ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ถูกหยิบยกมาพูดคุยในเวทีสาธารณะน้อยมาก นักสิทธิ และองค์กรสิทธิมนุษยชนมีความพยายามประสานการทำงานกับสถาบันต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อให้สามารถหยิบยกประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิงมีพื้นที่ในการพูดคุยมากขึ้นในพื้นที่ และอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพื้นที่ที่มีเป็นรูปแบบทางสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่
ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ชมรมมุสลีมะห์นราธิวาส และองค์การอ็อกแฟม(Oxfam) ได้จัดเวทีอบรมอิหม่ามและถอดบทเรียนความรุนแรงต่อผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในหัวข้อ “เปลี่ยนความคิด ทำงานเชิงรุก ให้ความเป็นธรรม ไม่ยอมรับความรุนแรงในครอบครัว” ใน 4 พื้นที่ อำเภอรือเสาะ ยี่งอ ตากใบ และจะแนะ จังหวัดนราธิวาส
ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของกรรมการอิสลามในแต่ละจังหวัด และอิหม่ามประจำมัสยิด ในการแก้ไขปัญหาครอบครัวและมรดกของมุสลิม อิหม่ามจะคนแรกๆที่ชาวบ้านจะเข้าไปร้องทุกข์ และขอรับคำปรึกษา แต่ข้ออ่อนในทำงานด้านนี้คือไม่ค่อยมีการจดบันทึก และบางครั้งไม่ส่งต่อเคสไปยังกรรมการอิสลาม ปล่อยให้เคสเดินทางไปร้องเรียนด้วยตัวเอง
The Motive ได้พูดคุยกับ นายอัดดือนัน หะยีมะมิง(บาบอนัง) คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลาม การทำงานทางความคิด และการนิยามความรุนแรงต่อประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส
บาบอนัง ได้ให้คำนิยามของความรุนแรงไว้ว่า มันคือการทำร้ายร่างกาย และการทำร้ายทางด้านจิตใจ ด้วยเหตุเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ทรุด และสภาพสังคมก็แย่ลงไปมาก การพูดจาว่ากล่าวร้ายแรง อันนี้ถือว่าเป็นการทำร้ายทางด้านจิตใจ ที่อาจจะบาดลึกไปยิ่งกว่าแผลเป็นตามร่างกายที่เห็นด้วยตา เมื่อมีการพูดจาคำหยาบๆระหว่าง พ่อ แม่ มันจะส่งผลไปยังลูก ลูกที่ได้ยินคำหยาบๆเกือบทุกวัน กลายเป็นว่าเด็กไม่สามารถที่จะแยกแยะได้ว่า อันไหนสมควรหรือไม่สมควร เด็กก็จะนำไปใช้กับเพื่อนๆในโรงเรียน และกับคนในสังคม
ในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามมีฝ่ายไกล่เกลี่ยกรณีปัญหาภายในครอบครัว มีการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งในปัจจุบันมียอดการร้องเรียนที่เพิ่มขึ้น และการมาร้องเรียนถึงสำนักงานคณะกรรมการอิสลามยังน้อย หากเทียบดูกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน
บาบอนัง หยิบยกกรณีตัวอย่างที่มาร้องเรียนถึงสำนักงานฯ มีถึงขนาดว่าซ่อนมือถือไว้อัดคลิปขณะมีเพศสัมพันธ์กัน สามีเป็นผู้กระทำโดยภรรยาไม่รู้ตัว เมื่อถามว่าเขาทำทำไม ทางสามีต้องการแบล็คเมล์ภรรยาของตัวเอง เพื่อแลกกับเงินที่จะเอาไปซื้อยาเสพติด นาน ๆ เข้าภรรยาทนไม่ได้กับพฤติกรรมแบบนี้ จึงมาร้องเรียนเพื่อที่จะขอหย่า ทางฝ่ายไกล่เกลี่ยของกรรมการอิสลามจึงมีความเห็นว่า กรณีเช่นนี้ไม่ควรที่จะเก็บไว้ ต้องปล่อยให้ฝ่ายหญิงเป็นอิสระ
กรณีต่อมา มีการทำร้ายร่างกายฝ่ายหญิงจนสลบต้องเข้า ICU มีบันทึกประจำวันมาร้องเรียน กรณีเช่นนี้กรรมการอิสลามสามารถพิจารณาให้เลิกราได้เช่นกัน เพราะเมื่อย้อนไปเมื่อตอนที่ทำพิธีนิกะห์(แต่งงาน)ในหนังสือรับรองการสมรสของคณะกรรมการอิสลามมีระบุข้างใต้ไว้ว่า หากมีการสร้างความเจ็บช้ำ ฝ่ายหญิงสามารถที่ขอเลิกกับฝ่ายชายได้ คำว่าสร้างความเจ็บช้ำไม่ใช่เพียงแค่ทางด้านร่างกาย ยังรวมไปถึงความเจ็บช้ำทางจิตใจ และส่วนใหญ่สาเหตุหลักๆ ของการทำร้ายร่างกายมาจากฝ่ายชายติดยาเสพติด ยังไม่มีกรณีที่มาร้องเรียนเพราะว่าสามีมีคนที่สอง หรือคนที่สาม
อีกฅนที่ The Motive ได้พูดคุย นายอับดุลการิม การี(บาบอการิม) ฝ่ายไกล่เกลี่ย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ได้ให้ความเห็นถึงกรณีที่ฝ่ายสามีกระทำรุนแรงต่อภรรยาไม่ว่าจะทางร่างกาย หรือจิตใจก็ตาม ก่อนอื่นเลยต้องเรียกมาคุยเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง กรรมการอิสลามต้องเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาที่ดี ตักเตือนทั้งคู่โดยเน้นย้ำไปยังฝ่ายที่กระทำ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่ฝ่ายชายเพียงฝ่ายเดียว การไกล่เกลี่ยจำเป็นต้องสร้างความตระหนัก เพราะบางกรณีอาจจะเกิดจากต้นเหตุเรื่องเล็ก ๆ แต่ถึงขั้นลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โต
บาบอการิม กล่าวถึงชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส ที่เปิดศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีซึ่งเป็นทีมที่มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ทำให้สามารถใกล้ชิดกับกลุ่มผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ถูกกระทำกรณีที่มีการทำร้ายร่างกาย การพูดคุยระหว่างผู้หญิงด้วยกัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และหากมีร่องรอยการทำร้ายตามร่างกายก็สามารถที่จะเปิดผู้หญิงด้วยกันดูได้
สำหรับการมาร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม ไม่ว่าผ่านบาบอ หรือผ่านศูนย์ให้คำปรึษาฯ ถือว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ในอนาคต การลงพื้นที่สร้างองค์ความรู้ให้แก่อิหม่ามในชุมชนอย่างที่ทำอยู่ เราต้องสร้างความเข้าใจในองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง เราจำเป็นจะต้องให้รับรู้สิทธิของแต่ละฝ่าย
ในส่วนของการอบรมอิหม่ามในแต่ละครั้ง บาบอนัง เล่าให้ฟังว่าเราต้องการเสริมสร้างศักยภาพของอิหม่าม รู้บทบาทหน้าที่ และเพิ่มทักษะให้อิหม่ามมากขึ้น เพราะบางครั้งอิหม่ามก็จะไม่รับกรณีทำร้ายร่างกาย กังวลว่าอาจจะเสี่ยง เพราะฝ่ายอาจจะเป็นคนมีอิทธิพล มีการข่มขู่ด้วยอาวุธ ทำให้ไม่กล้าที่รับเรื่อง
ความคาดหวัง อย่างน้อยอิหม่ามรู้ว่ากระบวนการในการส่งต่อเคส การจดบันทึก เป็นอย่างไร เพิ่มองค์ความรู้ทางด้านกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ด้วยเหตุที่สังคมที่นี่เป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่กว่าสตรี ทำให้การอบรมแต่ละครั้งมีการแจกเอกาสรทำความเข้าใจในสิทธิสตรีในอิสลาม และเพื่อให้อิหม่ามทำความเข้าใจกับสัปบุรุษในการสร้างครอบครัวที่ดี ลดปัญหาที่จะเกิดในครอบครัวได้