อารีฟีน โสะ : GEN ใหม่ปาตานีกับพื้นที่ทางการเมืองที่แหลมคมในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ (EP 2)

The Motive ชวนมาคุยกันต่อกับ อารีฟีน โสะ นักกิจกรรมปาตานี ต่อประเด็นที่แหลมคมของพื้นที่ปาตานีในขบวนของประชาธิปไตยแบบไทย และความคิดเห็นต่อพื้นที่แสดงออกทางการเมืองของ GEN ใหม่ในปาตานี

TM : ประเด็นของปาตานี จะขยับยังไงเพื่อให้ทางฝ่ายประชาธิปไตยจากส่วนกลางเข้าใจว่า มันเป็นปัญหาของพื้นที่ต้องขยับร่วมกัน
อารีฟีน : เป็นประเด็นด้านความมั่นคง ที่มันเกี่ยวโยงกับงบประมาณ เรื่องนโยบายทางการทหารนำการเมืองในการแก้ไขปัญหา ฝ่ายประชาธิปไตยหรือผู้สนับสนุนม็อบก็เห็นพ้องว่าทหารเป็นปัญหา จะส่งผลต่อการคุยเรื่องการปฏิรูปกองทัพ การจัดการงบประมาณในการจัดการความขัดแย้งให้ลดเหลือน้อยลง แล้วให้ฝ่ายพลเรือนมีพื้นที่ในการบริหารจัดการที่มากขึ้น มากกว่ากอ.รมน. มากกว่าฝ่ายความมั่นคง คิดว่าเรื่องเหล่านี้คุยแล้วฅนจะเห็นภาพ สังคมไทยรับรู้ความเลวร้ายของทหาร อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะแก้ระดับความมั่นคง นำไปสู่การปฏิรูปกองทัพ แล้วทำให้ฝ่ายพลเมือง ฝ่ายการเมืองมีพื้นที่ในการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกเพิ่มขึ้น นี้เป็นจุดร่วมสำคัญกับม็อบฝ่ายประชาธิปไตยและสังคมไทยอีกด้วย

TM : การเคลื่อนในลักษณะที่ไปเชื่อมกับประเด็นความเป็นประชาธิปไตยในส่วนกลาง จะทำให้ไปขัดแย้งกับขบวนการที่กำลังเคลื่อนไหวในพื้นที่ยังไงบ้างไหม
อารีฟีน : คิดว่าการขึ้นโต๊ะเจรจาของ BRN เองก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางประชาธิปไตย เอาฅนที่ต่อสู้กันมาอยู่ให้สถานะเท่าเทียมกัน มาคุยกันแล้วหากทางออกร่วมกัน นี้ก็คือกระบวนการประชาธิปไตย BRN ก็ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นประชาธิปไตย และม็อบต่าง ๆ ที่ออกมาก็พยายามทำให้ประชาธิปไตยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มันก็คือเรื่องเดียวกัน

ในส่วนของเป้าหมายเรื่อง “เอกราช” BRN ก็ต้องทำงานของตัวเองต่อไป การหาแนวร่วม ยิ่งเมื่อบรรยากาศเป็นประชาธิปไตย BRN ก็สามารถขึ้นมาอยู่บนดินคุยได้ง่ายกว่าคุยใต้ดิน ก็จะได้รับประโยชน์กับสิ่งที่ BRN กำลังต่อสู้อยู่

ถ้ามันจะขัดก็เพราะ วิธีการใหม่ๆ วิธีการที่ไม่คุ้นชินกับฅนที่เคยต่อสู้มาในอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อวิธีใหม่มาก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ว่า วิธีการใหม่จะได้ผล และมีน้ำยาแค่ไหน พอทำแล้วมันจะส่งผลดีต่อสังคมปาตานียังไง หากผลออกมาไม่ดี จะต้องถอยกลับมาในรูปแบบเดิม ก็เป็นเรื่องปกติ
เพียงแค่นั่งคุยทักษะจะไม่เกิด ต้องลงมือทำ เมื่อเจอปัญหาก็ต้องหาทางแก้เมื่อไม่ทำอะไรมันยากที่จะบอกเรื่องนั้นสำเร็จหรือไม่ เราต้องเตรียมฅนที่มีความกล้า กล้าที่จะพูด กล้าที่เปิดหน้า และผลดีมันจะเกิดขึ้นต่อปาตานีทุกภาคส่วนในอนาคตจะขยับในประเด็นที่แหลมคมยิ่งขึ้น

แต่ถามว่าจะไปขัดกันไหม คิดว่า ณ ตอนนี้เรายังไม่มีกลุ่มก้อนที่จะคุยเรื่องเอกราชชัดเจนในพื้นที่ เพราะมันยังขาดความเป็นประชาธิปไตย กลุ่มที่เราทำอยู่พยายามจะให้มีพื้นที่ประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น มันย่อมส่งผลดีต่อการต่อสู้ของกลุ่มที่มีจุดยืนทางการเมืองเรื่องเอกราชแน่นอน มันก็ไม่ขัด


TM : “คณะประชาชนปลดแอก” นักศึกษาในปาตานีก็มีส่วนในการจัดตั้ง แล้วสำหรับปาตานีจำเป็นไหมที่จะต้องมีการจัดตั้ง กลุ่ม หรือ คณะ ที่จะขับเคลื่อนประเด็นพื้นที่ให้ชัดมากขึ้น
อารีฟีน :เบื้องต้นเรายังไม่คุยกันในรายละเอียดที่ไกลขนาดนั้น ส่วนตัวถ้าหากเป้าของคณะนี้คือการทำให้ฅนกล้าที่จะออกมาชุมนุมมากยิ่งขึ้น เป้าหมายเพียงแค่นั้น คิดว่าทีมนี้คงต้องมีตัวตนให้ชัด เพื่อไม่ให้ประเด็นของตัวเองถูกกลบ อาจจะเพิ่มคำว่า “ปาตานี” “ประชาชนปาตานีปลดแอก” แต่ก็คงต้องคุยกับนักกิจกรรมหลายๆ กลุ่ม หลายๆ ฅน ว่าจะเอายังไงกับสถานการณ์เช่นนี้ บรรยากาศตอนนี้เรากำลังทำเพียงแค่ว่าทำให้ฅนกล้าที่จะแสดงออก กล้าลงถนนมากยิ่งขึ้น เท่านี้ก็ถือว่าสำเร็จ อาจจะยังไม่ต้องคุยในประเด็นที่แหลมคม สามารถสร้างหลักประกันได้ว่าเมื่อออกมารวมตัวแล้วปลอดภัย ออกมาแล้วทุกฅนรู้สึกว่าสามารถแสดงออกได้เต็มที่

TM : ฅนรุ่นใหม่ Gen ใหม่ๆ ในพื้นที่ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐไทย มีพื้นที่แสดงออกยังไงได้บ้าง
อารีฟีน : เท่าที่สัมผัส หลายกลุ่มพยายามจะคุยในเรื่องที่คุยไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้สุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายของรัฐไทย เช่น เรื่องประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ มันกลายเป็นกระแส แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เมื่อได้คุยเรื่องประวัติศาสตร์ความหวาดกลัวไม่ได้มีเหมือนตอนที่ผมยังศึกษาอยู่ พื้นที่เหล่านี้เริ่มมีการถกเถียงพูดคุยกันมากขึ้น บวกกับโซเชียลมีเดียทำให้การรับรู้ เข้าถึงข้อมูล สามารถหาเหตุผลมาสนับสนุนการขับเคลื่อนของตนเองได้ง่ายยิ่งขึ้น ผมได้เดินคุยกับม็อบระดับมัธยมปลาย ซึ่งมาจากหลายโรงในปัตตานี ถามว่ามาร่วมงานนี้ได้อย่างไร พวกเขาก็รับรู้จากโซเชียลมีเดีย เดิมก็เคลื่อนงานอัตลักษณ์มลายูในโรงเรียนอยู่ ติดตามการเมืองแต่ไม่ได้มีพื้นที่ที่จะแสดงออก ถ้าอยากจะจัดม็อบแต่ก็ไม่รู้จะจัดการยังไง เมื่อมีการชุมนุมจัดม็อบที่กรือเซะ จึงคิดว่าต้องมาร่วมม็อบนี้ให้ได้

ถ้าเป็นฅนรุ่นเดียวกันในวัย 25 ปีขึ้นไป อาจเป็นเพราะเคยผ่านบรรยากาศหรือประสบการณ์ที่เคยเห็นการจับกุมตัวในชุมชนของตัวเอง ทำให้หากจะเคลื่อนไหวอะไรที่ไปเกี่ยวข้องกับรัฐ เกี่ยวกับทหาร จะถูกเล่นงานเหมือนกับคดีความมั่นคงหรือเปล่า จึงทำให้ไม่กล้าออกมา

ส่วนกลุ่มเยาวชนช่วงอายุ 16 – 18 ปี ม.ปลาย ในช่วงที่เหตุการณ์รุนแรงระหว่างปี 47 – 54 ฅนในวัยนี้อาจจะยังไม่ได้สัมผัส รับรู้กับความรู้สึก ยังไม่ได้ถูกเชื่อมกับการละเมิดสิทธิที่รุนแรง เมื่อได้เรียนรู้ผ่านโซเชียลเห็นม็อบจังหวัดอื่นทำได้ จึงรู้สึกว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวอะไร คิดว่าตัวเองก็สามารถจะทำได้ ทำให้เด็กมัธยมปลาย ตัดสินใจง่ายกว่าฅนที่เคยมีประสบการณ์ค่อนข้างเลวร้ายในอดีต

TM : มาตรการสำหรับการถูกคุกคาม เตรียมตัวไว้อย่างไร
อารีฟีน : ก่อนจัดงานเราก็คุยเรื่องนี้ค่อนข้างหนักเช่นกัน ณ ตอนนี้ทั้งแกนนำ และผู้เข้าร่วมชุมนุม ยังไม่มีรายงานว่าถูกคุกคาม ทางผู้จัดได้ประสานหาที่ปรึกษาเรื่องคดีความ นักกฎหมายสิทธิ อย่างน้อยเพิ่มความมั่นใจขึ้นมาว่า หากถูกคดีความก็มีฅนที่พร้อมจะซัพพอร์ต ถ้าหากว่ามีใครถูกคุกคามก็ต้องลิงค์ข้อมูลมาให้เร็ว

TM : หากน้องๆ มัธยม จะนำรูปแบบแฟลชม็อบไฟจัดชุมนุมโรงเรียนบ้าง
อารีฟีน : พวกเขาอยากจะทำ แต่รูปแบบการครีเอทหรือวิธีการไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง เมื่อทำไปแล้วจะถูกทางผู้บริหารโรงเรียนอาจารย์เรียกตัวไปไหม พื้นที่อื่นอาจจะทำได้ ต้องสร้างความมั่นใจในการรับมือกับผู้บริหาร ฝ่ายความมั่นคงยังไง ในบริบทบ้านเราไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ แต่หากมีการปลดล็อคมีโรงเรียนตัวอย่างที่กล้าทำ จะทำให้มีอีกหลายโรงกล้าที่จะทำตามกันมามากขึ้น

ในรอบนี้เราก็อยากให้มี นักเรียนระดับมัธยมมาเป็นแกนนำ ไม่อยากให้เป็นทาง PerMAS เป็นตัวชูหรือตัวหลัก แต่สุดท้ายก็ต้องเป็นกลุ่มนักศึกษาทำให้ดูก่อน และเราก็มีผู้ที่สนับสนุนก็หลากหลาย สำหรับระดับมัธยม หากว่ามีน้อง ๆ มาขอให้ทางพี่ๆ ช่วยแทรนด์ อบรมในการจัดม็อบ ทางเราก็พร้อมที่จะไปหนุนเสริม

TM : สำหรับพื้นที่ปาตานีอะไรคืออุปสรรคหลัก ต่อขบวนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในพื้นที่
อารีฟีน : รัฐ กับ ทหาร ไม่ได้เป็นอุปสรรค หากเอาตัวชี้วัดของม็อบ 2 ครั้งที่ผ่านมา กลไกพวกนี้ไม่ได้สร้างอุปสรรค แต่เขาอาจจะไปเล่นทางอ้อม เช่น ในมหาวิทยาลัยก็เข้าไปกดดันผู้บริหารให้มากดนักศึกษา แต่เมื่อนักศึกษายืนยันที่จะจัดต่อก็สามารถทำต่อได้ กรณีกรือเซะ ก็ไปกดดันผู้นำท้องถิ่น แต่ทางกลุ่มม็อบก็ยืนยันที่จะทำต่อไป

อุปสรรคจริง ๆ คือ การใช้เวลาในการเดินเข้าไปคุยกับฅนหลากหลายกลุ่ม การสร้างความมั่นใจแก่กลุ่มเยาวชน นักเรียน ว่ากิจกรรมเช่นนี้สามารถทำได้ และทำไปแล้วเราจะได้อะไรจากมัน การมีแนวคิดที่ไม่เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่ดีไปกว่านี้แล้ว การที่จะบอกให้เขาเปลี่ยนความเชื่อเดิม มันสามารถดีได้มากกว่านี้ การพิสูจน์ความเชื่อต้องเอาหลายๆองค์ประกอบที่จะทำให้ฅนเปลี่ยน Mindset ได้
ต้องทำให้ฅนกล้า ไม่เลือกที่จะเงียบหากถูกคุกคาม อย่าซุกซ่อน มันจะทำให้ยากต่อการที่จะสร้างพื้นที่ทางการเมือง การจะรับมือผลจากความกล้า การรับมือกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหารในพื้นที่ มันคือทักษะที่จะต้องลองผิดลองถูก หากจะแค่มานั่งคุยกันทักษะจะไม่เกิด มันต้องลงมือทำ เมื่อเจอปัญหาก็ต้องหาทางแก้ เมื่อไม่ทำอะไรมันยากที่จะบอกเรื่องนั้นสำเร็จหรือไม่ เราต้องเตรียมฅนที่มีความกล้า กล้าที่จะพูด กล้าที่เปิดหน้า และผลดีมันจะเกิดขึ้นปาตานีทุกภาคส่วนในอนาคตจะขยับในประเด็นที่แหลมคมยิ่งขึ้น

TM : ใครที่เป็น Idol ในการต่อสู้ทางการเมืองของปาตานี
อารีฟีน : กลุ่มฅนที่มีจุดยืนเรื่อง “เอกราช” ก็ชูฮัจยีสุหลงเป็นไอดอล และกลุ่มที่ไม่เอาด้วยกับเอกราชต้องการอยู่ต่อกับรัฐไทยแต่อยากให้เป็นเขตปกครองพิเศษก็ชูอัจยีสุหลงเป็นไอดอลเช่นเดียวกัน หากเราถอดคุณลักษณะของฮัจยีสุหลงออกมา สิ่งสำคัญที่สุดคือ ฮัจยีสุหลงเป็นผู้นำทางการเมือง เป็นบุคคลที่สู้เคลื่อนไหวภาคเปิด ทำงานเชื่อมกับฝ่ายที่ก้าวหน้าของสยาม คือ ท่านปรีดี ดังนั้น idol ของฝ่ายปาตานีเกือบทุกฝ่าย คือ ฮัจยีสุหลง การจะออกแบบการต่อสู้ที่เปิดหน้าเป็นสิ่งที่สังคมต้องร่วมกันคิด เพราะ 60 กว่าปีที่กลุ่มติดอาวุธใต้ดินต่อสู้ มันได้แค่เท่าที่เราสัมผัสในวันนี้

โจทย์สำคัญของปาตานีตอนนี้ เราจะจัดตั้งขบวนการของประชาชนที่อยู่บนดินยังไง หากว่า idol คือฮัจยีสุหลง การชุมนุมแฟลชม็อบในปาตานีเป็นก้าวแรกในการสร้างให้ฅนกล้าที่จะเปิดหน้าสู้ ต่อไปจะทำให้การเชื่อมร้อยเป็นองค์กรต้องทำให้ได้มากกว่าฅนรุ่นก่อน

.

อ่าน EP 1 : https://www.the-motive.co/flashmob-patani-arifin/