กมธ.กฎหมายฯ มีมติส่ง ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ให้สภาพิจารณา


วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่านการพิจารณาและรับร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … (ร่างฯ ฉบับกมธ.) เพื่อเข้าสู่กระบวนการขั้นต่อไปในสภาฯ


ร่างฯ ฉบับกมธ. เป็นผลลัพธ์จากความร่วมมือระหว่างองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน รวมไปถึงนิติกรสิทธิมนุษยชนผู้ชำนาญการ ที่มีความเห็นร่วมกันว่าควรมีกฎหมายอนุวัติการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) ที่ได้ให้สัตยาบันไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ที่ลงนามไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555


ร่างฯ ฉบับกมธ. มุ่งกำหนดกฎหมายที่ครอบคลุมบริบทของการเข้าถึงความยุติธรรม การชดเชย เยียวยา จากการถูกทรมานและถูกกระทำให้สูญหายในทุกมิติ โดยมีจุดประสงค์คือการกำหนดให้การทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม กำหนดให้มีกลไกป้องกัน ปราบปรามการกระทำดังกล่าว เพื่อลบล้างวัฒนธรรมที่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล (impunity) กำหนดให้มีกลไกตรวจสอบความโปร่งใสและความรับผิดชอบ รวมทั้งการป้องกันการทรมานและอุ้มหาย เช่น การกำหนดให้ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิได้รับการเยี่ยมจากญาติหรือกรรมการที่เป็นอิสระ ให้พบและปรึกษาทนายความ ให้มีการบันทึกสถานที่และสภาพร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัว มีกลไกการร้องเรียนหากถูกทรมาน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะถูกคุมขังโดยเจ้าหน้าที่หน่วยใดหรือภายใต้กฎหมายฉบับใดก็ตาม อีกทั้งยังชดเชย เยียวยาผู้เสียหาย โดยได้ขยายนิยามของ “ผู้เสียหาย” ให้รวมไปถึง คู่สมรส ผู้สืบสันดาน บุพการี คู่ชีวิต และญาติผู้เสียหาย ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ทำให้กลุ่มคนดังกล่าวสามารถฟ้องคดีแทนเหยื่อได้ ในส่วนของอายุความ ไม่ให้นับอายุความจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ที่ถูกกระทำให้สูญหาย นอกจากนี้พลเมืองดีที่แจ้งหรือร้องเรียนกรณีอุ้มทรมานหรืออุ้มหาย หากกระทำโดยสุจริตก็จะได้รับการคุ้มครองพยานด้วย


ทั้งนี้ร่างฯ ฉบับกมธ. ใช้ร่างฯ ฉบับประชาชนเป็นฐาน โดยตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนยื่นร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับประชาชนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ต่อมามีการพิจารณาและปรับปรุงร่างฯ ในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในวันที่ 17 และ 25 มิถุนายน 2563 และในขณะนี้ กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน มีมติเห็นชอบร่างฯ ฉบับกมธ. โดยกระบวนการต่อจากนี้จะเป็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ ประกอบกับฉบับของกระทรวงยุติธรรมและพรรคการเมืองต่าง ๆ และนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป


วิสัยทัศน์ร่วมของคณะกรรมาธิการฯ ที่เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิประชาชนเช่นนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่สะท้อนว่าผู้แทนราษฎรตระหนักถึงปัญหาอันเกิดจากการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และมีความพยายามในการผลักดันกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ความคืบหน้าในการผลักดันกฎหมายดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความสัมฤทธิ์ผลของระบอบประชาธิปไตยที่เคารพเสียงและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

.
ร่าง พ.ร.บ.จะถูกนำมาพิจารณาร่วมกันในสภาผู้แทนราษฎรใน 3 วาระด้วยกัน
1. วาระที่หนึ่ง เรียกว่า ‘ขั้นรับหลักการ’ เป็นการพิจารณาหลักการของร่างกฎหมาย โดยผู้เสนอร่างกฎหมายจะมาชี้แจงหลักการและเหตุผลประกอบ ความจำเป็นที่ต้องออกกฎหมาย
2. วาระที่สอง เรียกว่า ‘ขั้นกรรมาธิการ’ เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตรา อาจเพิ่ม ตัดทอนหรือแก้ไขบางมาตรา หรือบางถ้อยคำให้สมบูรณ์ขึ้น แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักการของร่างกฎหมายฉบับนั้น
3. วาระที่สาม เรียกว่า ‘ขั้นลงมติเห็นชอบ’ เป็นการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ ไม่มีการอภิปรายใดๆ และจะแก้ไขข้อความใดๆ ไม่ได้ ถ้ามีมติเห็นชอบก็จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา แต่ถ้าไม่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. นั้นก็เป็นอันตกไป

.
ข้อมูล :
Cross Cultural Foundation (CrCF)
Rangsiman Rome – รังสิมันต์ โรม