เมื่อลูกเรียนซ้ำชั้น HOMESCHOOL จึงเป็นตัวเลือกเพื่อออกแบบการเรียนรู้ วาดภาพอนาคตของลูก

หากเราเป็นฅนหนึ่งที่มีประสบการณ์ไม่ค่อยดีกับการศึกษาในโรงเรียนของลูกๆ ทั้งปัญหาของระบบ หลักสูตร รูปแบบการเรียนการสอน จนไปถึงตัวครูผู้สอนเอง เราอาจจะมีทางเลือกอื่น โดยการย้ายโรงเรียนหาที่ที่คุณภาพกว่า ซึ่งอาจะต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่สำหรับครอบครัว มีรฟัต มะยูโซ๊ะ แม่บ้านดีกรีป.ตรี ครุศาสตร์อิสลาม ป.โท อิสลามศึกษา เธอเลือกที่จะทำการเรียนรู้ให้กับลูกโดยใช้รูปแบบ HOMESCHOOL

มีรฟัต ได้นิยามการศึกษาในมุมมองของเธอว่า คือ “ทุกการเรียนรู้ ไม่เฉพาะแค่วิชาที่ถูกกำหนดในหลักสูตรของแต่ละชั้นเรียน แต่การศึกษาคือชีวิต คือ เวลาในดุนยาที่เรามีอย่างจำกัดและเราจะใช้อย่างคุ้มค่าเพื่อวันอาคิเราะฮฺที่ๆเราจะต้องอยู่ตลอดไป ดังนั้น การศึกษาคือทุกการเรียนรู้เลยจริงๆ บนพื้นฐานอัลกุรอานและอัซซุนนะฮ”

THE MOTIVE ชวนคุยกับ แม่บ้านโฮมสคูล มีรฟัต มะยูโซ๊ะ ถึงการเริ่มต้นการเรียนในรูปแบบ โฮมสคูล และปัญหาของการจัดการเรียนรู้ในช่วงโควิด19

( Home School คือ การเรียนที่พ่อแม่ได้จัดขึ้นสำหรับลูกๆ โดยมีสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งมีรูปแบบการจัดการศึกษาแบบใดแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบ ของการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สามารถเทียบโอนผลการศึกษาได้)

จุดเริ่มต้นของการทำ Homeschool

จุดเริ่มที่ได้ทำให้มาทำโฮมสคูล คือ เป็นช่วงที่ลูกจบชั้นอนุบาล2จาก ร.ร.รัฐ ตอนนั้นสอบเข้า EP ของ ป.1 ได้เรียบร้อยแล้ว ได้อันดับ 3 จากเด็ก 30 กว่าฅนที่ไปร่วมสอบ แต่ตอนนั้นผลการเรียน อนุบาล2 ครูยังไม่แจ้ง หลังจากสอบเข้า ป.1 ผ่านไป 1 สัปดาห์ ก็ถึงวันไปรับใบเกรดของเด็กๆอนุบาล พร้อมจองครุยรับบัณฑิตน้อยเด็ก อ.2 ทั้งหมด ของเราคือตั้งใจไม่รับอยู่แล้วเพราะไม่ใช่สไตล์คุยกับลูกแล้วลูกก็เข้าใจตรงกัน

แต่…พอตอนไปรับใบเกรด ฅนอื่นได้หมดทุกฅน มาถึงคิวเราครูประจำชั้นแจ้งว่า “คุณแม่ค่ะ ของคุณแม่น้องต้องซ้ำชั้นอะคะ” เรานี่คือสตั้นท์เลย อยู่ดีๆน้ำตาก็ไหลออกมาเองอย่างกับว่าแม่สอบตกเอง คุณครูแจ้งว่า อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ขึ้น ป.1 แม่ก็เหมือนทำอะไรไม่ถูกคิดอะไรไม่ออกเลย

สุดท้ายก็แจ้งกับทาง ร.ร.ว่า งั้นเราขอหยุดเรียน1ปีละกัน ขอไม่มาส่งเรียนห้องชั้นเดิม บอกครูว่าเดี๋ยวถ้าอายุถึงเมื่อไรค่อยกลับมาเรียนใหม่ ตอนนั้นคิดแค่ปลอบใจตัวเองและปลอบใจลูก ถือว่าเราพักผ่อนละกัน ก็ตั้งใจพักผ่อนจริงๆ อย่างน้อยก็คิดว่าดีต่อใจลูกมากกว่าถ้าเค้าต้องไปเรียนแบบซ้ำชั้น

เราคุยทำความเข้าใจกับลูกไหม เขารู้สึกยังไง

ลูกยังไม่ค่อยรู้อะไรมากตอนนั้น เค้าเพียงแต่จับความได้ว่า เค้าต้องซ้ำชั้น และแม่ก็จะหยุดส่งเค้าไป ร.ร.ก่อน พักไปพักมาก็รู้สึก เฮ้ย! มัน “กลวงๆ” เกิ้น น่าจะมีแผนทำอะไรบ้าง ลูกเองจะได้มีพื้นฐานตอนเค้าได้ไป ร.ร.อีกรอบ เลยเสิร์ชดูแนวการสอนต่างๆ ก็มาเจอคำว่า “โฮมสคูล”

เอาจริงๆคือ ณ ตอนนั้น คือไม่มั่นใจเลย  ไม่กล้าคิดไกล ก็เลยคิดว่าเอาหนาลองสักปี เพราะถึงถ้าไม่ลองเราก็นอนกลิ้งอยู่บ้านคงไม่ไปนั่งซ้ำชั้น อ.2 ลูกอยู่แล้ว ได้ลองก็ถือว่าประสบการณ์ ถึงจะไม่สำเร็จมันก็เท่าทุนแหละคงไม่มีไรเสีย ณ ตอนนั้นก็คิดแค่นั้น

นอกจาก Homeschool เรามี ตัวเลือกการเรียนแบบอื่นอีกไหม

ยังไม่มี เราก็เหมือนแม่ทั่วๆไป ที่ยังคงคาดหวังกับระบบในโรงเรียน ปีแรกที่ทำก็ทุลักทุเลมาก ยังจำวันที่เขตมานิเทศก์ครั้งแรกได้เลย คือ รู้สึกได้เลยว่า เราอ่อนมาก ลูกเราอ่อนมาก

ฅนอื่นๆ ครอบครัว เข้าใจไหมว่าเรากำลังทำอะไร

ไม่ๆ ไม่มีใครเข้าใจ บวกกับไม่ค่อยมีใครเห็นด้วย ยกเว้นสามี สามีนี่คืออยากให้เราทำ

“ เขาเรียนรู้จากความอยาก อยากรู้ อยากทำ อยากเห็นว่าจะเป็นยังไงต่อ

 และจากความอยากตรงนี้เราก็เอามาโยงกับวิชาเรียน

ว่าพอจะเข้ากับสาระไหนได้บ้าง แล้วบันทึกเป็นร่องรอยการเรียนรู้เขาอีกที ”

ระเบียบ หรือขั้นตอนกระบวนการขออนุญาต ยุ่งยากไหม

ขึ้นอยู่กับเขตแต่ละพื้นที่เลย นรา เขต1 ตอนนั้นถือว่ายากอยู่เหมือนกัน เจ้าหน้าที่เค้าพยายามบิ้วให้เราเข้าระบบมากกว่า แต่เรายืนยันที่จะทำ ใช้เวลานานมากกว่าจะผ่าน คือเราก็เข้าใจเจ้าหน้าที่นะ ถ้ามีครอบครัวทำโฮมสคูลถ้าเพิ่มมาอีก 1,2,3 ครอบครัวเรื่อยๆเนี่ย งานก็ยิ่งเพิ่ม แต่ก็ยืนยันไปว่าจะทำ เพราะเป็นสิทธิของเราที่พึงทำได้ตามกฎหมายการศึกษา

จำภาพครั้งแรกตอนที่เริ่ม ทำ Homeschool ได้ไหม

ฮูย! โดนกระแสอย่างเยอะ ไม่พาลูกไป ร.ร. ลูกจะไม่ฉลาดนะ ตามเพื่อนไม่ทันนะ จะสอนไหวเหรอทุกวิชา ลูกจะไม่มีสังคมนะ บลาๆ กระแสนั้นมาจากฅนนอกซะส่วนใหญ่ ฅนในกัมปง หรือเพื่อนบ้าน ก็มีแต่เค้าก็ไม่กล้าออกตัวมาก มีแบบแนวๆถาม แกมคอมเมนท์ไม่ค่อยเห็นด้วย ส่วนสามี กับแม่เรา(ยายของเด็ก) แทบจะไม่คัดค้านอะไรเลย สามีนี่คืออยากให้ทำเลย

ก่อนจะทำ เราคาดหวังรูปแบบ Homeschool เราวาดภาพเป้าหมาย ถึงขั้นไหน

ตอนนั้นเราก็แค่บอกว่าเราหยุดเรียนปีเดียวเองแค่ไม่อยากไปซ้ำชั้น แล้วเราก็ทำตามนั้นจริง พอเราโฮมฯได้ครบ1 ปี ก็เริ่มลังเลว่าเราจะอยู่ต่อสายนี้หรือจะกลับไปเรียนในระบบแบบแผนเดิมที่เราเคยวางไว้ สามีคือชัดเจนมากเขาอยากให้ทำต่อ แต่ก็เคารพการตัดสินใจของเราอะนะ เพราะหลักๆคือเราต้องมาอยู่ตรงนี้ สุดท้ายก็ไปเข้าระบบอีกครั้ง

เราถามลูกไหมว่า เขาอยากเข้าห้องเรียน ไหม

ถามๆ ตอนนั้นคำตอบที่ได้คือ เขาอยากไปด้วยเลยทำให้เราลังเลที่จะทำต่อ พอกลับไปเรียนอีกครั้งนี่แหละ เป็นจุดที่ทำให้เราได้มานั่งคิดหลายอย่างเลย

มันเริ่มเห็นภาพมาลางๆว่า สิ่งที่เราพยายามมา 1 ปีที่ผ่านมา กับ 1 ปีที่ลูกเข้าระบบอีกครั้ง มันค่อนข้างต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งกระบวนการและผลลัพธ์

เราได้อะไรบ้างจากการทำ Homeschool ครั้งแรก

ที่รู้สึกได้จริงๆคือ เขาเรียนรู้จากความอยาก คือ อยากรู้ อยากทำ อยากเห็นว่าจะยังไงต่อๆ แล้วเป็นแบบไหนนะ และจากความอยากตรงนี้เราก็เอามาโยงกับวิชาเรียนอีกทีว่าพอจะเข้ากับสาระไหนได้บ้าง แล้วบันทึกเป็นร่องรอยการเรียนรู้เขาอีกที

ปีที่สามจึงเป็นปีที่เราหวนกลับมาโฮมสคูลอีกครั้ง หลังจากลูกเข้าระบบไป 1 ปี และเป็นปีที่เราเริ่มมาทำโฮมสคูลแบบใจรักแล้ว ไม่ใช่แบบตอนแรกที่เราทำไปเพราะแค่เราเจอปัญหาจากอีกทางหนึ่ง จนเรื่อยมาถึงตอนนี้

ในนราธิวาสมีกี่ครอบครัว ที่ทำโฮมสคูล เราทำกิจกรรมร่วมกันไหม

ระหว่างที่ทำเราก็ศึกษาจากบ้านอื่นๆ ที่เขาทำในเขต 1 นราฯ เดิมอยู่แล้ว 4 ครอบครัว เพิ่มเราก็เป็นครอบครัวที่ 5 อุปกรณ์แรกก็ไม่มีอะไรมาก ใช้เท่าที่มี เราก็มีการนัดทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างครอบครัวที่ทำโฮมสคูล เช่นนัดเจอกัน 2-3 ครอบครัว หรือบางทีมีกิจกรรมจากข้างนอกเราก็นัดไปร่วมกิจกรรมพร้อมๆกัน และก็มีคลาสเรียนบางวิชาที่เราแจมเรียนด้วยกัน แต่ก็ไม่ทุกครอบครัว ตามความสะดวกของแต่ละครอบครัว เด็กในกลุ่มบ้านเรียนด้วยกันก็จะสนิทสนมกัน

“ โฮมสคูลคืออิสระ เราอยากได้แบบไหน ยังไง อะไรสำคัญต่อชีวิตเรา ต่อชีวิตลูกๆ เราก็เสริมเติมได้

ระหว่างนั้นเราไม่ลืมที่จะสังเกตว่าเด็กๆเขาชอบอะไรเป็นพิเศษ เขาสนใจด้านไหน ก็พยายามหาอะไรที่จะซัพพอร์ตการเรียนรู้ของเขาต่อยอดไปยังสเตปต่อๆไป ”

ในช่วงโควิด เป็นปัญหาอะไรไหมกับการทำเรียนรูปแบบนี้

ในส่วนของที่บ้านตัวเองเนี่ย สิ่งที่รู้สึกเสียดายอยู่ก็พวกกิจกรรมและคลาสเรียนต่างๆ ที่เราก็เริ่มให้ลูกได้เรียนมาจากข้างนอกบ้างแล้วในบางส่วน พอช่วงโควิดก็ต้องหยุดไป แต่สำหรับการเรียนรู้ในบ้าน หรือบริเวณบ้านเองได้ก็ยังคงเรื่อยๆ เรียนบ้าง เล่นบ้าง หลักๆช่วงนี้ก็จะสอนแนวเอาชีวิตรอด

หากโควิด อยู่อีกยาว จะส่งผลอะไร ต่อการเรียน ของเด็กๆ ในhomeschool

เอาจริงๆก็คิดว่าโควิดมาแล้วคิดว่าโควิดคงไม่ไปแล้วแหละ เหมือนโรคอื่นๆที่มาก่อนหน้านี้ก็ยังอยู่จนทุกวันนี้ อย่างมากก็แค่เบาบางลงแต่ก็คงไม่หมดเกลี่ยง เราคงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันยังไงมากกว่า สิ่งที่ส่งผลก็คงไม่ต่างจากเด็กทั่วไปคือเรื่องสังคม ลูกๆอาจจะไม่คลุกคลีกับเพื่อนๆเหมือนเคย เพราะก่อนหน้านี้แม้เราจะทำโฮมสคูลแต่มีคอนแทกกับสังคมข้างนอกแทบทุกวัน ช่วงนี้คือเรื่องนี้เลยที่ขาดไปเต็มๆ ส่วนเรื่องเรียน คือเรียนในที่นี่ไม่ได้หมายถึงเรียนตามหนังสือเรียน นั่งอ่านหนังสือเรียนนะ ลูกๆก็มีการเรียนรู้ในทุกๆวัน บางทีตื่นขึ้นมาก็เริ่มประดิษฐ์นู้นประดิษฐ์นี่มาแล้ว ไอ้แผนที่แม่วางๆไว้ว่าจะสอนคณิตนะวันนี้ ไทยนะ แม่ก็จอดไว้ก่อน เพราะเห็นลูกกำลังจดจ่อก็ถือว่านั่นคือการเรียนรู้หนึ่งของเขา

“เพราะนิยามคำว่าเรียนของเรา คือ ทุกๆการเรียนรู้เลย”

บริบทวัฒนธรรม ศาสนาในบ้านเรา การเรียนรู้ในรูปแบบ Homeschool เหมาะสมไหม

มากๆ เลย จะบอกว่าโฮมสคูลจะเหมาะมากสำหรับใครที่อยากเรียนรู้เป็นการเฉพาะเจาะจง ถนัดอะไรมุ่งด้านนั้นได้เลย หรือชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เราจัดการได้เลย แม้ระบบจะจัดสรรวิชาศาสนา วิชามลายูให้ลูกๆได้เรียนบ้างแล้ว แต่ถ้าสำหรับพ่อแม่เราอยากให้น้ำหนักวิชาตรงนี้มันมีคลาสเรียนมากขึ้นนะ เพราะเรารู้สึกว่ามีมีความสำคัญกับครอบครัวเรากับลูกๆเรา เราก็จัดสรรวางแผนจัดการเรียนรู้เองได้เลย

มองว่าโฮมสคูลคืออิสระ เราอยากได้แบบไหน ยังไง อะไรสำคัญต่อชีวิตเรา ต่อชีวิตลูกๆ เราก็เสริมเติมได้เลย และระหว่างนั้นเราไม่ลืมที่จะค่อยๆสังเกตว่าเด็กๆเอง เขาชอบอะไรเป็นพิเศษ เขาสนใจด้านไหน ก็พยายามหาอะไรที่จะซัพพอร์ตการเรียนรู้ของเขาต่อยอดไปยังสเตปต่อๆไป

มองการศึกษา การเรียน การสอน สำหรับ พ่อแม่ ในพื้นที่บ้านเรา ควร เป็นอย่างไร

มองว่าพ่อแม่ทุกฅนทำได้นะ ย้อนไปในอดีตก่อนจะมีระบบโรงเรียน เด็กๆในรุ่นทวดของเราๆก็ไม่เคยรู้จักโรงเรียน ไม่เคยไปโรงเรียน แต่เขาก็เติบโตมาแบบได้ดีไม่น้อยกว่ารุ่นเราๆเลย ทั้งความรู้ ความสามารถ ความขยัน ความอดทน ที่สำคัญทักษะเอาชีวิตรอดเขาเหนือกว่ามาก ซึ่งนั่นคือพื้นฐานของชีวิตมนุษย์พึงมีเลย มาจากการเรียนรู้จากไหน ก็จากครอบครัวจากฅนรอบข้าง จนเป็นปู่ย่าตายายเป็นทวดที่เก่งๆของเรา

เราในสมัยนี้ที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกแทบทุกอย่าง เรื่องไหนไม่รู้ก็เสิร์ชกูเกิลเอาได้ ฅนบรรยายศาสนามีหลากหลายสถานีให้ฟัง สงสัยเรื่องใดก็สามารถอินบ๊อกถามได้อย่างรวดเร็ว ถือว่ามีต้นทุนที่ดีมากทีเดียว

เรื่องต้นทุน แต่ละครอบครัว มีต้นทุนต่างกัน เรามองว่าเป็นปัญหาไหม กับการเรียนในรูปแบบนี้

ไม่เยอะมากนะในความรู้สึกส่วนตัว เพราะอย่างที่บอกว่าโฮมสคูลคือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว จะไม่มีว่าใครดีที่สุด หรือแย่ที่สุด จะมีแต่ การเรียนรู้ที่เป็นไปตามสภาพจริงของครอบครัวนั้นๆ พอมารวมหลายๆครอบครัวก็จะเห็นภาพเป็นความหลากหลาย บางครอบครัวมีเน็ตมีคอมฯ เขาอาจจะเรียนแบบใช้เน็ตใช้คอมฯ บางครอบครัวที่ไม่มีเขาอาจจะกำลังเรียนวิธีการดำนาอยู่ นั่นก็คือการเรียน

จะแนะนำ อะไรไหมสำหรับ ครอบครัว ที่สนใจอยากจะทำ Homeschool

คิดว่าทุกๆครอบครัว ณ ตอนนี้ มีความโฮมสคูลอยู่แล้วในทุกๆบ้าน เป็นไปได้ว่าหนึ่งในฮิกมะฮฺของโควิดก็อาจจะเป็นเรื่องที่อัลลอฮฺอยากให้เราได้มีเวลาตัรบียะฮฺ(สอน)ลูกๆของเราบ้าง ก็ขอเป็นกำลังใจสำหรับแม่ๆและทุกๆฅนที่มีเด็กเล็กเด็กน้อยอยู่ในปกครอง เชื่อว่าทุกฅนก็กำลังโฮมสคูลเด็กๆของตัวเองอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำว่าโฮมสคูล แต่สิ่งที่เด็กๆได้เรียนรู้ทุกๆวันที่เขาอยู่ที่บ้านที่ถึงแม้ไม่ได้ไป ร.ร. นั่นแหละ คือการเรียนรู้โฮมสคูล