที่ 9 ม.ค.66 แต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมด้านการเมือง ทำให้สังคมปาตานี/ชายแดนใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่โซเชียลมีเดียมีการถกเถียงแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ อันอาจจะเป็นข้อห่วงกังวลของภาคประชาสังคมในพื่นที่ที่มองประเด็นปัญหาต่อเรื่องนี้ว่าน่าจะบานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

.
ไพซู มามะ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ Camping นักกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรชุมชนและสิ่งแวดล้อมชายแดนใต้ มีความเห็นว่า “ผมมองว่าแต่งตั้งให้มีความชอบธรรมที่จะดำเนินคดีกับนักกิจกรรมและภาคประชาคมต่างๆในพื้นที่ปาตานี

หากดูคำสั่งแต่งตั้งในลักษณะนี้แล้วฝ่ายความมั่งชายแดนใต้ก็น่าจะรับคำสั่งหรือนโยบายจากส่วนกลางที่ผูกโยงถึงกับพรรคการเมืองบางพรรคที่มีอำนาจ และเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและเลือกปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นการสร้างเงื่องไขเพิ่มขึ้นมาในขณะที่ทุกฝ่ายพยายามค้นหาทางออกทุกวิธีการ แม้กระทั่งมีการพูดคุยระหว่าง BRN-RTG ในเรื่องสันติภาพ-สันติสุข

การที่ถูกเฝ้ามองติดตามเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรม ทำให้เสียหายมากกว่าผลดี อาจจะเป็นที่มาของความเคืองแค้นเป็นฟืนเป็นไฟ ที่พร้อมจะปะทุความขัดแย้งเพิ่มขึ้นก็เป็นไปได้ในอนาคต หวังว่าผู้เกี่ยวข้องคงจะไม่เลือกปฏิบัติและอธิบายอย่างมีเหตุและมีผล”

.
ด้านอานัส พงค์ประเสริฐ นายกสมาคมเดอะลุคเกอร์ กล่าวว่า “การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการบิดเบือนแต่เท่าที่ดูในลิสต์รายชื่อทั้งหมดมีแต่เจ้าหน้าที่ทหารกับตำรวจคนเหล่านี้ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์มีความรู้ด้านนี้เลย

การพยายามตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประเด็นเหล่านี้มันควรเป็นลักษณะเชิงสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่ในการหาความจริง เพื่อนำสู่ความรู้ที่ถูกต้อง

รัฐควรเข้าใจและมองปรากฏการณ์ทางสังคมในมิติการตื่นตัวตื่นรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ มันคือพลวัตทางสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ บรรยากาศที่คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจในเรื่องการศึกษาการเรียนรู้อัตลักษณ์ของตัวเองและไม่เลือกที่จะแช่แข็งประวัติศาสตร์ของตัวเอง รัฐต้องเปิดพื้นที่สังคมได้คิดเชิงวิพากษ์ไม่ใช่มาสุมไฟเพิ่มเงื่อนไขให้เพิ่มความขัดแย้ง”

ขณะที่มุสตาร์ซีดีน วาบา หรือ “แบมุส” ว่าที่ผู้สัมคร ส.ส.พรรคเป็นธรรม เขต 1 ปัตตานี มีความเห็นว่า “ตั้งแต่ไฟใต้รอบใหม่ปี 2547 ในฐานะตัวแทนครูคนหนึ่ง จะถูกเชิญบ่อยครั้งมากจากฝ่ายความมั่นคงเพื่อเข้าไปรับฟังการชี้แจงต่างๆ

กระบวนการรวมชาติคือหนึ่งในงานของฝ่ายความมั่นคงไทย ที่พยายามอธิบายเพื่อให้การพูดถึงประวัติศาสตร์ปาตานี เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ประเด็นการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบคนบิดเบือนประวัติศาสตร์มลายูปาตานีจากแม่ทัพ คงเป็นประวัติศาสตร์จากชุดความคิดการรวมชาติจากฝ่ายทหาร การไม่ให้พูดถึงประวัติศาสตร์บาดแผล การเล่าเรื่องกรือเซะให้เป็นนิยายปรัมปรา และข้อเท็จจริงอื่นๆที่ รัฐไทยและฝ่ายปาตานี ต่างมีข้อเท็จจริงที่ต่างกัน

ขอเสนอความคิดเห็นต่อคณะทำงานติดตามตรวจสอบคนบิดเบือนประวัติศาสตร์มลายูปาตานีชุดนี้ว่า ให้ใช้หลักวิชาการ และทำมันอย่างตรงไปตรงมา”

.
อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า “เป็นการคุกคามโดยทหารอย่างเห็นได้ชัด เป็นการใช้ SLAPP ในการคุกคามประชาชน ลิดรอนเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ที่สำคัญไม่มีมาตรฐานเปรียบเทียบในการพิสูจน์เรื่องประวัติศาสตร์”

.
#TheMotive
#POLITICS