‘BLOOM’ โชว์ของดีในปาตานี ครั้งแรกที่จัดแบบ “Virtual”

ลมพัดเอื่อย ๆ ริมแม่น้ำปัตตานีกับบรรยากาศที่ย้อนยุค ณ ถนนบริเวณชุมชนกือดาจีนอ หรือ ชุมชนตลาดจีน ในพื้นที่ของถนน 3 เส้นด้วยกัน คือ ถนนอาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนฤาดี แม้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย พื้นที่ในเมืองปัตตานีได้ห่างหายจากงานกิจกรรมมาสักพัก ทำให้พื้นที่นี้ที่เคยคึกคักไปด้วยงานกิจกรรมทางสังคมกลับเงียบเหงาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

กระนั้นสัญญาณบวกของความมีชีวิตชีวาในเมืองปัตตานีกำลังจะกลับมา เพราะระหว่างวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 11-12 กันยายน 2564 ทางกลุ่มมลายู ลิฟวิ่ง (Melayu Living) ได้จัดงานนิทรรศการเสมือนจริง ดูผ่านออนไลน์ และแบบ Onsite ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ท้าทายสถานการณ์โควิดอย่างมาก นั่นคือ โครงการ BLOOM DEEP SOUTH IDENTITY PRODUCT
.
The Motive ได้ชวนสนทนากับ ราชิต ระเด่นอาหมัด ตัวแทนทีมงาน BLOOM DEEP SOUTH IDENTITY PRODUCT อันเป็นงานที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ซึ่งราชิตแอบกระซิบว่าความตั้งใจเดิมจะตั้งชื่องานแค่คำเดียว “BLOOM” เท่านั้น เนื่องจากต้องการเปลี่ยนภาพจำเชิงสัญลักษณ์ที่คนจำแต่เสียงระเบิด “BOOM
.
ราชิต เล่าว่า ตอนนั้นกรรมการที่รับสมัครโปรดักส์ก็มีเกณฑ์ว่า ต้องอยู่ใน 4 หมวด เช่น หมวดอาหาร หมวดเครื่องดื่ม หมวดของใช้ของที่ระลึก และหมวดการท่องเที่ยวชุมชน ผลคือมีผู้ประกอบการท้องถิ่นเฉพาะในสามจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาสส่งผลิตภัณฑ์เข้ามาสมัครมากถึง 50 กว่าทีม ซึ่งกรรมการก็จะมาคัดกันอีกที จนกระทั่งได้ 23 ทีมที่มาจัดแสดงวันนี้

หลังจากคัดมาเรียบร้อย 23 ทีม ได้แก่ ทุเรียนกวนบังเลาะ, บ้านขนมบุหงาตานี, จันทร์เสวย, ส้มแขกบ้านทรายขาว, Be fish, beesukhirin, BARAHOM, kattalee, กระจูดรายา, adelkraft, raskkayii, Bangpuamazingtour, centralphamacybetong, concurpatchwork, sureeya, riddygoatsteak, thegardencamp, lavalaweng, kalabhai, Design by fir, nanahandcraft, kresekbettafarm, และ สภากาแฟ 36 ทางผู้ประกอบการก็จะเข้าอบรมกับ NIA ในเรื่องของการทำ “ดิจิตอล มาเก็ตติ้ง”(Digital Marketing – เป็นการทำการตลาดผ่านสื่อดิจิตอลหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) การทำ “สตอรี่ เทลลิ่ง”(Storytelling ศิลปะการเล่าเรื่องที่มีที่มาที่ไป มีจุดเริ่มต้น และ จุดเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน)
.
จากนั้นทีมในพื้นที่ซึ่งเป็นทีมพัฒนาโปรดักส์ ก็จะมาคุยต่อกับผู้ประกอบการว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างไรบ้าง และกระบวนการสุดท้ายคือการจัดแสดง Exhibition ด้วยเป้าหมายในการกระตุ้นการรับรู้ การสร้างโอกาสทางด้านธุรกิจ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการขยายผลเชิงพาณิชย์
.
“มันเหมือนเป็นบทสรุป ที่เราอยากจะโชว์ให้ทั้งคนในพื้นที่และคนจากที่อื่น เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันมีของดีอยู่เยอะ เพียงแต่ว่า บางอย่างมันต้องมาจูนกันนิดหน่อย เพื่อให้มันดูสะดุดตาขึ้นมา หรือการทำ Storytelling พูดถึงเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ให้มันดูน่าสนใจขึ้น” ราชิต บอกถึงความตั้งใจของงานนี้

สำหรับปัญหาและอุปสรรคสำคัญของโครงการนี้ ราชิตบอกคำแรก “โควิด” เพราะเดิมทีมงานต้องลงพื้นที่ แต่บางพื้นที่มันลงไม่ได้เพราะมีการปิดหมู่บ้าน ทีมงานก็ต้องใช้วิธการสื่อสารอย่างอื่น เช่น โทรศัพท์คุยกัน วีดีโอคอล โปรแกรม ZOOM เพื่อคุยงานกับผู้ประกอบการ และการจัดแสดงนิทรรการ ก็จะจัดแบบ Onsite คือฅนเข้ามาเดิน มาดูได้ แต่เมื่อสถานการณ์โควิดหนักหนาแผนสำรองก็คือ นิทรรศการเสมือนจริง ดูผ่านออนไลน์ คนก็จะได้ดูในรูปแบบ Virtual Exhibition ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดในปัตตานี
.
ราชิต เชื่อว่า สิ่งที่ชุมชนหรือสังคมในปาตานี จะได้จาก BLOOM DEEP SOUTH IDENTITY PRODUCT คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในจชต.ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการก็จะมีความมั่นใจว่าโปรดักส์ของตัวเองว่าดี มีคุณภาพ แม้ว่าโครงการครั้งแรกนี้อาจจะเป็นการโปรโมทก่อนก็ตาม แต่เมื่อคนนอกมาซื้อแล้วบอกต่อว่าที่นี่มีของดี อันนี้ชุมชนได้ประโยชน์แน่นอน
.
หมายเหตุ : ฝากติดตามงานที่เพจ https://www.facebook.com/BloomDeepSouth/