ครูสอนตาดีกาย่านตลาดเก่ายะลา ระบุ On-hand เป็นรูปแบบที่เทภาระครูให้ผู้ปกครอง 100% ส่วนรูปแบบ Online และ On-demand คือ รูปแบบที่เด็กสามารถเรียนกับครูได้ ยันรูปแบบที่ดีที่สุด คือ การเรียนผ่านกิจกรรม หรือ เรียน Face to face หรือ รูปแบบ On-site หรือเรียนแบบไร้จอกั้นกลาง แต่กระนั้นก็ตามสำคัญที่สุด คือ เด็กต้องได้เรียนหนังสือ
ฮำมาดี เหมและ รองผู้อำนวยการ โรงเรียนตาดีกาเราฎอตุลอิรชาด หรือที่รู้จักกันในนาม โรงเรียนตาดีกาอิรชาด บ้านตลาดเก่า ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เปิดเผยว่า “ช่วงโรคระบาดโควิด รร.ตาดีกาอิรชาดได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนตามคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้เป็นไปตามการควบคุมการเผยแพร่ของโรคระบาด
โดยเริ่มแรกเราใช้รูปแบบ On-hand (คือ การเรียนรู้ที่บ้านโดยครูจัดทำเอกสาร หรือ ใบงานให้กับนักเรียน) โดยทางโรงเรียนจะให้ผู้ปกครองเด็กนักเรียนมารับใบงานที่ รร.ตาดีกาอิรชาดแล้วกลับไปให้ลูกทำที่บ้าน
หลังจากที่ได้ใช้รูปแบบนี้สองสัปดาห์ ทางตาดีกาได้ทำการประชุมและได้ข้อสรุปว่า รูปแบบนี้มันเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองมากเกินไป เหมือนทางโรงเรียนเทภาระหน้าที่ของตนเองที่ต้องสอนนักเรียนไปให้ผู้ปกครอง 100%
ผู้ปกครองต้องมารับใบงานที่โรงเรียนและกลับไปสอนลูกของตัวเอง ต้องควบคุม ดูแลลูกๆ ของตนเองจนกว่าจะสามารถทำใบงานตามที่ทางโรงเรียนได้เตรียมไว้ เหมือนเราไปทิ้งภาระให้กับผู้ปกครองทั้งหมด พวกเราเลยคิดว่ารูปแบบนี้มันไม่เวิร์ค” ฮำมาดี กล่าว
Online และ On-demand คือ รูปแบบที่เด็กสามารถเรียนกับครูได้
รองผู้อำนวยการ รร.ตาดีกาอิรชาด กล่าวต่อว่า “หลังจากเราก็มาลองใช้รูปแบบที่สอง คือ รูปแบบ Online (หรือ การเรียนรู้ผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต) โดยอาศัยประสบการณ์จากตนเองและครูบางท่านที่มีโอกาสสอนโรงเรียนมัธยมควบคู่กันอยู่
ทางโรงเรียนเริ่มจากนักเรียนชั้น 5 และ 6 เราทดลองใช้สักระยะหนึ่ง แล้วนำมาถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของครูบวกกับผู้ปกครอง ก็เจอปัญหาบางส่วน แต่เราลองพิจารณาดูแล้ว ปัญหาที่เราพบเจอจากการสอนแบบ Online มีไม่มาก เราสามารถแก้ปัญหาได้
อย่างเช่น มีเด็กบางส่วน แต่เป็นส่วนน้อยที่ผู้ปกครองไม่พร้อมในเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือด้านอิเล็กทรอนิกส์ เราก็แก้ปัญหาส่วนนี้ให้เรียนในรูปแบบ On-demand (คือ การเรียนรู้ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ) โดยเราจะให้เด็กส่วนนี้ทำงานผ่านคำสั่งผ่านแอพพลิเคชั่นที่เราให้ครูจัดทำวิธีการสอนและวิธีการทำการบ้านส่งไปทาง Line กลุ่ม
สรุปคือ เรามีนักเรียนอยู่ 2 กลุ่ม (1) กลุ่มนักเรียน Online (2) กลุ่มนักเรียน On-demand แต่ถ้าพูดให้ชัด เด็กนักเรียน รร.ตาดีกาอิรชาดโดยส่วนใหญ่สถานะครอบครัวค่อนข้างดี เป็นลูกหลานข้าราชการสะส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นความโชคดีของทางโรงเรียน ความพร้อมของผู้ปกครองในการสนับสนุนลูกๆ ค่อนข้างดี เต็มที่กับโรงเรียนมาโดยตลอด” รองผู้อำนวยการ รร.ตาดีกาอิรชาด กล่าว
สำคัญที่สุด คือ เด็กต้องได้เรียนหนังสือ
ฮำมาดี กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากวิธีการต่างๆ ที่เราปรับตัวตามสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด และความพร้อมของผู้ปกครอง รวมทั้งผลลัพธ์ที่จะกลับคืนสู่เด็กนักเรียน คือ เด็กๆ ต้องได้เรียน จะวิธีไหนก็ตามแต่เด็กๆ ต้องได้เรียนหนังสือ
จะให้เรารอสถานการณ์มันจบก่อนแล้วค่อยสอนมันเป็นไปไม่ได้ หรือ จะต้องรอนานแค่ไหนวันนี้ก็ไม่มีใครสามารถตอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนเรารอให้ฝนหยุดตก สุดท้ายก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไร ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับครู คือ เด็กๆ ต้องได้เรียน
กระนั้นก็ตาม ในระยะต่อมาเราก็สามารถทำการเรียนการสอนใน 2 รูปแบบดังกล่าวในตอนต้นต่อได้ตั้งแต่ชั้น 1-6 อาศัยการลองผิดลองถูกจากประสบการณ์ของหลายๆ ท่าน
ด้านการสอบประเมินผลนั้น เราจะบริการให้ครูไปส่งข้อสอบให้นักเรียนถึงหน้าบ้าน เพื่อเป็นการพบปะระหว่างครูกับเด็กนักเรียนด้วย หลังจากห่างหายกันสักพัก” ฮำมาดี กล่าว
รูปแบบที่ดีที่สุด คือ การเรียนผ่านกิจกรรม หรือ เรียน Face to face หรือรูปแบบ On-site หรือเรียนแบบไร้จอกั้นกลาง
สำหรับผลลัพธ์นั้น ฮำมาดียืนยันว่า 2 รูปแบบดังกล่าวนั้นยังไม่ใช่รูปแบบที่ดีที่สุด “ตัวชี้วัดเด็กนักเรียนจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นไหม ตรงนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอดูผลการสอบของเด็กนักเรียนอีกทีหนึ่ง มันเลยอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด
เพราะผลลัพธ์ที่ส่งผลด้านพัฒนาการเด็กๆ จริงๆ คือ การสอนโดยอาศัยการทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาที่เราทำการละหมาด เราก็จะสอนการอ่าน สอนอ่านดุอา เป็นต้น ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมแบบนี้ซ้ำๆ ย้ำๆ เด็กๆ ก็จะจำได้ และเราก็จะเห็นพัฒนาการของเด็กอย่างเห็นได้ชัด
แต่ตอนช่วงโรคระบาดนี้เราอาศัยวิชาการล้วนๆ ซึ่งมันก็ไม่เหมาะกับเด็กรุ่นนี้ที่ยังต้องเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย ผ่านสภาพแวดล้อมที่ถึงแก่น มีกลิ่นอายความเป็นอัตลักษณ์ของฅนท้องถิ่นในพื้นที่
และรูปแบบนี้คงหนีไม่พ้นรูปแบบ On-site (คือ การทำการเรียนตามปกติ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการควบคุมการแพร่เชื้อของโรคระบาดโควิด) หรือ รูปแบบการเรียนที่ฅนในชุมชนต่างๆ เลือกใช้สอนอยู่ ณ เวลานี้
จะแบ่งกลุ่มการสอนกลุ่มละ 5 ฅน ในชุมชนจะสอนในรูปแบบนี้ เพราะสภาพพื้นที่ปลอดโปร่ง มีบริเวณที่สามารถทำการแยกสอนได้ ซึ่งมันต่างจากโรงเรียนในเมืองอย่าง รร.ตาดีกาอีรชาด มันทำยาก พื้นที่มันจำกัด ผู้ฅนก็เพ่นพ่าน
สรุป คือ วิธีการสอนโดยไม่มีหน้าจอกั้นกลาง เป็นวิธีการที่ได้ผลมากที่สุดและดีที่สุด” ฮำมาดี ระบุเน้นย้ำ
ฮำมาดีกล่าวทิ้งท้ายเพื่อเป็นกำลังใจให้เพื่อนวิชาชีพว่า “ขอเป็นกำลังใจให้ครูสอนตาดีกาทุกฅน ถ้าสามารถร่วมมือได้ เราอยากร่วมมือกัน ถ้าแบกฅนเดียวมันเหนื่อย เราก็มาแบกรับสิ่งเดียวกันให้มันเบาบางลง และหากเราทำด้วยใจบริสุทธิ์ แน่นอนผลตอบแทนย่อมตามมา”