แดง ขาว เขียว จันทร์เสี้ยวและดวงดาว
เมื่อธงปฏิวัติมลายูปาตานีถูกโบกสะบัดอยู่ในโลกออนไลน์


.



เมื่อกระบวนการสันติภาพ หรือ โต๊ะเจรจาสันติภาพ เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ.2556 แม้ว่าในครั้งนั้นทางขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ BRN จะถูกบังคับหรือมีความพร้อมน้อยแค่ไหน ก็นับว่าเป็นการเปิดหน้าตัวจริงของ BRN ให้สาธารณชนได้รับรู้
.
และหลังจากนั้นคำย่อ BRN ก็ถูกกล่าวถึงอีกครั้งในโลกออนไลน์ จากสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ ‘ธงสีแดง ขาว และจันทร์เสี้ยวอยู่ตรงใจกลาง’ ก็ถูกนำเอามาใช้บ่อยครั้งในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทุกครั้งที่มีการปิดล้อมปะทะจนมีการวิสามัญฯนักรบฝ่ายขบวนการฯ อันนำไปสู่การเรียกขานเขาเหล่านั้นว่า ‘ชาฮีด’
.
Highlight
: ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี ใช้ YouTube ในการสื่อสารกับมวลชนในพื้นที่ และมีการขยายประเด็นต่อในโซเชียลมีเดีย

: ผลกระทบต่อการสร้างมวลชนรุ่นใหม่ที่ขบวนการปฏิวัติฯ ควรทบทวนตัวเอง ที่ไม่ใช่แค่การสร้างสมาชิกของขบวนการฯ เพียงอย่างเดียว แต่คือการต้องสร้างสำนึกร่วมทางชาติพันธุ์ ทางการต่อสู้ในประเด็นร่วมสมัย ที่พร้อมสนับสนุนและเห็นด้วยกับหลักการทางการเมืองของขบวนการ
: การสื่อสารบนโลกออนไลน์ ขบวนการปฏิวัติก็ต้องปรับตัวให้ทัน
.
วันที่ 20 ม.ค.63 การเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรกที่ผู้นำ BRN มีการติดเข็มกลัด รูปธงสีแดง ขาว และดาวเดือนนี้ บนหน้าอกข้างซ้ายของ อนัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพฝ่าย BRN
หลังจากนั้นเมื่อมีการออกแถลงการณ์เป็นคลิปเผยแพร่ผ่าน YouTube ก็มีการเริ่มติดเข็มกลัดธงไว้ที่หน้าอก และมีธงแดงขาว และดาวเดือน ขนาดเล็กวางไว้บนโต๊ะด้านหน้าของตัวแทน BRN ที่มี อับดุลการิม คาหลิบ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ BRN เป็นโฆษกประจำของขบวนการฯ ที่รับผิดงานการสื่อสารใน YouTube
.
วันที่ 13 มี.ค.62 เป็นคลิปแรกที่ อับดุลการิม โฆษกประจำของ BRN ติดเข็มกลัดธงนี้ที่หน้าอก แต่ภาพของอับดุลการิม เป็นภาพนิ่ง ในครั้งนี้เป็นการออกมาแสดงจุดยืนและเป็นวันครบรอบ 59 ปี การสถาปนาขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี ในหัวข้อ “เมื่อการปฏิวัติยังไม่สิ้นสุด”
.
ต่อมาในวันที่ 13 มี.ค.63 วันครบรอบการสถาปนา BRN ปีที่ 60 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ BRN ของออกคลิป โดยโฆษก อับดุลการิม ในครั้งนี้มีการติดเข็มกลัดธง และเริ่มวางธงขนาดเล็กไว้บนโต๊ะด้านหน้าโฆษก ในประเด็น “60 ปี 111 ปี ปาตานีสนธิสัญญา ANGLO-SIAMESE 1909”
.
#BRN_ต่อการรับรู้ของชนมลายูรุ่นใหม่
ปฏิบัติการทั้งจากฝ่ายขบวนการฯ และจากฝ่ายความมั่นคงรัฐไทยในยุคออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุ ปิดล้อม ปะทะ วิสามัญ แม้กระทั่งการควบคุมตัว เป็นที่รับรู้และแชร์ต่อๆ กันได้เร็วกว่ารอการรายงานข่าวจากสื่อกระแสหลัก ซึ่งในหลายครั้งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในประเด็นเฉพาะออกมาเขียนสเตตัสวิเคราะห์ หรือแปลสารต่างๆ ผ่านเพจ หรือ เฟสบุ๊คส่วนตัว แล้วสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก นำไปขยายประเด็นต่อ
.
แถลงการณ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เป็นภาษามลายูและอังกฤษ รวมทั้งการแถลงผ่านคลิปในช่องทาง youtube ที่ใช้ภาษามลายูสำเนียงอินโดนีเซียเป็นหลัก ถือว่าเป็นการแสดงจุดยืนในการแสดงตัวตนว่า BRN ต่อสู้เพื่อชาติพันธุ์มลายูจึงต้องใช้ภาษามลายูเป็นหลัก
.
สำหรับการสื่อสารในปัจจุบันกับกลุ่มมวลชนมลายูรุ่นใหม่โดยเฉพาะฅน Gen Y อายุตั้งแต่ 21 – 37 ปี ที่ใช้เวลาอยู่กับโลกออนไลน์มากกว่าเจนอื่น และเป็นเจนที่โตมาในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
.
หากการสื่อสารเพื่อขยายฐานหรือกลุ่มฅนรุ่นใหม่ๆ ให้เข้าใจและรับรู้เป้าหมายของขบวนการฯ การสื่อสารกับฅนเจนนี้ขบวนการฯ ก็จำเป็นที่จะต้องทำการบ้านด้านการส่งสาร อุดมการณ์การต่อสู้ ที่ไม่ใช่แค่การสร้างสมาชิกของขบวนการฯ เพียงอย่างเดียว แต่คือการสร้างสำนึกร่วมทางชาติพันธุ์ ทางการต่อสู้ในประเด็นร่วมสมัย ที่พร้อมสนับสนุนและเห็นด้วยกับหลักการของขบวนการฯ ในปัจจุบันและอนาคต เหตุผลหนึ่งเพราะว่า ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าฅน Gen Y นี้ จะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทั้งทางด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจของพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ เพราะอยู่ในวัยที่กำลังเติบโตด้านหน้าที่การงาน
.
#ธงสัญลักษณ์แดง_ขาว_เขียว_จันทร์เสี้ยวและดวงดาว
มีการใช้ธงสัญลักษณ์สีแดง ขาว จันทร์เสี้ยวและดวงดาวในวงกลมสีเขียวในโลกโซเชียลมีเดียหลังจากที่มีการปะทะวิสามัญ การนำภาพผู้ที่ถูกวิสามัญนำมาใส่คำที่ให้เกียรติเป็นผู้ที่เสียสละ เรียกผู้ที่พลีชีพว่าเป็น “ชาฮีด” พร้อมกับเสียงขับร้องทำนองเชิดชูการต่อสู้
.
หากดูความหมายของธงชาติที่มีสีใกล้เคียงกันคือ ธงของประเทศอินโดนีเซีย สำหรับสีแดง และสีขาว บนธงชาติอินโดนีเซียมีการอธิบายออกมาหลายความหมาย
– ตามคำกล่าวของชาวออสโตรนีเซียนในอดีต สีแดงและสีขาวหมายถึงฟ้าและแผ่นดิน
– ตามวัฒนธรรมชวาโบราณ ธงสีแดงและสีขาว หมายถึง เป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวกันของชายและหญิง
– และสำหรับประเทศอินโดนีเซีย ธง Merah Putih(แดง ขาว) ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ความกล้าหาญและศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปกป้องเอกราชของอินโดนีเซีย และเพื่อนำประเทศอินโดนีเซียไปสู่สันติภาพ
.
ธงสัญลักษณ์แดง ขาว เขียว จันทร์เสี้ยวและดวงดาว อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายการสื่อสารของ BRN ในการส่งต่อแนวคิดการต่อสู้เพื่อมาตุภูมิ
มีการพยายามอธิบายธงสัญลักษณ์แดง ขาว เขียว จันทร์เสี้ยวและดวงดาว ส่วนความหมายที่แท้เป็นเช่นไรยังไม่ได้ถูกออกมาอธิบายโดย BRN ลองมาดูความหมายที่ถูกอธิบายในโซเชียลมีเดีย
– สีแดง Darahku : เลือดของข้า
– สีขาว Tulangku : กระดูกของข้า
– สีเขียว Bumiku : แผ่นดินของข้า
– ดวงจันทร์ และดวงดาว Agama ku : ศาสนาของข้า
และธงปฏิวัติดังกล่าวก็ถูกหยิบยกกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเอกราชของปาตานีและถูกโบกสะบัดอยู่ในโลกออนไลน์ไปเป็นที่เรียบร้อย