มลายูคือตัวตนของชาติพันธุ์

การกล่าวปาฐกถาโดย Dr.Abdul Rahman Dewani (Ucap Utama – Bahasa Melayu) ด้วยภาษามลายู ใน SCENARIO PATANI 2022 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565

ถอดความโดย : Abdulloh Wanahmad

ขอความสันติจงประสบแด่ท่าน

ขอบพระคุณทางผู้ดำเนินรายการและเจ้าภาพในความพยายามที่ได้จัดเสวนาอันคุณค่าและสำคัญยิ่งนี้ โจทย์ที่ถูกมอบหมายเป็นที่สะกิดใจและความรู้สึกยิ่งนักและไม่ง่ายนักที่จะกล่าวถึงได้อย่างเต็มปากเต็มคำ/ตรงไปตรงมา อย่างไรเสียยังมีความโชคดีอยู่บ้างที่ทางผู้ชมและผู้รับฟังอาจสามารถเห็นภาพจากหัวข้อที่กำหนดนั่นก็คือ SCENARIO PATANI (ภาพอนาคตปาตานี) – ด้านการเมืองและการปกครอง – ด้านเศรษฐกิจ – ด้านอัตลักษณ์/ภาษาและวัฒนธรรม – ด้านกระบวนการสันติภาพ

I – “ทำไมเจ้าถึงกดขี่มนุษย์ แท้จริงแล้วพวกเขาเกิดมาจากท้องมารดาในสภาพที่เสรี” (อุมัร อิบนุลคอฏฏอบ)

เป็นที่ทราบกันดีว่าแผ่นดินคาบสมุทรดอกไม้(Tanah Setanjung Bunga)แห่งนี้ได้เป็นที่รู้จักของนานาอารยะประเทศในชื่อ Patani Darussalam แผ่นดินคาบสมุทรดอกไม้แห่งนี้ ไม่ได้เพิ่งกำเนิดและไม่ได้เพิ่งเป็นที่รู้จักไม่ แผ่นดินที่มีนามว่า ฟาฏอนีดารุสสาลามแห่งนี้คือประเทศหนึ่งที่เคยมีอธิปไตย มีรัฐบาล และมีสุลต่านสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ชื่อดังกล่าวยังถูกนำมาใช้จนถึงบัดนี้ ซึ่งพลเมืองมีชาติพันธุ์มลายูและนับถือศาสนาอิสลาม มีภาษามลายูตัวเขียนยาวีที่เป็นอัตลักษณ์แห่งภูมิบุตรา (ภูมิบุตร หรือ ภูมิปุตรา (มลายูBumiputera, บูมีปูเตอรา; แปลว่า “ลูกของแผ่นดิน”) หมายถึงชาวมลายูดั้งเดิม อันรวมถึงชาวโอรังอัซลี (Orang Asli)​ ซึ่งเป็นชาวเผ่าดั้งเดิมของคาบสมุทรมลายู -กองบรรณาธิการ)

บัดนี้พลเมืองแห่งภูมิบุตรถูกกลืนกลายโดยผู้มีอำนาจ

II – มลายูคือชาติพันธุ์หนึ่งที่ถูกรับรองจากนานาอารยะ ที่เคยมีอธิปไตยสืบทอดกันมา ประวัติศาสตร์ได้เผยให้เห็นในห้วงสมัยแห่งความรุ่งเรือง ทั้งความสัมพันธ์ในด้านการค้าและทางการทูตกับนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทวีปเอเชียตลอดจนยุโรปรวมถึงประเทศจีน อินเดียแห่งภูมิภาคเอเชียและฮอลแลนด์ อังกฤษ โปรตุเกสแห่งทวีปยุโรป

ดังนั้นเราไม่ค่อยแปลกใจ ที่บางส่วนในหมู่พวกเขาได้ตั้งรกรากและมีครอบครัวบนแผนดินแห่งอัญมณีแห่งนี้ ก็เพราะว่าแผ่นดินคาบสมุทรดอกไม้แห่งนี้ค่อนข้างมีความอุดมและมั่งคั่ง ด้วยผู้ปกครองที่ทรงธรรมและเปิดกว้างสำหรับความมั่งคั่งของชาติ และกลายเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า เราสามารถดำรงอยู่ร่วมกันและผนึกรวมกันของวัฒนธรรมอย่างเสมอภาคนับตั้งแต่หลายยุคสมัย จากคนหลากหลายเชื้อชาติบนผืนแผ่นดินอัญมณีแห่งนี้

บทสรุปสำหรับภาพอนาคตด้านการปกครองของปาตานี

  • ทุกชนชาติมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตน ในการนี้ความปรารถนาของพลเมืองแห่งภูมิบุตรควรจะเป็นตัวชี้วัดในการนำพาชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาหรือในนิยามอื่นสามารถที่จะเปรียบเปรยกับขนาดเสื้อของผู้หนึ่งไม่อาจที่จะสวมใส่สำหรับคนทุกคนได้ เช่นเดียวกับนโยบายต่างๆ ที่บังคับใช้กับประชาชนที่ขัดกับหลักความเป็นอยู่ของภูมิบุตร ที่มักจะเกิดสภาวะการบังคับที่ก่อให้เกิดการกดทับตามมา
  • ทางออกที่ดีเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินคาบสมุทรดอกไม้แห่งนี้ อำนาจส่วนกลางควรที่จะสร้างการมีส่วนร่วมและสอบถามความต้องการของประชาชน นี่คือการแก้ปัญหาที่ครอบคลุม

B- ภาพอนาคตปาตานีในด้านเศรษฐกิจ

โลกไม่เคยหยุดนิ่ง ณ ที่ต่างๆ เรามักจะได้ยินสงครามระหว่างผู้ที่แกร่งกว่าจะรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า ง่ายๆ ก็คือก็เพราะผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ด้านการเมือง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งของแผ่นดินคาบสมุทรดอกไม้ที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ หากกระจายกันอย่างทั่วถึง  แน่นอนพลเมืองแห่งภูมิบุตรสามารถที่จะลิ้มรสและสัมผัสกับความสุขีของชีวิตและความสุขสบายที่เป็นของเรา ความมั่งคั่งจักสัมผัสได้โดยเจ้าของด้วยตัวเอง

(มีประโยคโบราณหนึ่งของผู้เฒ่าได้กล่าวว่า : เมื่อสมัยก่อน : แผ่นดินระเบียงมักกะฮ์แห่งนี้ ไก่ออกไข่วันละ 2 ครั้ง)

ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า แผ่นดินที่อยู่ที่อาศัยของชนชาวมลายูแห่งนี้คือแผ่นดินที่มีความอุดม มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีน้ำมัน แร่ น่านน้ำ และขุนเขา ที่สามารถดูแลประชากรด้วยผลผลิตที่จะสามารถหล่อเลี้ยงพลเมืองแห่งภูมิบุตร

เราไม่เคยได้ยินและค้นพบตามบันทึกประวัติศาสตร์ที่ระบุถึงแผ่นดินปาตานีได้ประสบกับภัยแล้งที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตและความแร้นแค้นของประชาชน

เช่นเดียวกับแผ่นดินปาตานีไม่เคยประสบกับภัยน้ำท่วมที่ยาวนานที่สร้างความสูญเสียในชีวิต และเช่นเดียวกันไม่เคยปรากฏในบันทึกที่กล่าวไว้ว่า ปาตานีถูกถล่มด้วยพายุอย่างรุนแรงที่สร้างความเสียหายให้กับหมู่บ้านและผืนป่า

ชาวปาตานีในห้วงสมัยแห่งความรุ่งโรจน์ พวกเขามีชีวิตที่สงบและสันติโดยอาศัยทรัพยากรที่มี

บัดนี้พวกเขากลับมีความแร้นแค้นในบ้านตนเอง ดังคำอุปมาที่ว่า ITIK MATI DALAM RUMAH PADI (เป็ดตายในยุ้งข้าว) เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้นซึ่งมีหลายปัจจัยด้วยกันซึ่งหนึ่งในนั้นที่เป็นอุปสรรคก็คือ :-

เพราะแนวคิดของพวกเขาถูกแทรกซึมด้วยกับสิ่งที่เรียกว่า inferiority complex (ปมด้อยจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เอื้ออำนวย ทำให้มีแนวโน้มที่จะแสดงออกภายนอกที่ฉูดฉาดด้วยพฤติกรรมตั้งแต่การแสวงหาความสนใจไปจนถึงการแข่งขันและความก้าวร้าวที่มากเกินไปในความพยายามที่จะชดเชยข้อบกพร่องที่แท้จริงหรือที่จินตนาการไว้ -กองบรรณาธิการ)

เพราะคุณภาพชีวิตที่มีความล้าหลังในทุกด้านทั้งด้านการศึกษาและเทคโนโลยี

เพราะความยากจนด้านเศรษฐกิจตลอดจนความยากจนเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม

ทางออกในส่วน/เรื่องนี้

  1. ทรัพยากรธรรมชาติและความมั่งคั่งที่มีอยู่ในแผ่นดินแห่งนี้ ควรจัดสรรด้วยดีและเป็นธรรม แน่นอนเราจะเป็นประเทศที่มั่งคั่ง ที่สามารถยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองและไม่จำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงจากตะวันออกกลางอีกต่อไป
  2. ความสามารถด้านทักษะที่ชนชาติมลายูมีอยู่เพื่อสื่อสารโดยตรงกับประเทศในหมู่เกาะนูซันตาราที่ชนชาติอื่นไม่มี เช่นเดียวกับบรรดาประเทศมุสลิม นี่คือภาพอนาคตที่ดิดว่ามีความสำคัญกับพื้นที่บ้านเราเพื่อการพัฒนา เพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินแห่งมาตุภูมิ

นี่คือสมมุติฐานหนึ่งที่พึงมีสำหรับฝ่ายผู้มีอำนาจของรัฐบาลไทย ที่มีจิตสำนึกและจิตใจแห่งความเป็นมนุษย์และความจริงใจต่อชาวปาตานี

อัตลักษณ์ / ภาษาและวัฒนธรรม

กลุ่มชนใดที่ปราศจากวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ดังนั้นการดำรงอยู่ของกลุ่มชนดังกล่าวอาจสูญสลายจากพื้นพิภพแห่งนี้ หากเราย้อนความหลังมองความเป็นมาของประวัติศาสตร์ของการก่อร่างของกลุ่มชนหนึ่ง แน่นอนจะพบว่าอาจพบกับความคดเคี้ยวที่ต้องอาศัยช่วงเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน เราลองย่นปัญหาตามครรลองของความเป็นมาของภาษามลายูยาวี ราวๆ ในปี คศ.600 คัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานลงมายังท่านศาสดาในรูปภาษาอาหรับที่ได้กลายเป็นภาษาทางวิทยาศาสตร์ ต่อมาได้แผ่ขยายเจริญก้าวหน้าตามกาลเวลา

ราวๆ ปี คศ. 1300 ชาวมลายูในหมู่เกาะนูซันตาราได้รับอิสลามและได้บันทึกไว้ว่าในศตวรรษที่ 9 ศาสนาอิสลามได้เข้าสู่นูซันตาราและภาษาอาหรับถูกนำมาพร้อมคัมภีร์อัลกุรอาน พวกเขาได้ประยุกต์อักษรอาหรับเพื่อให้ออกเสียงมลายู โดยการนำตัวเขียนอาหรับที่มีอยู่ เพื่อสร้างโลกมลายูให้เป็นอิสลามด้วยการเพิ่มพยัญชนะ ( ڤ گ ڠ ڽ چ )

มีบางคนได้ตั้งประเด็นขึ้นมาว่า ภาษามลายูไม่มีพยัญชนะเป็นของตัวเอง เราขอโต้แย้งในเรื่องนี้ เพราะเป็นที่ประจักษ์ของประวัติศาสตร์ไปแล้ว นับตั้งแต่ศตวรรษแล้วศตวรรษเล่า ที่ชาวมลายูแถบหมู่เกาะนูซันตาราได้มีการใช้ตัวเขียนยาวีและด้วยประการฉะนี้ ทำให้ซึ่งตัวเขียนยาวีได้กลายเป็นอัตลักษณ์ของชนชาวมลายูปาตานี นักประวัติศาสตร์ต่างเห็นพ้องว่า ปาตานีนั้นดำรงอยู่ก่อนมะละกาด้วยซ้ำและปาตานีเคยเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่อิสลามอันเก่าแก่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Muhammad Zamri Malik, Patani Dalam Tamadun Melayu, 1994)

ด้วยเหตุนี้พอสรุปได้ว่า สถาบันการศึกษาในรูปแบบปอเนาะจะพบได้อย่างแพร่หลายในแถบประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือจุดเริ่มต้นและถูกก่อร่างขึ้นมาจากแผ่นดินปาตานีเป็นที่แรกคือท่านเชควันมูฮัมหมัด บิน อัลลากีฮี (1593) ณ บ้านบันดังดายอ ยะรัง ปาตานี

บรรดาอูลามาอฺแห่งปาตานีราวๆ ศตวรรษที่ 12 พวกเขาต่างเผยแผ่ศาสนาอิสลามบนดินแดนของชนชาติมลายูควบคู่ไปกับการเสริมสร้างประเพณี วัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตที่วางอยู่บนครรลองของชารีอะฮ์

คงจะเห็นภาพสำหรับคำกล่าวของท่านซัยดีนาอาลี ซึ่งความว่า “ช่างโชคร้ายยิ่งนักสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ตนเอง”

ปาตานีถือเป็นคลังวิทยาการของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แผ่นดินคาบสมุทรดอกไม้ได้สร้างนักปราชญ์อย่างมากมายที่กระจายไปทั่วนูซันตารา ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่คู่ควรสำหรับชนชาวมลายูปาตานีที่มีความฝันใฝ่ที่จะใช้กฎหมายชารีอะฮ์บนดินแดนที่ขนานนามว่าระเบียงมักกะฮ์แห่งนี้

ขณะเดียวกันคงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดสำหรับประชาชนชาวปาตานีที่จะเรียกร้องเพื่อให้การรับรองพวกเขาในฐานะความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนคาบสมุทรดอกไม้แห่งนี้ เพราะว่าวิถีชีวิตของความเป็นชาติพันธุ์และวัฒนธรรมค่อนข้างมีความโดดเด่นไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงในด้านประวัติศาสตร์รวมไปถึงทางด้านภูมิศาสตร์

มลายูคือตัวตนของชาติพันธุ์

ชาวมลายูได้กำหนดตัวตนของพวกเขาในฐานะสังคมที่ตั้งรกรากสืบทอดกันมาหรือมีความเป็นมาของสังคม/ชุมชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนของผู้ปกครองมลายูเหมือนเช่นที่เมืองเรียว กะลิมันตันตะวันตก รวมถึงบริเวณสุมาตราเหนือ สุมาตราตอนใต้ จัมบี มาเลเซีย สิงคโปร์ รัฐปาตานี บรูไนดารุสสาลาม พร้อมทั้งเมืองมลายูอื่นๆ ของนูซันตารา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ซึ่งในแต่ละวันจะสื่อสารกันด้วยภาษามลายู มีขนบและประเพณีมลายูอีกทั้งนับถือศาสนาอิสลามเท่านั้นที่เป็นชาติพันธุ์มลายู

D- ภาพอนาคตกระบวนการสันติภาพ

โดยทั่วไปของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะมีปัญญาหรือไม่มีปัญญา จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวล้วนต่างใฝ่ฝันเพื่อที่จะมีชีวิตที่สันติ มีอิสรภาพ นับประสาอะไรกับจำพวกมนุษย์ที่มีสติปัญญาและความคิด ไม่ว่าจะในครอบครัวตลอดจนสังคมและประเทศชาติที่ต้องการอิสรภาพ มีชีวิตที่สันติ ปราศจากการกดขี่และการเลือกปฏิบัติ

ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อบนแผ่นดินคาบสมุทรดอกไม้แห่งนี้ ต้องการการแก้ไขที่รวดเร็วและทันด่วน ทั้งสองฝ่ายต้องมีความซื่อสัตย์และจริงใจ พร้อมทั้งสามารถสั่งการและควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ในพื้นที่ เช่นเดียวกันต่างฝ่ายต่างมีความเป็นอิสระในกระบวนการในการบรรลุวัตถุประสงค์ ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ความจริงกระบวนการเหล่านั้นควรได้รับเกียรติ์ ไม่มีการละเมิดข้อตกลง คณะพูดคุยสามารถกำหนดประเด็นตามหัวข้อการพูดคุยของกระบวนการเจรจาสันติภาพ ผลประโยชน์และผลลัพธ์ควรจะเกิดประโยชน์ต่อพลเมืองแห่งภูมิบุตรและไม่ก่อความเสียหายและการใช้ชีวิตร่วมกันของสังคมอย่างสงบสุข

ข้อเสนอด้านกระบวนการสันติภาพ

  • ควรรับฟังความต้องการของประชาชนเกี่ยวกับรูปแบบการปกครอง
  • ผลประโยชน์และรายได้ทั้งหมดเพื่อการพัฒนาพื้นที่ เพื่อความยุติธรรมของสังคม (ความมั่งคั่งของประชาชน)
  • รับรองความเป็นเจ้าของในด้านภาษามลายูในฐานะภาษาการปกครองในปาตานี
  • วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตของสังคมที่นี่
  • ควรให้มีศาลชารีอะฮ์สำหรับพลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลาม

ติดตามลิ้งค์วีดีโอ : https://youtu.be/mXPDE3Ag2rg?t=594

#ScenarioPATANI2022

#TheMotive