3 กุมภา ถูกกำหนดเป็นวันมนุษยธรรมปาตานี เนื่องจากวิกฤตมนุษยธรรมที่มีนับไม่ถ้วน

.
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 พรรคเป็นธรรมได้มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการในประเด็นมนุษยธรรม เนื่องจากวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปีคล้ายเป็นวัน “มนุษยธรรมปาตานี” งานนี้มีนักมนุษยธรรมอย่างคุณกัณวีร์ สืบแสง อดีตหัวหน้าสำนักงานภาคสนาม สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมืองพร้อมลงสู้ศึกเลือกตั้งที่จะถึงนี้ มีอดีตแกนนำนักกิจกรรมนักศึกษาอย่างคุณฮากิม พงติกอ ที่เคลื่อนไหวต่อสู้ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนท้องถนนมาโดยตลอด แต่มาวันนี้เขาเลือกที่จะสู้บนเวทีสภาแทน และสุดท้ายคุณอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานองค์กรมวลชนอย่าง The Patani ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในพื้นที่ปาตานีแห่งนี้
.
กัณวีร์ สืบแสง อดีตนักมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการ พรรคเป็นธรรม อธิบายเกี่ยวกับคำว่ามนุษยธรรมอย่างเข้าใจได้ไม่ยากว่า “งานมนุษยธรรมเกิดขึ้นเนื่องจากมีคนไปลิดรอนสิทธิมนุษยชน มันเป็นสภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนเพื่อเข้าไปช่วยชีวิตคนที่หนีตายแล้วไม่ตาย หรือคนที่ถูกไล่ฆ่าแล้วหนีไปอาศัยประเทศคนอื่น ซึ่งตรงนี้เราจะต้องเข้าไปช่วยชีวิตเขา และต้องคิดต่อว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้เขาสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ต่อได้ในภาวะหลังจากหนีตาย
.
วันที่ 19 สิงหาคม 2546 คือวันที่ เซอร์จิโอ วีอีรา เดอมอลโล (Sergio Vieira de Mello) ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และผู้แทนพิเศษเลขาธิการ สหประชาชาติประจำประเทศอีรัก เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิด Canal Hotel Bombing ในขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศอิรัก
.
อีก 5 ปีหลังจากนั้น สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 19 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันมนุษยธรรมโลก หรือ World Humanitarian Day เพื่อรำลึกถึงผู้ที่อุทิศตน และพลีชีพให้กับการทำงานในด้านมนุษยธรรมอย่างเซอร์จิโอ
.
การทำงานในด้านมนุษยธรรมมีหลักการอยู่ 4 ประการ (1) ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (2) หลักความเป็นกลาง (3) หลักการจัดลำดับความสำคัญ และ (4) หลักการอิสรภาพที่จะไม่อิงผลประโยชน์ทางด้านการเมืองจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
.
ด้านฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า “วันมนุษยธรรมปาตานี หรือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ถูกกำหนดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์การสังหารหมู่ครอบครัวเจ๊ะมุ มะมัน ซึ่งภายหลังส่งผลให้ลูกชายของเขาทั้ง 3 คนเสียชีวิตอย่างหดหู่ เพราะเป็นเด็กชายอายุเพียงแค่ 6 ขวบ 9 ขวบ และ 11 ปี เท่านั้น
.
สืบทราบในภายหลังว่าผู้สังหารเป็นผู้ที่ถืออาวุธที่อยู่ในระบบการจัดการของรัฐ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภาครัฐโดยตรง แต่ก็ไม่สามารถเอาผิดได้
.
ความจริงแล้ววิกฤตการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ปาตานีมีให้เห็นอยู่มากมาย อาทิเช่น ภาวะที่ผู้ถือออาวุธอาศัยอยู่ในบริเวณที่เด็กกำลังใช้ชีวิตอยู่ มีการตั้งค่ายทหารภายในโรงเรียน หรือ ด้านนอกใกล้ๆ กำแพงโรงเรียน การตั้งค่ายอยู่ในโรงพยาบาล
.
ผู้นำศาสนา โต๊อีหม่าม เจ้าอาวาส ครูผู้สอน เจ๊ะฆูตาดีกา ถูกสังหารกันไปมา ผู้ลี้ภัยในต่างประเทศอย่างมาเลเซีย ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตทั้งจากภาครัฐในประเทศมาเลเซียและไทย เด็กขาดสิทธิด้านการศึกษา การนำผู้นำชุมชนมาเป็นโล่มนุษย์ หรือแม้แต่การเก็บดีเอ็นเอเด็กที่พึ่งคลอด ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไปละเมิดด้านมนุษยธรรม

หรือแม้แต่การใช้งานตำรวจไม่ถูกที่ถูกทาง ทั้งที่ตำรวจไม่ควรเป็นคู่ขัดแย้งหลักของคู่ขัดแย้งที่ถืออาวุธทั้งสองฝ่าย เพราะตำรวจมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน แต่เมื่อรัฐนำตำรวจมามีส่วนเกี่ยวข้อง ตำรวจเลยกลายเป็นเหยื่อไปด้วย
.
เห็นได้ว่าวิกฤตเหล่านี้มันเกิดจากกฎมายพิเศษหลายฉบับที่บังคับใช้ในพื้นที่ โดยเฉพาะกฎอัยการศึก กฎหมายล้าหลังร้อยกว่าปี เป็นตัวเปิดอำนาจทหารนำไปสู่การละเมิดด้านมนุษยธรรม ดังนั้น หากพรรคเป็นธรรมได้เป็นรัฐบาล เราจะเสนอยกเลิกกฎหมายพิเศษเหล่านี้ให้หมด รวมทั้งการให้ความคุ้มครองกับผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ และคุ้มครององค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศในพื้นที่แห่งนี้
.
อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่วันรำลึกการเสียชีวิตของเด็กชายอิลยาส มะมัน เด็กชายบาฮารี มะมัน และเด็กชายมูยาเฮด มะมัน แต่เป็นวันที่ทำให้คนนึกถึงชาวปาตานีที่อยู่ในสถาการณ์ด้านมนุษยธรรมที่มันเลวร้ายอย่างไร เนื่องจากวันนี้ทุกคนรับรู้ถึงความเจ็บปวดเมื่อเด็กถูกกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมเหมือนกันหมด
.
เหตุการณ์นี้สามารถจับผู้กระทำผิดได้ แต่กลับถูกทำให้เป็นเรื่องส่วนตัวไป ผู้สังหารเด็กทั้งสามคนนี้เป็นทหารพราน แต่ถูกทำให้กลายเป็นอดีตทหารพราน ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่ฝ่ายรัฐไทยรู้ว่าตัวเองถูกสังคมจับได้ว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ละเมิดด้านมนุษยธรรมในลักษณะนี้ คนทำก็จะกลายเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐทันที
.
#TheMotive
#POLITICS