CAP ระบุรัฐพ่ายแพ้โควิด ย้ำวันนี้ประชาชนต้องพึ่งตนเอง

ประธาน สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) เผยรัฐสั่งปิดหมู่บ้านแต่ไม่มีมาตราการการดูแล ย้ำเราต้องหวังพึ่งตนเองในการรณรงค์สร้างความเข้าใจ ระบุเราขับเคลื่อนใน 3 ประเด็นหลัก (1) ลงพื้นที่ตามปัจเจกชน (2) สร้าความตระหนักรู้ และ (3) เสนอโมเดลชุมชนจัดการตนเอง.

รัฐสั่งปิดหมู่บ้าน_แต่ไม่มีมาตราการการดูแล_ย้ำเราต้องหวังพึ่งตนเองในการรณรงค์สร้างความเข้าใจ

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) กล่าวว่า “สำหรับวิกฤติการระบาดของโควิดระลอกนี้ทางรัฐบาลล้มเหลวในการบริหารจัดการอย่างสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องการป้องกัน การหามาตรการในการดูแล อย่างเช่น สั่งปิดหมู่บ้าน แต่ไม่มีมาตรการการดูแลหลังจากนั้น .

ซึ่งมันต่างจากระลอกแรก สังเกตจากทีมผู้ว่าราชการจังหวัดดูมีความกระตือรือร้นมากกว่านี้ มีการเปิดพื้นที่รับฟังคำเสนอแนะจากภาคส่วนเอ็นจีโอ มาร่วมแลกเปลี่ยน ขอคำปรึกษา ขอคำชี้แนะ เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน อย่างเช่น ปรึกษากันว่าหากจะปิดมัสยิดสักช่วงหนึ่งเราต้องทำอย่างไร หรือ หากจะซื้อสินค้าการเกษตรจากชาวบ้านเพื่อมาทำอาหารให้คนที่ถูกกักตัวเราต้องทำอย่างไรบ้าง คือ เราจะมาร่วมกันวางแผน และแยกส่วนกันเดินตามบทบาทของแต่ละภาคส่วน .

แต่พอมาระลอกล่าสุดพวกเราแทบจะไม่เคยเจอหน้าผู้ว่าฯ ด้วยซ้ำ แผนของเขาประกาศปิดหมู่บ้าน ประกาศล็อคดาวน์อย่างเดียว แต่ไม่มีแผนรองรับหลังจากนั้น.

แต่พอเขาไม่เปิดพื้นที่ทำงานร่วมกันกับภาคส่วนอื่นๆ เขาก็จะโดดเดี่ยว ยิ่งการรณรงค์ในเรื่องวัคซีน ในเรื่องการป้องกันมันต้องใ้ช้พลังงานอย่างหนัก สุดท้ายเขาก็เลยทำเพื่อผ่านๆ ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก เพราะยังไงเขาก็อยู่ในพื้นที่แค่แป็บเดียว อีกไม่กี่เดือนก็จะมีการโยกย้ายไปอยู่ในพื้นที่อื่นต่อ .

ก็ตามกระแสที่เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานีที่ผ่านมาไม่นานเกี่ยวกับ “การไม่ต้อนรับผู้ว่าฯ ที่มาทำงานแค่ปีเดียว” ซึ่งดูแล้วมันก็สมเหตุสมผล.

กระนั้นก็ตามสำหรับพวกเราในฐานะประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ จะอย่างไรก็แล้วแต่เราก็ต้องอยู่กับโควิดให้ได้ เพราะหากเราคิดสู้ก็คงสู้มันไม่ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราทำได้ คือ เราจะใช้ชีวิตร่วมกับมันได้อย่างไร .

ฉะนั้น ทุกคนต้องได้ฉีดวัคซีน พวกเราในฐานะเอ็นจีโอก็ต้องพยายามทำงานรณรงค์อย่างหนักต่อโจทย์ 2 ข้อนี้ 1) รณรงค์ให้ทุกคนฉีดวัคซีน 2) ต้องหาข้อมูลเพื่ออธิบายคุณภาพของวัคซีน เพราะประชาชนเริ่มระแวงในเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพของวัคซีนจากการเสพสื่อออนไลน์ที่มันเข้าถึงได้ง่าย.

วันนี้เราหวังพึ่งรัฐไม่ได้แล้ว เพราะพิสูจน์แล้วว่าเขาล้มเหลวทุกกระบวนท่า ฉะนั้น สิ่งที่เราควรคิดต่อคือ เราจะจัดการตนเองอย่างไร เราจะดูแลตัวเองอย่างไร เราจะสร้างความตระหนักและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างไร” มูฮำหมัดอาลาดี กล่าว.

CAP ขับเคลื่อนใน 3 ประเด็น ลงพื้นที่ตามปัจเจกชน_สร้าความตระหนักรู้_และเสนอโมเดลชุมชนจัดการตนเอง

มูฮำหมัดอาลาดี เปิดเผยถึงบทบาทการทำงานเอ็นจีโอในพื้นที่ทั้ง 3 ระลอกว่า “เอ็นจีโอในพื้นที่จะมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่ระลอกแรกมีการออกสื่อถี่มากกว่าเลยเห็นภาพการทำงานของเอ็นจีโอได้ชัด ในระลอกนั้นเราลงพื้นที่มากกว่าร้อยชุมชนอย่างต่อเนื่อง เราแบ่งหน้าที่กับทีมสมาคมจันเสี้ยวฯ ให้เขาทำงานประสานงานในระดับนโยบายกับหน่วยงานรัฐ หน่วยงานด้านศาสนา ส่วน CAP จะรับหน้าที่ลงชุมชนตามพื้นที่ต่างๆ ในระลอกนั่นความหนักของมันไม่ได้สาหัสเท่ากับระลอกล่าสุด .

แต่พอมาระลอกนี้เราจะลงพื้นที่เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะทุกพื้นที่เป็นพื้นที่เสี่ยงหมด ทุกพื้นที่ระบาดหมด เราเลยเปลี่ยนนโยบายใหม่ว่า “ใครอยู่ในพื้นที่ไหนก็ให้ทำงานในพื้นที่นั้น” ก็เป็นการแยกกันเดินตามภูมิลำเนาของปัจเจกชน มันเลยไม่เห็นภาพบทบาทเหล่านี้เหมือนระลอกแรก.

ประเด็นที่สองที่ CAP ขับเคลื่อนอยู่ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงวันนี้ คือ งานประชาสัมพันธ์ งานรณรงค์ งานให้ความรู้ งานสร้างเคมเปญ และงานสร้างความตระหนัก ตรงนี้ CAP จะให้องค์กรฐานทุกองค์กรขับเคลื่อนตามประเด็นต่างๆ ที่คาบเกี่ยวกับโควิด ผ่านการจัดวงเสวนาไลฟ์สด โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ .

ประเด็นสุดท้าย คือ พยายามพลักดันสร้างชุมชนจัดการตนเองโดยการนำเสนอโมเดล เช่น หากต้อง Home Isolation หรือ แยกกักตัวที่บ้านจะต้องทำอย่างไร หรือ แม้แต่โมเดลการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนตาดีกาแต่ละชุมชน (โรงเรียนสอนศาสนาในระดับประถมศึกษา) ตามรูปแบบใหม่ หรือ New Normal จะต้องทำอย่างไร หรือแม้กระทั่งโมเดลการใช้ชีวิตในรูปแบบก็ตาม เราจะมีโมเดลเสนอไป” มูฮำหมัดอาลาดี กล่าว.

หมายเหตุ :

เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ประชาไท :

https://www.facebook.com/108882546698/posts/10158563469356699/.