อารีฟีน โสะ : กรือเซะ สัญลักษณ์การแสดงออกทางการเมือง กับประชาธิปไตยที่เสียงเอกราชเบาลง (EP 1)

“สันติภาพ ที่ยึดโยงกับ ประชาธิปไตย” ข้อความบนป้ายกระดาษที่ถูกชูขึ้นในแฟลชม็อบ #ออแรตานิงตะเละห์เอาะ #ฅนปาตานีจะไม่ทน ที่มัสยิดกรือเซะ และป้ายข้อความ “PATANI want Peace MERDEKA itu indah” ชูในแฟลชม็อบที่ ม.อ.ปัตตานี ม็อบทั้ง 2 ครั้งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ยืนยันบนจุดร่วมใน 3 ข้อเสนอของกลุมเยาวชนปลดแอก หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทำไมถึงยังขาดข้อเสนอที่เป็นประเด็นเฉพาะของพื้นที่ปาตานี

THE MOTIVE ได้นั่งสนทนากับ อารีฟีน โสะ นักกิจกรรมปาตานี หนึ่งในผู้จัดแฟลชม็อบที่มัสยิดกรือเซะ ถึงเหตุที่เลือกใช้สถานที่ทางประวัติศาสตร์ และแต่งกายชุดมลายูในการเคลื่อนประเด็นประชาธิปไตย บนข้อวิพากษ์ถึงความเหมาะสม และเหตุใดประเด็นที่แหลมคมอย่างเรื่อง “MERDEKA-เอกราช” เสียงถึงได้เบาลง

TM : แฟลชม็อบทั้ง 2 ครั้งในพื้นที่ปาตานี ประเด็นมันมีความต่างหรือเหมือนกันอย่างไรกับส่วนกลาง
อารีฟีน : ความชัดเจนคือเห็นด้วยกับ 3 ข้อเสนอของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และม็อบ 2 ครั้ง ในปัตตานีทั้งจัดขึ้นใน ม.อ.ปัตตานี และมัสยิดกรือเซะ จุดร่วมก็มาจาก 3 ประเด็น คือ หยุดคุกคามประชาชน ซึ่งมันชัดเจนในประเด็นของบ้านเรา การแก้รัฐธรรมนูญ มันสัมพันธ์กันกับกระบวนการสร้างสันติภาพ นโยบายที่ยึดโยงกับประชาชน ที่เห็นว่ามีโอกาสที่จะแก้ปัญหาได้มันเกิดนโยบายที่เคารพในความหลากหลาย เคารพความเป็นฅนที่เท่าเทียมกัน แต่รัฐบาลนี้เกิดจากผลพวกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มาจาก คสช. ที่มาจากการละเมิดสิทธิ การมองเห็นฅนไม่เท่ากัน ฉะนั้นการแก้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะได้เห็นรัฐบาลที่เคารพฅนที่เท่าเทียม เคารพสิทธิเสรีภาพ ถ้ารัฐธรรมนูญดี รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นมาหลังจากนั้นก็จะเป็นรัฐบาลที่ดีกว่าปัจจุบัน

ส่วนประเด็นการยุบสภา ก็ชัดเจนว่าประยุทธ์ บริหารประเทศล้มเหลวหลายเรื่อง นี่เป็นจุดร่วมที่ม็อบทั้ง 2 ที่สนับสนุน ก็คล้ายกับพื้นที่อื่น ๆทั่วประเทศ

TM : ทำไมถึงต้องชุดมลายู และทำไมต้องเป็นมัสยิดกรือเซะ

อารีฟีน : มัสยิดกรือเซะ คือ Symbol สัญลักษณ์ทางการเมือง มาทุกยุคหลายสมัย ตั้งแต่ปี 2518 เหตุการณ์ที่ร่วมสมัยมาหน่อยตอนปี 47 ก็เป็นสถานที่กลุ่มติดอาวุธใช้เป็นที่หลบซ่อนถูกวิสามัญจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในปี 35 ก็มีการเคลื่อนไหวทวงคืนจากการเป็นโบราณสถาน รอบนี้เลือกมัสยิดกรือเซะ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่ฅนทุกฅนเข้าถึง เป็นที่รับรู้ว่ามันคือสัญลักษณ์ในการต่อสู้เชิงประวัติศาสตร์ การแสดงอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเอง การที่จะบอกว่าตัวเองมีจุดยืนอย่างไร ก็ต้องเชื่อมกับกรือเซะ สถานที่ที่ชี้ชัด และเป็นแสดงตัวตนโดยผ่านชุดอัตลักษณ์มลายูมุสลิมปาตานี

TM : เรื่องดราม่า ที่ใช้มัสยิดมารวมตัวแสดงออกทางการเมือง จะอธิบายอย่างไร
อารีฟีน : หากอิสลาม คือ วิถีชีวิต ดังนั้น การเมืองคือรูปแบบการบริหารรัฐ การบริหารสังคมนั้น ๆ ถ้าศาสนาคือวิถีชีวิต การออกแบบรัฐ การออกแบบสังคม มันก็คือเรื่องเดียวกัน การใช้มัสยิดเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ มันเป็นสิ่งที่สมควร และชอบธรรม หากคิดว่าศาสนาควรจะแยกออกจากการเมือง คิดว่าตัวเองไม่ได้รับผลจากโครงสร้างทางการเมืองที่กดทับ กดขี่สังคม ถือเป็นการลดทอนคุณค่าของการต่อสู้ไป การต่อสู้เพื่อให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น การเมืองก็ต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ใครที่ไม่เห็นด้วยก็ถือว่าเป็นสิทธิของเขา แต่กลุ่มฅนที่มารวมในวันนั้น และทางผู้จัดเอง คิดว่าต้องแสดงพลังด้วยการใช้สัญลักษณ์ทางการเมืองไม่ให้แยกขาดออกจากกัน

TM : ทำไมถึงไม่มีการพูดถึงประเด็นเรื่อง “MERDEKA เอกราช”
อารีฟีน : ส่วนตัวคิดว่า สำเร็จในระดับหนึ่งเมื่อตอนแฟลชม็อบชุมนุมใน ม.อ.ปัตตานี ภาพชูป้ายมันถูกกระจายไปแล้ว พอมาครั้งนี้มาเป็นหนึ่งในผู้จัด เราก็รอดูนะว่าผู้ที่มาร่วมชุมนุมจะมีใครเขียนและยกป้าย “PATANI MERDEKA” (เอกราชปาตานี) หรือเปล่า มันก็มีนะที่เขียนลงในกระดาษ a4 แต่เห็นไม่ชัด และไม่ได้เด่นขึ้นมา มันอาจสะท้อนถึงความไม่มั่นใจ บวกกับก่อนงานมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความั่นคง ฝ่ายปกครองเต็มพื้นที่ มีการเก็บรายชื่อผู้เข้าร่วม และระหว่างงานก็เกิดมีปากเสียงกับฝ่ายปกครอง กับผู้นำท้องถิ่น บรรยากาศแบบนี้ทำให้ป้ายที่ถูกเขียนไม่ได้ถูกชูขึ้นมา

TM : “สันติภาพ ที่ยึดโยงกับ ประชาธิปไตย” มันขัดแย้งกันไหมกับจุดยืนที่กำลังขับเคลื่อน
อารีฟีน : มันไม่ได้ขัด มันคือเรื่องเดียวกัน ถ้าสันติภาพคือการหยุดสงคราม ความหมายโดยกว้าง คือ การหยุดการสู้รบ หยุดความรุนแรง เราก็ต้องเข้าใจความรุนแรงว่ามาจากโครงสร้างทางการเมืองที่กดทับทำให้ฅนต้องลุกขึ้นมาสู้ มันก็เป็นปัญหาเรื่องการเมือง หากจะหยุดความรุนแรงนี้ได้ โครงสร้างทางการเมืองก็ต้องมีการปรับตัว ให้ฅนที่กำลังสู้รู้สึกว่ามีช่องทางในการต่อสู้รูปแบบอื่นอีกนอกจากการติดอาวุธ

ดังนั้นการที่จะหยุด โครงสร้างที่ดีก็ต้องอิงกับบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย โครงสร้างที่เคารพความเป็นฅนที่เท่าเทียม ระบบที่ยุติธรรม ระบบการเมืองการปกครอง ทำให้ฅนที่รู้สึกว่าโครงสร้างกำลังกดทับ กำลังปรับตัวขึ้น ประชาธิปไตย จะเป็นตัวชี้วัด การติดอาวุธอาจจะไม่จำเป็นแล้ว ในเมื่อประชาธิปไตยมีช่องทางการต่อสู้ในรูปแบบทางการเมืองมากขึ้น

แต่ถ้าเป็นจุดยืนเรื่องเอกราช เสรีภาพในการแสดงออก การจะไม่คุกคามผู้ที่แสดงออกทางการเมือง เป็นสิ่งสำคัญที่โครงสร้างการปกครองประเทศไทย มีหลักรประกันแค่ไหนว่า ฅนที่จะคุยเรื่องเอกราชจะไม่ถูกจับกุมตัว จะไม่ถูกดำเนินคดี หลังจากแสดงออกไปแล้ว

TM : ประเด็นที่แหลมคมของปาตานี ได้รับการยอมรับจากฝ่ายประชาธิปไตยส่วนกลางแค่ไหน
อารีฟีน : ระหว่างแกนทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง มีความเข้าใจในจุดยืนทางการเมืองของกันและกัน หากเป็นฅนทั่วไปก็ยังไม่ได้เข้าใจหรืออินกับเรื่องเอกราช เพราะมันยังไม่มีเสรีภาพในการที่จะแสดงออกในเรื่องนี้มากนัก มีแค่ช่องทางออนไลน์

หากจะชูเรื่องนี้ ก็คิดว่าทำได้ แต่อาจจะต้องสื่อสารกันระหว่างแกน และทดลองทำ แต่ว่าช่วงแรก ๆ อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ กดดัน เหมือนกับฅนที่เคลื่อนไหวเรื่องสถาบันในม็อบต่าง ๆ คงต้องสื่อสารกันระหว่างทั้งฅนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

เรื่องเอกราช คุยอาจจะคุยได้ แต่ก็คงต้องถกกันว่ามันอยู่สภาวะที่จะต้องหยิบยกขึ้นมาคุยหรือเปล่า ถ้าคุยแล้วยิ่งแย่ทำให้ขบวนการเคลื่อนยิ่งแตก ก็คิดว่ายังไม่ควรเป็นวาระสาธารณะ อาจจะแค่คุยเพื่อให้มีกระแสว่า มีฅนที่คุยเรื่องนี้อยู่


.

อ่านต่อ EP 2 : https://www.the-motive.co/flashmob-arifeen-ep2/