ท่าที่ของรัฐบาลที่ไม่แสดงถึงสัญญาณแห่งการสร้างสันติภาพ

SIKAP PEMERINTAH TIDAK MENUNJUK KEPADA TANDA TANDA PERDAMAIAN
.
วารสาร SURAT ฉบับที่ 107 สิงหาคม 2024 หน้าที่ 8-9
แปลโดย ชินทาโร่ ฮาร่า

.
กระบวนการสันติภาพปาตานีเข้าสู่ปีที่ 11 แต่เส้นทางที่นำไปสู่สันติภาพยังถูกปิดสนิท แม้แต่ภายในรัฐบาลไทยเองก็ไม่มีเอกภาพต่อกระบวนการนี้ มีฝ่ายที่เห็นด้วย แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยในการแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมือง จนถึงคณะพูดคุยของฝั่งไทยก็ไม่สามารถมีบทบาทอย่างจริงจังต่อกระบวนการอีกด้วย ดังเช่นที่เกิดขึ้นบนโต๊ะเจรจาว่า ฝั่งไทยไม่พร้อมที่จะลงนามในข้อตกลง หรือแม้แต่ลงอักษรแรกของชื่อ (initial) ต่อสรุปการประชุมก็ไม่ยอม
.
พวกเข้าอ้างว่าจะลงนามหลังจากมีข้อตกลงในทุกเรื่อง แต่ปฏิบัติการของรัฐบาลในระดับพื้นที่ (ปาตานี) ก็ไม่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพ ดังที่ฝ่ายรัฐดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มคนที่ใส่ชุดมลายู ทั้ง ๆ ที่ความต้องการของพวกเขาคือการฟื้นฟูอัตลักษณ์การแต่งตัวของชาวมลายูในสังคมปาตานี ก่อนหน้านั้นก็มีกลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่จัดการประชามติจำลองเกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (self determination) พวกเขาอาจจะจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่า เสรีภาพเป็นสิทธิของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการกำหนดชีวิตของตนเอง แต่ฝ่ายรัฐก็มองว่า นี่คือการกระทำผิดกฎหมายไทย ดังนั้นคดีสองคดีดังกล่าวก็ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม
.
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยังสร้างความสับสนเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเศรษฐกิจมากกว่าการสร้างสันติภาพ รัฐบาลไทยเลือกการพัฒนาเป็นประเด็นหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปาตานี) แต่การพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคก็ไม่อาจเป็นประโยชน์ต่อประชาชนปาตานีหากไม่มีสันภาพ และความสับสนก็เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนปาตานีเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเมกกะโปรเจค (โครงการทางวิศวกรรมขนาดใหญ่มาก) ที่แทบจะไม่สร้างอาชีพให้แก่ประชาชนปาตานีเลย
.
ในช่วงแรกของเมกะโปรเจค รัฐบาลให้ความหวังแก่ประชาชนว่าจะเป็นโอกาสการทำงานสำหรับคนในพื้นที่ แต่ในขั้นตอนการเลือกคนทำงาน คนที่มาจากนอกพื้นที่ปาตานีผูกขาดโอกาสทำงานที่ว่ามานี้ ยิ่งหนักกว่านั้นก็คือปัญหาทางสังคม เพราะคนพุทธจากนอกพื้นที่นำวัฒนธรรมของเขา ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อวัฒนธรรมและศาสนาที่ปาตานี
.
นักวิชาการไทยบางคนจากสายชาตินิยมไทยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการสร้างสันติภาพและกรอบ JCPP (Joint Comprehensive Plan towards Peace แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม) นี่คือการทำลายสันติภาพโดยทางอ้อม เพราะบนโต๊ะเจรจา คู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็ตกลงที่จะทำให้รายละเอียดของ JCPP มีความสมบูรณ์ แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่สบายใจกับเนื้อหากรอบ JCPP บางประเด็น
.
เช่น การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ (public consultation) รูปแบบการปกครองในช่วงเปลี่ยนผ่าน การจัดตั้งทีมติดตาม (monitoring team) ที่มีองค์ประกอบจากอาเซียนและสังคมนานาชาติ แต่สิ่งที่ฝ่ายรัฐต้องการในเนื้อหาของ JCPP ก็มีแค่ประเด็นการยุติการเป็นปรปักษ์กันและการลดปฏิบัติการ(ทางการทหาร) จนถึงบัดนี้ ประชาชนปาตานีก็ยังไม่มั่นใจกับรัฐบาลไทยในการแสวงหาแนวทางแก้ไขสำหรับความขัดแย้งอย่างยุติธรรมและมีศักดิ์ศรี
.
ฝ่ายรัฐบาลไทยมักจะละเมิดมสิทธิมนุษยชนที่ปาตานี ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ชาวบ้านถูกควบคุมตัว (ตามอำนาจกฎหมายพิเศษ) หรือนอกการควบคุมตัว ดังเช่นเกิดขึ้นในเหตุการณ์นองเลือดที่ตากใบหรือมัสยิดกรือเซะ และมัสยิดไอร์ปาแย อำเจอเจาะไอร้อง ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ชัดเจนว่าผู้กระทำคือฝ่ายรัฐไทย แต่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีแม้แต่คนเดียวที่ถูกจับและได้รับบทลงโทษเลย รัฐบาลไทยต้องเปิดพื้นที่เพื่อการสร้างสันติภาพ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพสามารถดำเนินตามมาตรฐานระหว่างประเทศหรือสากล โดยมีเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจนจากฝ่ายรัฐ
.
กระบวนการสันติภาพก็คงไม่ดำเนินอย่างราบรื่น หากไม่ทำตามมาตรฐานสากลที่ถูกนำมาใช้ในพื้นที่ความขัดแย้งอื่น ๆ บนโลก นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องให้ฝ่ายที่สามอื่น ๆ มีบทบาทในกระบวนการ ไม่วาจะเป็นบทบาทโดยตรงหรือทางอ้อม และยังต้องเปิดพื้นที่ (ทางการเมือง) ให้กับประชาชนในพื้นที่ ดังเช่น นักกิจกรรม นักวิชาการ/ปัญญาชน และบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสังคม เพื่อดำเนินการรณรงค์และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพ
.
ประชาชนปาตานีได้สูญเสียอัตลักษณ์ รวมไปถึงวัฒนธรรมทางภาษา ป้ายต่าง ๆ เช่นป้ายชื่อสถานที่และหมู่บ้าน ทั้งหมดนี้ถูกทำลายโดยการปกครองของคนที่มาจากกรุงเทพฯสู่ปาตานี ทำไมกรุงเทพฯ ไม่ชอบคำสองคำนี้ คือ มลายูกับปาตานี?
.
.
หมายเหตุ : แปลจาก วารสาร SURAT ฉบับ 107 เดือนสิงหาคม 2024 หน้าที่ 8-9 แปลโดยชินทาโร่ ฮาร่า ซึ่งทาง The Motive เล็งเห็นถึงประโยชน์จากบทความดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพปาตานีจากมุมมองของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ และได้รับอนุญาตการแปลความจากกองบรรณาธิการของวารสาร SURAT ซึ่งเป็นวารสารภาษามลายู (รูมี-ยาวี) ที่เผยแพร่อยู่ในต่างประเทศและพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ในรูปแบบของไฟล์พีดีเอฟ มีลักษณะของการส่งต่อในอีเมลล์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการเอกราชปาตานีในปัจจุบัน

.