วันนี้ (13 ส.ค.2564) เวลา 10.00 น. 3 เยาวชนยะลาปลดแอก ประกอบด้วย นายประเสริฐ ราชนิยม นางสาวอามานียะ ดอเล๊าะ และนายอารีฟีน โสะ เดินทางพร้อมทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อรับฟังข้อกล่าวหาคดี “คาร์ม็อบยะลา” ที่ สภ.เมืองยะลา หลังจากถูก พ.ต.อ.ตรัยกฤษ์ ปัญญาไตรรัตน์ กล่าวหา.
ณรงค์ อาแว ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า “วันนี้เป็นการนัดสอบคำให้การ ทางพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 5 ข้อ (1) ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมมากกว่า 5 ฅน (2) ร่วมกันชุมนุม หรือ การจัดกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดในพื้นที่ที่มีประกาศ หรือ คำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (3) ส่งเสียง หรือ ทำให้เกิดเสียง หรือ กระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร (4) ขับรถในลักษณะขีดขวางทางจารจร (5) หยุดรถในช่องทางเดินรถและในลักษณะกีดขวางทางจราจร.
แต่ผู้ต้องหาทั้ง 3 ฅน ก็ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและมีการขอให้การเพิ่มเติม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อนุญาติถ้ามีพยานหลักฐานเพิ่มเติม ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการยื่นขอฝากขัง แต่ตกลงว่าศาลยกคำร้อง จึงต้องปล่อยตัวไป.
ทนายณรงค์ เปิดเผยถึงผู้ต้องหาที่ได้รับหมายเรียกอีก 4 ฅน ที่เหลือว่า ‘ต่อไปก็จะมีการรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ในคราวเดียวกัน เพราะเป็นการฟ้องในคดีเดียวกันรวมทั้งหมด 7 ฅน วันนี้ 3 ฅน ส่วนที่เหลืออีก 4 ฅน จะมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 18 ส.ค.2564 โดยจะมีทนายฅนอื่นๆ มาร่วมด้วย” ณรงค์ กล่าว.
ด้าน พ.ต.อ.ตรัยกฤษ์ ปัญญาไตรรัตน์ ผู้กำกับการ สภ.เมืองยะลา และเป็นผู้กล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 3 ฅน ที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ (13 ส.ค.) ว่า “เรื่องการให้สัมภาษณ์ผมต้องขออนุญาติผู้บังคับบัญชาก่อน เบื้องต้นเป็นไปตามข้อมูลของผู้ที่ถูกเรียกมาในวันนี้ ทุกฅนมีข้อมูลตรงนี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมได้กล่าวหาไปนั้นมันเป็นความผิดที่มีต่อรัฐตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น .
เราดำเนินการตามข้อหาจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ส่วนเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผมไม่ได้ติดใจอะไร เพียงแต่ว่าขณะนี้มันอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด เบื้องต้นผมสามารถให้รายละเอียดได้เพียงเท่านี้” ผู้กำกับ กล่าว.
ประเสริฐ ราชนิยม ผู้ร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบยะลา เปิดเผยว่า “วันนี้ตนโดน 5 ข้อกล่าวหา แต่หลังจากนี้ยืนยันยังคงจะออกมาแสดงความคิดเห็นต่อไป เพราะยังไงมันก็เป็นสิทธิของเราที่จะแสดงความคิดเห็น อีกประเด็น คือ เราแสดงความคิดเห็นในเรื่องของประเทศชาติ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ฉะนั้นการมาบังคับให้หยุดทำในสิ่งที่ควรจะทำมันคงไม่ได้ผล.
สำหรับเรื่องที่ผู้กำกับ สภ.เมืองยะลา เป็นห่วงเรื่องโควิดนั้นตนอยากเสนอให้ท่านมาแจกเจลล้างมือ แจกแมส มาควบคุมการเว้นระยะห่าง แต่ถ้ากังวลในเรื่องจารจรก็ควรนำเจ้าหน้าที่ตำรวจจารจรออกมาอำนวยความสะดวก ไม่ใช่ตามมาไล่จับฅนอย่างนี้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องการปราบปราม แต่มันเป็นเรื่องการป้องกัน”.
อารีฟีน โสะ หนึ่งในผู้ร่วมจัดคาร์ม็อบยะลา เปิดเผยว่า “ทั้ง 5 ข้อกล่าวหาผมปฏิเสธหมด และจะชี้แจงเพิ่มเติมเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษร ศาลถามว่าผมมีเหตุผลอะไรที่จะต้องไม่ฝากขัง ผมตอบไปว่าผมสามารถมาตามนัดได้ตลอดเวลา เพราะบ้านผมอยู่ในเขตเมืองยะลาเช่นกัน ปรากฎว่าศาลก็รับฟัง.
ด้านการจัดม็อบผมก็จะเดินหน้าต่อไป เพราะมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายก็ว่าไปตามกฎหมาย ส่วนเรื่องม็อบยืนยันที่จะเดินหน้าต่อไปจนกว่าประยุทธ์จะลาออก.
เขาพยายามที่จะเลี่ยงไม่ให้เป็นเรื่องการเมือง ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องการเมือง และเขาใช้โอกาสพื้นที่โรคระบาดที่เป็นพื้นที่สีแดงมาเป็นข้ออ้างในการจับกุมพวกเรา ทั้งที่จริงแล้วเราก็ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดการบริหารประเด็นโควิด ถ้าเราไม่ออกมาโควิดก็จะระบาดเพิ่มมาอีก เพราะที่ผ่านมาการบริหารของรัฐบาลมันยิ่งแย่ลง .
การจัดคาร์ม็อบเป็นการแสดงออกที่เป็นวิธีการที่ดีที่สุดแล้วในบริบทที่มีโรคระบาด แต่เมื่อเขาไม่สามารถเอาผิดในเรื่องการชุมนุมได้ ก็เลยใช้ช่องทางอื่นในการเอาผิดให้จนได้” อารีฟีน กล่าว.
ส่วนอามานียะ ดอเล๊าะ ผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นผู้หญิงฅนเดียวในรอบนี้เปิดเผยว่า “ตนโดนแค่ 4 ข้อหา ตัดเรื่องจารจรออก เพราะตนไม่ได้เป็นฅนขับรถยนต์ และไม่ได้เป็นฅนจัดม็อบด้วย แค่ไปร่วมเฉยๆ ปกติตนทำงานด้านการเมืองอยู่แล้ว พอมีกิจกรรมในลักษณะนี้เจ้าหน้าที่เลยคิดว่าตนเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ตนยืนยันที่จะเข้าร่วมม็อบอีก ไม่ห่วงเรื่องคดี.
และอยากสื่อสารถึงน้องๆว่า สิ่งที่ตนโดนคดีนั้นมันเป็นเรื่องปกติที่ทางเจ้าหน้าที่จะพยายามเล่นงานทุกช่องทางเพื่อหยุดเรา แต่ถ้าเราเข้มแข็งและทำในสิ่งที่ถูกต้องก็อย่ากลัวและอย่ากังวล” อามานียะ ทิ้งท้าย.