การจัดทำรายงานของ The Patani เกี่ยวข้องโดยตรงกับประยุทธ์ จันทร์โอชา

สัมภาษณ์พิเศษ : ฮากิม พงตีกอ
.
วันที่ 23 มิถุนายน 2564 รายงานสรุปสถานการณ์ในพื้นที่ประจำสัปดาห์ ฉบับแรก ที่จัดทำโดย The Patani รายงานนี้ได้รับความสนใจทันทีจากคนที่ทำหน้าที่สื่อ รวมถึงคนที่สนใจต่อปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานีอยู่แล้ว เพราะในพื้นที่ปาตานีการหาอ่านรายงานสถานการณ์ในช่วงวิกฤตโควิดมีข้อมูลค่อนข้างน้อย หากจะไปค้นหาในส่วนของภาครัฐดูเหมือนจะมีข้อมูลแต่ยังสะเปะสะปะ แม้แต่เพจทางการของผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีการอัปเดตน้อยมาก ยกเว้นข้อมูลสถิติคนติดเชื้อ คนเสียชีวิต ที่แอคทีฟอย่างมาก
.
คำถามว่ารายงานฯฉบับนี้ต้องการส่งให้ใคร ผลการตอบรับของการจัดทำข้อมูลเหล่านี้ขึ้นมา การที่ The Patani ร่วมกันขับเคลื่อนสิ่งนี้ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดในพื้นที่ขัดแย้งที่มีการขัดกันทางอาวุธ (Armed Conflict) มีอุปสรรคอะไรบ้าง และจะส่งผลอย่างไรต่อสันติภาพในพื้นที่ นี่เป็นประเด็นที่ดูจะยังคงต้องหาคำตอบแม้กระทั่งในวันนี้
.
The Motive สนทนากับฮากิม พงตีกอ ฮากิม พงตีกอ หัวหน้าตัวแทน The Patani (Chief Delegate of The Patani Delegation) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจโควิดฯ The Patani ที่มีส่วนรับผิดชอบดูแลการจัดทำรายงานฯฉบับนี้ ฮากิมเผยว่า ที่มาของรายงานฯเป็นการส่งหนังสือ 5 ฉบับ ให้กับ 5 ฝ่าย ได้แก่ BRN, สมช., UN, ICRC และมาเลเซีย ซึ่งหลังจากได้ส่งหนังสือแล้ว ทุกฝ่ายก็มีผลตอบรับก็ได้นัดคุยกัน ทำให้ทั้ง 5 ฝ่ายที่สะท้อนกลับมาก็ให้ทาง The Patani อัปเดตเป็นรายงานสรุปสถานการณ์ในพื้นที่
.
โดยเฉพาะคนใน BRN ฮากิมบอกว่า “เป็นระดับกำหนดทิศทางของนโยบาย” ซึ่งเขาย้ำอย่างหนักแน่นว่าการอัปเดตสถานการณ์ในพื้นที่ช่วงโควิดนั้นสำคัญอย่างยิ่ง และยืนยันเรื่องการหยุดยิงเมื่อปี 2563 ยังคงมีผลถึงปัจจุบันตามที่ ประธาน The Patani ได้กล่าวถึงในรายงานฯ ฮากิมยังกล่าวย้ำด้วยว่าคนที่มาในนามของ BRN นั้นมาพบคุยอย่างไม่เป็นทางการ
.
จากนั้น The Patani ก็ได้ลงพื้นที่เพื่อจัดทำรายงานและเน้นงานด้านเยียวยา อีกทั้งถือโอกาสทำงานด้านรณรงค์กับการสื่อสารไปด้วย ทั้งเรื่องการป้องกันโรคระบาดและการฉีดวัคซีน ฮากิมได้เปิดเผยว่า ในขณะที่ลงพื้นที่ปัญหาที่พบเจอมีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องสะท้อนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ข้อมูลจะต้องชัดเจนเพราะต้องการจะสะท้อนถึง “หัวโต๊ะ” ก็คือ สมช. ก็เลยเป็นที่มาของการต้องเขียนรายงานแบบนี้
.
ในช่วงตอนแรกก็เขียนสรุปรายสัปดาห์ แต่ช่วงหลัง ๆ นี้ประเมินแล้วประเด็นจะซ้ำซ้อนมากขึ้น จึงได้ปรับเป็นรายปักษ์ สองสัปดาห์ต่อครั้ง ฮากิมบอกว่า ตอนนี้กำลังประเมินดูว่า รายงานนี้จะมีจุดสิ้นสุดและสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้แค่ไหน สำหรับการต่อยอดนั้นมีแผนรองรับอยู่แล้วว่าจะเอากันอย่างไร
.
สำหรับประเด็นในรายงาน ฮากิมบอกว่าจะเกี่ยวข้องกับระดับนโยบายที่เกี่ยวพันตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ซึ่งเกินความสามารถของภาคประชาสังคมที่จะรับมือ นั่นจึงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่เวลาเราลงพื้นที่จะรับปากชาวบ้านไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องศักยภาพของรัฐบาล เนื่องจาก สมช.ไม่มีอำนาจตัดสินใจ สรุปท้ายสุดแล้วทั้งหมดมันเป็นเรื่องของประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นหัวโต๊ะตัวจริง
.
ด้านผลตอบรับของรายงานฯ ฮากิมแจงว่า เราได้ส่งรายงานไปยังสถานทูตของประเทศต่าง ๆ ซึ่งทำให้อย่างน้อยก็มีการกดดันรัฐบาลไทยให้มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในหลายภาคส่วน อย่างน้อยก็ทำให้บางหน่วยงานเริ่มรับฟังในเรื่องที่ทำได้ อย่างกอ.รมน.ที่อาจทำเรื่องใหญ่ๆไม่ได้ แต่ก็สามารถทำบางเรื่องได้ เช่น การเก็บดีเอ็นเอชาวบ้าน ก็สามารถชะลอหรือหยุดได้ โดยไม่ต้องบังคับใช้กฎหมายเสมอ ซึ่งอาจมีข้อละเอียดปลีกย่อยอื่นอีกที่ต้องคุยกัน
.
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปลีกย่อยอื่น ถ้าพูดถึงโครงสร้างทางสังคม ก็เป็นลักษณะปัญหาเฉพาะที่ปาตานี เช่น กลุ่มดะวะห์ตับลีฆ (นักการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม), โรงเรียนตะห์ฟีซ (โรงเรียนท่องจำคัมภีร์อัลกุรอาน), มัรกัส (สถานที่รวมตัวนักการเผยแพร่ศาสนาอิสลามแห่งประเทศไทย) และกลุ่มผู้นำศาสนาในมัจลิส (คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด) ที่ไม่ฟังฝ่ายไหนในสังคม ยกเว้นต้องใช้อิทธิพลอำนาจของฝ่ายความมั่นคงในการเข้าหาถึงจะสัมฤทธิ์ผลในบางเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเวลาเขียนรายงานสิ่งเหล่านี้ก็มีความยากลำบากในช่วงเวลาวิกฤตเพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว
.
ฮากิมบอกทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้คงต้องสรุปรายงานนี้ส่งให้ ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ผู้เป็นตัวแทนของประชาชนปาตานี เพื่อนำไปใช้ในการอภิปรายวาระไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีกับรัฐบาลในรัฐสภาอีกด้วย ในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ส่งให้ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
.
หมายเหตุ : รายงานฯดังกล่าวของ The Patani สามารถทำการดาวน์โหลดฉบับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านลิ้งค์ Google drive ที่เผยแพร่ผ่านเพจเฟสบุคของ The Patani ภายใต้ชื่อ The Patani Task Force on Covid-19 เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันต่อประเด็นภัยคุกคามด้านมนุษยธรรมระดับโลก.


.
ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง : The Patani / Task Force on Covid-19
(ภาษาไทย)

รายงานฉบับที่ 1

รายงานฉบับที่ 2

รายงานฉบับที่ 3

รายงานฉบับที่ 4

รายงานฉบับที่ 5

Report in English

Report 1

Report 2

Report 3

Report 4

Report 5