นักกิจกรรมสายสุขภาพ กับการจัดการโรคร้าย แม้งานจะล้นมือ แต่ชีวิตสำคัญกว่างานและเงิน

นักกิจกรรมสายสุขภาพฟรีแลนซ์ แม่ลูกสาม กับการจัดการโรคร้ายที่นำมาสู่คนในครอบครัว ถึงงานจะล้นมือ แต่ชีวิตทุกฅนต้องมาก่อนงานและเงิน

ตัสนีม โตะโยะ หรือ นีม บัณฑิตกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตอนนี้เธอกำลังศึกษาปริญญโท สาขาการจัดการระบบสุขภาพ สถาบันโนยบายสาธารณะ มอ.หาดใหญ่ Marketing and Content Crator ห้างหุ้นส่วนจำกัด วันพัตเทรดดิ้งแอนด์มาร์เกตติ้งและ Onepat Farm อีกทั้งเธอยังเป็นแม่ค้าขายของออนไลน์ผ่านเพจ Tymestory, Hurul-ayn Islamic Store และเว็บไซต์ Yourhalalmall. com

เธอลาออกจากงานประจำในโรงพยาบาล เพื่อมาเคลื่อนงานชุมชน ในนามกลุ่ม “Kampung Ku Sihat หรือ “คนรุ่นใหม่สร้างเสริมสุขภาพชุมชนบาเจาะ บันนังสตา จ.ยะลา” ซึ่งยังอยู่ในสายงานอาชีพของเธอ เป็นกลุ่มที่ทำโครงการมิติการส่งเสริมสุขภาพและเพิ่มบทบาทการป้องกันโรคมากกว่าการรักษาพยาบาล ผ่านการจัดกิจกรรมในชุมชน ร่วมทั้งหาทางออกของความเลื่อมล้ำด้านสุขภาพให้กับคนในชุมชนอีกด้วย โดยกลุ่มเธอได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

เธอเป็นแม่บ้านลูกสาม ช่วยซัพพอร์ตธุรกิจของสามี เป็นแม่ค้าออนไลน์ เป็นนักกิจกรรมฟรีแลนซ์ด้านสุขภาพ แน่นอนแต่ละวันชีวิตของเธอต้องยุ่งอยู่กับการงาน ทั้งงานบ้านและการเงิน แต่เมื่อโรคร้ายกลับมาทดสอบครอบครัวเธอ เธอจะพลิกสถานการณ์อย่างไร

วันนี้ THE MOTIVE จะชวนไปอ่านมุมมองของเธอในการจัดการ ประเมิน วิเคราะห์อาการจากการติดโควิดทั้งครอบครัว แล้วปรับจุดโฟกัสไปยังโรคก่อนเรื่องอื่น เพราะอย่างไรก็ตามชีวิตฅนต้องรอดและสำคัญก่อนงานและเงิน

หากย้อนเวลาก่อนจะมีการกักตัว ได้ข่าวว่ารู้ล่วงหน้าแล้วว่ามีเชื้อ แล้วบริหารจัดการโรคโควิดที่บ้านอย่างไร

ย้อนไทม์ไลน์กลับไป คือ มีหลานสามีไม่สบายแล้วเขาก็กักตัวอยู่ที่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งอยู่ในช่วงโควิดเริ่มระบาดหนักระลอกสอง แต่เขาไม่ได้ตรวจโควิด พอเขาเริ่มมีอาการที่ดีขึ้น เขาก็ออกจากบ้านปกติ แต่ภรรยาเขาเริ่มไม่สบาย ลูกเขาเริ่มไม่สบาย ตอนแรกพวกเราก็ไม่ได้คิดกันไปในทางที่ว่าจะได้รับชื้อโควิดไปแล้ว แต่ภายหลังเริ่มคิดในใจก็ตอนที่ภรรยาและลูกของเขาเริ่มไม่สบายไปด้วย

จากนั้นภรรยาหลานสามีมาเตรียมอาหารก่อนวันรายออัฎฮา (เทศกาลฮารีรายอ วันเฉลิมฉลองของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม) นีมก็ได้ร่วมทำครัวกับภรรยาของเขาด้วย แต่หลังรายอ 1 วัน ภรรยาของเขาบอกว่ารู้สึกเหนื่อยๆ อาหารไม่ย่อย ร่วมไม่สบาย ทางบ้านเลยให้เราไปตรวจ ATK (Antigen test kit หรือ ชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ที่สามารถทดสอบได้ในเบื้องต้น)

นีมเริ่มตรวจภรรยาของเขาพบเป็นบวก ตรวจตัวเขาและลูกของเขา ผล คือ บวก เหลือ ATK อีกอันตรวจนีมเอง เพราะสัมผัสสูงสุดกับครอบครัวนี้ และผลก็คือบวก จากนั้น ทำการแยกบ้าน นีมมาอยู่บ้านฅนที่มีเชื้อ เพื่อแยกตัวนีมออกจากครอบครัวตัวเอง

หลังจากนั้นนีมโทรไปถามเพื่อนที่ทำงานในโรงพยาบาลสิโรรส อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เพื่อที่จะไปตรวจ PT-PCR (Polymerase Chain Reaction หรือ เป็นการ Swab เก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณลำคอ และหลังโพรงจมูก) วัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบผลที่รวดเร็ว นีมประเมินแล้วว่าถ้ารอการตรวจจากโรงพยาบาลรัฐ ผลน่าจะออกช้า เลยยอมจ่ายกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ได้ผลที่เร็วและจัดการปิดเคสคลัสเตอร์ครอบครัวของพวกเราให้เร็วที่สุด

เช้าวันต่อมา พวกเรานั่งรถไปตรวจ PT-PCR แบบตรวจบนรถที่โรงพยาบาลสิโรรส นีมไปกับครอบครัวหลานสามี พร้อมทั้งสั่ง ATK จากร้านยาในเมือง แล้วให้เพื่อนเอามาใส่ในรถ 1 กล่องใหญ่ เพื่อส่งต่อให้สามีนีมตรวจสัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมดในครอบครัว

ในวันเดียวกัน สามีตรวจทุกฅนในบ้านทั้งสามครอบครัว พร้อมทีมงานในฟาร์ม รวม 18 คน แต่ผลออกมา คือ ลบหมดทุกคน

ส่วนฅนที่เข้าตรวจในโรงพยาบาลสิโรรส ผลออกอีกวันว่าพบเชื้อเป็นบวก และต้องรอรถโรงพยาบาลมารับไปโรงพยาบาลสนาม

ตอนแรกเข้าใจว่าการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนต้องเสียเงิน หรือ ต้องมีประกัน เพื่อนอธิบายว่าโรงพยาบาลเอกชน ก็ได้รับงบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เช่นเดียวกัน ฉะนั้นผู้ป่วยโควิดที่มารักษาในโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ก็จะได้รับการรักษาฟรีเช่นกัน แต่น่าจะรับพิจารณารับเฉพาะฅนที่มา Swab กับโรงพยาบาลเท่านั้น

ตอนเที่ยงของอีกวันโรงพยาบาลโทรมาแจ้งว่าจะมารับพวกเราตอนบ่ายสาม และมารับเราเข้าโรงพยาบาลสนามเรียบร้อย

ส่วนฅนที่บ้านก็กักตัวเช่นเดียวกัน สามีนีมประสานไปหาผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบาเจาะ (รพ.สต.) เพื่อจะแจ้งให้ทราบว่าบ้านนี้มีผู้รับเชื้อไปแล้วกี่ฅน ทาง รพ.สต. ก็รีบมา Swab ฅนที่บ้านอีกครั้ง ปรากฎว่ารอบนี้ลูกสาวและลูกชายฅนเล็กมีผลออกมาเป็นบวก สามีเลยขับรถมาส่งแอดมิดเข้าโรงพยาบาลสิโรรส ถัดจากนั้นอีก 14 วันต่อมา สามีก็รับเชื้ออีกฅน และเข้าแอทมิต่อจนครบตามวันที่กำหนด

.

ทำไมถึงเลือกไปกักตัวที่โรงพยาบาล สถานการณ์อะไรทำให้ตัดสินใจต้องไป

ช่วงนั้นชั่งใจชั่วขณะ ว่าอยากทำ Home Isolation หรือ การดูแลตัวเองจากที่บ้าน เพราะนีมรู้สึกว่าตัวเองไม่น่าจะหนัก แต่ก็แอบไม่มั่นใจ และประเมินออกมาว่าพวกเราไม่พร้อม ด้วยข้อจำกัดการแยกตัวกลุ่มเสี่ยงกับฅนปกติ ดังนั้น เข้าระบบจะดีกว่า อีกอย่างนีมก็ตื่นกลัว วิตกกังวลจากการติดเชื้อด้วย หากใช้ชีวิตเองโดยไม่เข้าระบบมันน่าจะยุ่งยาก

ต้องมีอาการขนาดไหนถึงต้องไปโรงพยาบาล จำเป็นไหมที่ต้องไปโรงพยาบาล

ระดับผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโควิดแบ่งเป็น 3 สี (1) สีเขียว เป็นเคสที่ไม่มีอาการไปจนถึงมีอาการทั่วไปแต่ไม่ลงปอด (2) สีเหลือง คือ เป็นเคสที่เชื้อลงปอดแล้ว แต่ไม่หนัก (3) สีแดง คือ ผู้ป่วยวิกฤติ

ทางโรงพยาบาลเขาจะรักษาเคสสีเหลืองเข้มไปยังสีแดง ส่วนโรงพยาบาลสนามจะรักษาเคสสีเขียวไปยังสีเหลืองอ่อน

ส่วนนีมเข้าเกณฑ์ในเคสสีเขียว X-Ray แล้วไม่ลงปอด ไม่มีอาการหนัก อาการจะเป็นเพียงแค่ไม่รับรสชาติ ไม่ได้กลิ่นและเพลียมาก

แต่นีมรักษาตัวครบ 14 วันตามอาการ ช่วงแรกนีมเครียดเรื่องงาน เรื่องโรคโควิดว่าจะถึงแก่ชีวิตหรือไม่ จนค่าออกซิเจนต่ำถึง 90 รู้สึกหน้ามืดไป เพราะความเครียดจะไปกดภูมิคุ้มกันในร่างกาย หรือ ไปแย่งกับเชื้อนั้นเอง

แต่หากถามว่าจำเป็นไหม ถ้าหมายถึงการเข้าระบบโรงพยาบาลปกติ ตามกระบวนการจัดการฅนรับเชื้อโควิดตอนนี้ยังจำเป็นค่ะ เพราะได้แยกฅนเสี่ยงกับฅนปกติ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับตัวเอง ฅนในครอบครัวและชุมชนได้ด้วย

หากเรามั่นใจว่าที่บ้านพร้อมแยกห้องพัก แยกของใช้ส่วนตัว และให้กินข้าวห้องตัวเองได้ หลีกเลี่ยงการใช้ห้องน้ำเดียวกันกับฅนในบ้านได้ รวมทั้งสามารถการจัดการขยะของผู้รับเชื้อได้ ก็สามารถทำ Home Isolation ได้เลย เพราะระบบสาธารณะสุขเขาสามารถสนับสนุนการให้บริการทางการแพทย์ที่ช่วยดูแลสุขภาพทางไกลผ่านออนไลน์ได้

ความจริงการไปรักษาตัวในเคสสีเขียวก็ไม่จำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ทำการรักษาตัวเองที่บ้านได้ เพื่อลดความแออัดและเรื่องสภาพจิตใจด้วย

แต่ช่วงที่นีมรับเชื้อฅนติดจะไม่เยอะเท่าตอนนี้ โรงพยาบาลสนามยังรองรับได้ แต่ตอนนี้จากที่เพื่อนอัพเดตให้ โรงพยาบาลเอกชนจะรับ Swab ให้เข้ารักษาเป็นรอบ ส่วนโรงพยาบาลสนามทั่วไปก็เริ่มมีผู้ติดเชื้อที่ต้องรอเตียงแล้วด้วย

ถ้าวันหนึ่งระบบสาธารณะสุขรับฅนไข้เยอะไม่ได้อีกแล้ว ทางเลือกสำรองที่ควรเรียนรู้กันทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน คือ การปรับตัวให้ได้เลือกทำ Home Isolation แบบที่เอาชื่อเข้าระบบและสนับสนุนเรื่องอาหารและยาให้ฅนไข้ ผ่านฅนของหน่วยงานสาธารณะสุขชุมชน เพื่อสื่อสาร อัพเดตอาการทางออนไลน์ และฅนในชุมชนก็ต้องคอยช่วยกันและกัน แต่ถ้าลงปอดเมื่อไร อย่างไรก็ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล เพราะต้องใช้ยาต้านไวรัส

ตอนอยู่โรงพยาบาลจัดการกับครอบครัวอย่างไร

ตอนนีมอยู่โรงพยาบาล นีมปล่อยให้ที่บ้านจัดการกันเองเลย ความสำคัญลำดับแรกตอนนั้น คือเอาชีวิตตัวเองให้รอด ไม่เครียด เพราะถ้าเรามัวแต่คิดถึงการจัดการงานที่บ้านมันจะทำให้เราเครียด นีมเลยไม่คิดอะไรมาก

และเชื่อว่าฅนที่ได้เข้ามาในระบบส่วนใหญ่ก็ไม่น่าจะเครียดมากเท่ากับฅนที่ต้องจัดการอยู่ข้างนอก เพราะถ้าไม่มีครอบครัวช่วยดูแล เราจะไปหวังพึ่งใคร หน่วยงานรัฐเองก็ไม่ได้สนับสนุนอะไรตามมาตรการกักตัวของฅนเสี่ยงสูงที่ต้องมีขั้นตอนเยียวยาไม่ให้ฅนที่บ้านออกไปไหนมาไหนได้ทั่วถึง

ถ้าต้องอยู่ยาวต้องบริหาร (เวลา-งาน-ค่าใช้จ่าย) อย่างไร

ยกตัวอย่างของครอบครัวนีม เราจัดการโควิดกันยาวนานถึง 28 วัน นับตั้งแต่นีมเป็นฅนติดคนแรก และลูกก็ทยอยติดจนคนสุดท้าย คือ สามี ทั้งหมดเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามหมด ซึ่งช่วงนั้นไม่มีความคิดเรื่องการหารายได้เพิ่มเลยจริงๆ คือ คิดแต่เพียงว่าเราหนักไหม เราจะรอดไหม เราต้องรักษาตัวเองและครอบครัวอย่างไร

งานขายออนไลน์ กับงานฟาร์ม รันได้ตามเดิมหลังจากน้องทีมงานที่บ้านกักตัวและตรวจ ATK รอบสองไม่พบเชื้อ ก็ทำงานปกติ ติดขัดเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกที่เรายังไม่รู้ว่าจะให้ความสำคัญกับอะไรก่อนดี

แล้วก็ได้บทเรียนเรื่องเงินเก็บที่จะเอาไปใช้ในยามเหตุฉุกเฉิน การเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด ซึ่งครอบครัวเรามีการวางแผนไว้แล้ว และครอบครัวใหญ่ก็ช่วยสนัสบสนุนเต็มที่

ดังนั้น ช่วงที่พวกเราป่วยและต้องอยู่โรงพยาบาลกันยาวนานเราเลยปลดความคิดที่มีข้อจำกัดออก ทำในสิ่งที่เราสามารถทำได้ภายใต้ข้อจำกัดที่มี