CAP เตรียมประสานชุมชน หลัง Bungaraya Group ผุดไอเดียเรียน TADIKA ในช่วงโควิด

.
อาจารย์ฮาซัน เลขาธิการ CAP ระบุมาตราการการศึกษาของรัฐช่วงโควิด ไม่ตอบโจทย์ความจำเป็นและคุณค่าการเรียนการสอนศาสนาของนักเรียนโรงเรียนตาดีกา ด้านสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพผนึกกำลังกลุ่มบุหงารายาเพื่อการศึกษาปรับรูปแบบ นำเสนอ 2 แนวทางเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐและวิถีของชุมชน
.


มาตราการการศึกษาของรัฐช่วงโควิด ไม่ตอบโจทย์คุณค่าการเรียนการสอนศาสนาของนักเรียนโรงเรียนตาดีกา


อาจารย์ฮาซัน ยามาดีบุ เลขาธิการ สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) และประธาน กลุ่มบุหงารายาเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “จากที่ตนเก็บข้อมูลการปรับตัวของโรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาระดับประถมศึกษา ประจำชุมชน) ในช่วงเกิดโรคระบาดโควิดตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงระลอกล่าสุดโรงเรียนตาดีกาประมาณ 60% ไม่ได้ทำการเรียนการสอน คือ ปิดโรงเรียนตามคำสั่งของรัฐตรงมายังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.)
.
เพราะในมุมมองของรัฐมองโรงเรียนตาดีกาเสมือนโรงเรียนประถมศึกษาทั่วไป ทั้งที่จริงโรงเรียนตาดีกาเป็นเพียงแค่สถาบันการศึกษาท้องถิ่นระดับชุมชน ไม่เกี่ยวโยงกับระบบการศึกษาไทยด้วยซ้ำ
.
ใน 60% นี้จะปิดยาวตั้งแต่โควิดระลอกแรกจนถึงระลอกล่าสุด ช่วงเวลาเดียวกันนั้นจะมีมาตราการจากกระทรวงศึกษาธิการที่ประกาศถึงแนวทางการจัดการศึกษาของประเทศในการทำการเรียนการสอนทั่วประเทศไว้ 5 รูปแบบ

(1) On-site คือ การทำการเรียนตามปกติ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการควบคุมการแพร่เชื้อของโรคระบาดโควิด

(2) On-air คือ การเรียนรู้ผ่านดาวเทียม

(3) On-demand คือ การเรียนรู้ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ

(4) Online คือ การเรียนรู้ผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นรูปแบบที่ถูกใช้ในการจัดการเรียนการสอนจำนวนมากที่สุดทั่วประเทศ และ

(5) On-hand คือ การเรียนรู้ที่บ้านโดยครูจัดทำเอกสาร หรือใบงานให้กับนักเรียน


.
ซึ่ง สช.ก็ออกคำสั่งไปยังโรงเรียนตาดีกาให้ใช้แนวทาง On-hand คือ ให้เจ๊ะฆู (ชื่อเรียก “ครู” สำหรับโรงเรียนตาดีกา) จัดทำใบงานให้กับนักเรียน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเจ๊ะฆูโรงเรียนตาดีกาไม่มีไอเดียที่จะจัดทำใบงานให้กับเด็กนักเรียน
.
กระนั้นก็ตาม ทาง สช.ก็พยายามจัดทำใบงานให้แทน โดยออกแบบเป็นช่วงชั้นเรียนและแจกจ่ายไปยังโรงเรียนตาดีกาต่างๆ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะหากไม่มีการจัดทำการเรียนการสอนนักเรียนจะกลับไปทำใบงานได้อย่างไร รวมทั้งความตระหนักของเจ๊ะฆูโรงเรียนตาดีกาเองที่ไม่อยากวุ่นวายกับระบบของรัฐ ถือว่าหากมีคำสั่งปิดแล้วก็ควรปิดยาวไปเลย ซึ่งเป็นสัดส่วนโรงเรียนตาดีกาที่มากถึง 60% ดังที่กล่าวมาตอนต้น
.
อีกปัญหา คือ มาจากสภาพการแพร่ระบาดของโควิดที่แพร่ไปยังครอบครัวของนักเรียนในชุมชนเสียเอง ทำให้เด็กบางส่วนไม่สามารถมาเรียนได้ รวมทั้งเจ๊ะฆูโรงเรียนตาดีกาเองก็มีวิธีคิดแบบเหมารวม คือ ถ้าจะให้เรียน นักเรียนทุกฅนต้องได้เรียน แต่ในเมื่อมีนักเรียนบางส่วนไม่ได้เรียนก็ไม่ควรทำการเรียนการสอน ปิดแล้วปิดเลยเสียดีกว่า
.
ส่วนโรงเรียนตาดีกาที่เลือกใช้แนวทาง Online มีเพียงแค่ 11-12% หรือ 1 อำเภอมีประมาณ 1-2 โรงเรียนเท่านั่นที่เลือกทำการเรียนการสอนในรูปแบบ Online ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เหตุเพราะความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีของเจ๊ะฆูและครอบครัวเด็กนักเรียนเอง
.
แต่มีอีก 20% ที่เลือกแนวทาง On-site โดยการจัดทำการเรียนการสอนครั้งละ 5 ฅน คือ จัดกลุ่มนักเรียนสอนช่วงเวลาละไม่เกิน 5 ฅน เพื่อให้เป็นไปตามมาตราการการป้องกันการแพร่เชื้อโรคระบาดโควิด
.
ด้านกลุ่มชมรมโรงเรียนตาดีการะดับตำบล หรือ ระดับอำเภอ มีความเห็นที่ไม่พอใจต่อมาตราการของรัฐที่มีต่อโรงเรียนตาดีกา เพราะคิดว่าถึงไม่มีการจัดทำการเรียนการสอน เด็กๆ ในชุมชนก็จะรวมตัวจัดกลุ่มกันเล่นเกิน 5 ฅนอยู่แล้ว ถ้าได้ทำการสอนตามปกติก็น่าจะไม่มีปัญหา
.
ส่วนแนวทาง On-hand ที่ สช.เสนอให้กับโรงเรียนตาดีกาก็ไม่สามารถทำได้ เพราะมันไม่ตอบโจทย์ถึงความจำเป็นและคุณค่าของนักเรียนในการเรียนศาสนา แต่รัฐใช้มาตรฐานเดียวกันกับโรงเรียนประถมศึกษาทั่วไป ซึ่งมันไม่ใช่ มันต่างบริบทกัน
.
โรงเรียนประถมศึกษาจะมีภาคบังคับสำหรับครู อย่างเช่น เงินเดือน หรือแม้แต่ตำแหน่งงาน ถ้าไม่ทำก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงต่อหน้าที่การงาน แต่โรงเรียนตาดีกามันไม่ใช่ มันไม่มีการซัพพอร์ตทั้งในเรื่องเงินเดือนและเรื่องอุปกรณ์ ถ้าไม่ทำในส่วนของความเป็นเจ๊ะฆูก็ไม่ได้เสียหายอะไร นี่คือปัญหาการปรับตัวของโรงเรียนตาดีกาในยุคโควิด” อาจารย์ฮาซัน กล่าว



สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ปรับรูปแบบ เสนอ 2 แนวทางเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐและวิถีของชุมชน


อาจารย์ฮาซัน เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโมเดลและการแก้ปัญหาของโรงเรียนตาดีกาในยุคโควิดที่มันกระทบโดยตรงกับเด็กนักเรียนว่า “คณะกรรมาธิการการศึกษา สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ร่วมมือกับกลุ่มบุหงารายาเพื่อการศึกษา ได้คิดโมเดลใหม่โดยเสริมวิธีการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ 2 แนวทาง และจะนำเสนอไปยังสังคมและชุมชนมลายูหลังจากมีการแถลงการณ์ในวันที่ 2 ก.ย.2564 นี้
.
แนวทางที่ 1 เสนอสอนแบบ On-site โดยสอนเฉพาะวิชาที่จำเป็นเพียงแค่ 4 วิชาเท่านั้น (1) วิชาเตาฮีด (หลักความเชื่อ) (2) วิชาแฟเกาะห์ (หลักการปฏิบัติ) (3) วิชายาวี (การเขียนภาษามลายู ด้วยตัวอักษรอาหรับ) (4) วิชารูมี (การเขียนภาษามลายู ด้วยตัวอักษรโรมัน) จากเดิม 9-10 วิชา ลดลงเหลือเพียงแค่ 4 วิชา
.
ซึ่งเป็นรายวิชาหลักการด้านศาสนา 2 วิชา และรายวิชาด้านอัตลักษณ์ในพื้นที่ 2 วิชา ภายใน 1 อาทิตย์ต้องทำการเรียนการสอนรวม 4 ชม. วิชาละ 1 ชม. 4 วิชาก็จะเท่ากับ 4 ชม. และถ้าใช้วันทำการปกติ คือ วันเสาร์ 2 ชม. และวันอาทิตย์ 2 ชม.ก็จะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ มันจะบาลานซ์ หรือ ได้สัดส่วนตามจำนวนของนักเรียน เจ๊ะฆูโรงเรียนตาดีกา และเวลา
.
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องให้เป็นไปตามมาตราการการป้องกันการแพร่เชื้อของโควิดด้วย โดยหนึ่ง ต้องเรียนไม่เกิน 5 ฅน สมมุติชั้นหนึ่งมี 15 ฅน ก็จะทำการสอน 3 ครั้งเป็นต้น สอง เจ๊ะฆูและนักเรียนทุกฅนต้องสวมหน้ากากอนามัย สาม รักษาระยะห่าง และสี่ สถานที่ต้องปลอดโปร่ง มีอากาศถ่ายเท ซึ่งคุณจะสอนในทุ่งนา หรือ ในสวนก็ได้
.
ทีนี้แนวทาง On-hand ตามที่ สช.เสนอมาก็จะสามารถกระทำได้ เพราะนักเรียนได้มีการเรียนหนังสือแล้ว ใบงานที่แจกไปมันก็จะสมเหตุสมผล
.
แนวทางที่ 2 เสนอสอนแบบ Online โดยสอนเพียงแค่ 1 วิชา คือ วิชาประวัติศาสตร์ท่านศาสดามูฮัมหมัด จะกำหนดเวลาสอนแค่ 1 ชม. ช่วงกลางคืนประมาณ 1-2 ทุ่ม นักเรียนทุกฅนจะรวมตัวกันโดยไม่แบ่งชั้นเรียน คล้ายๆ เป็นการเล่านิทานให้ลูกๆ ฟังก่อนนอนผ่านรูปแบบออนไลน์
.
ซึ่งทั้ง 2 แนวทางนี้ยังไม่ได้มีการเริ่มใช้ แต่เราจะมีการส่งหนังสือไปยังชุมชนต่างๆ ถึงแนวทางเหล่านี้หลังจากกรรมาธิการการศึกษา CAP ได้มีการแถลงการณ์ออกไปแล้ว เพื่อให้โรงเรียนตาดีกาทุกโรงเรียนได้นำไปใช้อย่างสะดวก หากโรงเรียนไหนนำไปใช้ทาง CAP จะมีที่ปรึกษาคอยให้คำปรึกษาด้วยยามที่ติดขัด หรือ มีปัญหาอะไรตามมา และนี่คือทางออกของโรงเรียนตาดีกาในช่วงโรคระบาดโควิด” อาจารย์ฮาซัน กล่าว
.
.