ประวัติศาสตร์ปาตานี ยังคงเป็นหนามทิ่มแทง ความมั่นคงไทย EP.1

.
จากกระแสคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ลงวันที่ 9 ม.ค.66 แต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมด้านการเมือง โดยให้อำนาจคณะทำงานที่เป็นทหารตำรวจทั้งชุดนั้นเป็นที่ไม่พอใจต่อสังคมในพื้นที่โซเชียลที่อย่างยิ่ง ต่างก็ให้ความเห็นในทางลบว่าเป็นการผูกขาดชี้ถูกผิด ทั้งที่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของหลักฐาน ไม่มีใครสามารถผูกขาดความถูกต้องได้เพียงผู้เดียว หรือแม้กระทั้งประวัติศาสตร์เป็นหน้าที่ของสังคมและนักวิชาการจะต้องมาถกเถียงกัน แต่ใช่หน้าที่ของทหารหรือไม่ รวมไปถึงเงื่อนไขการปราบปรามเหล่านี้ยิ่งจะเพิ่มเชื่อไฟให้รอวันปะทุขึ้นมาไม่จบไม่สิ้น
.
The Motive ชวนผู้อ่านทุกท่านมาอ่านความคิดเห็นของนักกิจกรรมภาคประชาสังคมและว่าที่นักการเมืองในประเด็นการแต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ว่ามีความเห็นอย่างไร
.
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปาตานีเผย รัฐควรหนุนเสริม ไม่ใช่ปราบปราม เพราะความเป็นตัวตนไม่ควรซ่อนไว้ใต้พรม ว่าที่ผู้สัมคร ส.ส.พรรคเป็นธรรม เขต 4 ปัตตานี แจง การจำกัดเสรีภาพ เป็นการสะสมความรู้สึกไม่พอใจต่อรัฐโดยใช่เหตุ ด้านตัวแทนคณะจัดทำบอร์ดเกมส์ “Patani Colonial Territory” ระบุข้อมูลประวัติศาสตร์ควรให้นักวิชาการและสังคมถกเถียงกันเอง ไม่ใช่ให้อำนาจทหารมาชี้ถูกหรือผิด ในส่วนสุไฮมี ซัด ยุบ กอ.รมน. ยกเลิกกฎหมายพิเศษ สามารถลดเงื่อนไขความขัดแย้งแน่นอน
.
รัฐควรหนุนเสริม ไม่ใช่ปราบปราม ความเป็นตัวตนไม่ควนซ่อนไว้ใต้พรม
.
ฮาซัน ยามาดีบุ นักวิชาการท้องถิ่นปาตานีด้านประวัติศาสตร์คาบสมุทรมลายู ซึ่งเป็นนักบรรยายประวัติศาสตร์มลายูปาตานีผ่านเพจเฟสบุ๊ก “Salasilah Patani – ประวัติศาสตร์มลายูปาตานี”
.
ในประเด็นการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมด้านการเมือง โดยหน่วยงานความมั่นคง หรือ หน่วยงานทหารในพื้นที่ แน่นอนกระทบต่อกิจกรรมของฮาซันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นหมายถึงฮาซันอาจเป็นคนหนึ่งที่ถูกเพ่งเล็งเพื่อเอาผิดทางด้านกฎหมายไปด้วย
.
ประเด็นนี้ฮาซัน ให้ความเห็นว่า “การที่เขาจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการจัดทริปทัศนศึกษาเรียนรู้สถานที่ประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงนั้นมันเป็นสิทธิที่พึ่งกระทำได้ตามกฏหมาย แต่เมื่อ กอ.รมน.มีการสั่งออกมาอย่างนี้ มองว่ามันสวนทางกับกระบวนสันติภาพที่ทุกภาคส่วนกำลังพยายามสรรสร้างขึ้น
.
ทั้งที่รัฐควรหนุนเสริมให้พวกเขาภาคภูมิในความเป็นตัวตนของตนเอง แทนที่จะเก็บซ่อนมันใต้พรมเหมือนในอดีต เพราะประสบการณ์มันสอนให้เราเรียนรู้ว่าการซ่อนความเป็นตัวตนของเขานั้นมีแต่จะรอก่อปัญหาการงัดข้อปะทุขึ้นมาอยู่ตลอดเวลาไม่จบไม่สิ้น ยิ่งห้ามปราม หรือยิ่งปราบปราม คนเขาก็จะยิ่งแข่งข้อและพร้อมที่จะลุกสู้อยู่ตลอดเวลา
ซึ่งมองว่ามันจะบานปลายเหมือนอดีตที่ผ่านมาอย่างแน่นอน”

.
การจำกัดเสรีภาพ เป็นการสะสมความรู้สึกไม่พอใจต่อรัฐโดยใช่เหตุ
.
ด้านมูฮัมหมัดกัสดาฟี กูนา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 จังหวัดปัตตานี พรรคเป็นธรรม ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “การออกคำสั่งเช่นนี้มุ่งเป้าหมายไปที่การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของคนมลายูในพื้นที่อย่างชัดเจนและก่อนหน้านี้มีให้เห็นอยู่เป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น เคยมีข่าวหน่วยงานความมั่นคงบุกร้านกาแฟในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โดยยึดการ์ดเกม “Patani Colonial Territory” ไปแต่ไม่สามารถอธิบายหลักการทางกฎหมายได้ว่าผิดกฎหมายในมาตราใด ครั้งนั้นกระแสในพื้นที่ตื่นตูม ชวนกันตั้งคำถามในสังคมว่า สิทธิในการเล่นบอร์ดเกมส์กลายเป็นภัยความมั่นคงไปแล้วหรือ
.
ซึ่งครั้งนั้นก็เงียบไป ไม่มีการอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น แต่กลับมาสร้างเรื่องใหม่ขึ้นมาอีก ตนมองว่ามันเป็นการสะสมความรู้สึกไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ หรืออาจเป็นการสร้างกำแพงความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจขึ้นมาอีกระดับ อาจมีปัญหาต่อการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานรัฐในอนาคตที่อาจจะส่งผลต่อทีมกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่าง RTG – BRN ที่ดำเนินการอยู่ปัจจุบันไปด้วย”
.
ข้อมูลประวัติศาสตร์ควรให้นักวิชาการและสังคมถกเถียงกันเอง ไม่ใช่ให้อำนาจทหารมาชี้ถูกหรือผิด
.
อารีฟิน โสะ หนึ่งในคณะจัดทำบอร์ดเกมส์ “Patani Colonial Territory” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักรปาตานีไม่ให้สูญหาย แสดงทัศนะต่อประเด็นนี้ว่า “การตั้งคณะกรรมการชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้นเกินของอำนาจทหารต่อสังคมเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านอำนาจหน้าที่ของทหารที่ควรจะเป็นรั้วของชาติ แต่กลับต้องติดตามตรวจสอบประชาชน เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
.
เรื่องข้อมูลทางประวัติศาตร์ควรให้กลไกปกติดำเนินของมันไป ให้สังคมนักวิชาการ ค้นหาข้อมูล ถกเถียงด้วยวิจารณญาณ ไม่ใช่ให้อำนาจรัฐมาบอกว่าอะไรถูกหรือผิด
.
ในด้านการติดตามกิจกรรมทางการเมืองของภาคประชาชนคือความล้มเหลวในระดับนโยบายในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นการทำลายลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสวงหาทางออกสู่สันติภาพ หรือรัฐไทยจงใจเลี้ยงไข้ความขัดแย้งต่อไปไม่สิ้นสุด
.
การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของสังคมนี้ และเป็นตัวอย่างปรากฏการณ์ที่ดีที่ชี้ชัดว่าประเทศไทยต้อง “ปฎิรูปกองทัพ” ให้เป็นทหารอาชีพเสียที
.
ยุบ กอ.รมน. ยกเลิกกฎหมายพิเศษ สามารถลดเงื่อนไขความขัดแย้ง

ปิดท้ายด้วย สุไฮมี ดูละสะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จังหวัดปัตตานี พรรคเป็นธรรม เสนอว่า “ในทางนโยบายการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบที่เป็นทหารเกือบทั้งทีม เพื่อมา “จับผิด” ในประเด็นนี้มีเหตุผลเพียงพอแล้วที่จะผลักดันกฎหมายให้ยุบ กอ.รมน ยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ และถอนทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่ มันสื่อถึงความโง่เขลา เบาปัญญาในการจัดการปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่อย่างชัดแจ้ง ซึ่งมีไว้ก็มีแต่จะสร้างเงื่อนไขเพิ่มมาอยู่ตลอดเวลา
.
ทั้งที่ด้านกฎหมายก็ระบุในรัฐธรรมนูญชัดเจนว่า สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามมาตรา 43 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ และมาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” ซึ่งนี่คือหลักประกันที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอณาจักรไทย และพวกเราก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือเราเป็นอื่นที่ต้องไปใช้กฎหมายอื่นแทน
.
เป็นที่แน่นอนและชัดเจนแล้วว่า การยุบ กอ.รมน การยกเลิกกฎหมายพิเศษ และการถอนทหารออกจากพื้นที่เป็นสิ่งที่จำเป็น แล้วใช้นโยบายจังหวัดจัดการตนเอง หรือ ปาตานีจัดการตนเองแทน มองว่าเป็นทางออกของการสร้างสันติภาพปาตานีอย่างถาวรได้