ตราบใดที่ลำคลองแห่งนี้ไม่แห้งขอด เราจะไม่ออกไปทำงานนอกพื้นที่อย่างแน่นอน

ยะโก๊ะ สะมะแอ เป็นชาวบ้านตันหยงเปาว์ ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เขาเกิดและเติบโตที่นี่ บ้านตันหยงเปาว์ เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีประชากรพันกว่าคน ติดกับชายทะเลอ่าวปัตตานี และโอบด้วยลำคลองที่เต็มไปด้วยป่าชายเลน ชาวบ้านจะประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน บ้างก็ออกเรือลอยลำในทะเลใหญ่ และบางคนก็ลงคลองหาสัตว์น้ำหลังบ้าน

เมื่อข้ามสะพานคอนกรีตข้ามลำคลองปากทางเข้าหมู่บ้าน เราจะเห็นบ้านเรือนปลูกเรียงรายชิดติดกัน ถนนคอนกรีตของ อบต.เป็นเส้นแบ่งบ้านเรือนออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งด้านใต้ติดลำคลอง และฝั่งด้านเหนือติดชายทะเล

ยะโก๊ะ ในวัยหกสิบปี บอกกับเราว่า “ตราบใดที่ลำคลองแห่งนี้ไม่แห้งขอด เราจะไม่ออกไปทำงานนอกพื้นที่อย่างแน่นอน” แกรำพึงออกมาด้วยแววตาที่เป็นประกาย บ่งบอกถึงความรักความผูกพันธ์ต่อทรัพยากรในหมู่บ้าน ที่ใช้เป็นแหล่งทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว

มะซอบรี อาแว ชายหนุ่มวัยกลางฅน เป็นอีกหนึ่งฅน ที่ชีวิตผูกติดอยู่กับลำคลอง มะซอบรีเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ในราวห้าสิบปีที่แล้ว ทรัพยากรในทะเลหน้าหมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์มาก และชายทะเลจะอยู่ห่างออกไปจากหมู่บ้านอีก แต่คราวนั้นมีเรือพาณิชย์เข้าจับปลาในน่านน้ำของหมู่บ้าน โดยใช้อวนรุน อวนลาก ลากจนกระทั่งอวนของชาวบ้าน และทรัพยากรในผืนน้ำหายไปหมด เมื่อหากินกับทะเลไม่ได้ พวกผู้ชายหลายคนจำใจต้องอพยพไปทำงานนอกพื้นที่ โดยเฉพาะไปเป็นแรงงานที่ประเทศมาเลเซีย ในสายงานเรือประมง หรือไม่ก็เป็นคนงานก่อสร้าง ทิ้งลูกเมียและฅนเฒ่า ๆ ฅนแก่อยู่บ้าน นาน ๆ จะกลับบ้านสักครั้ง

เมื่อทรัพยากรที่คอยหล่อเลี้ยงครอบครัวถูกทำลาย และเสาหลักของบ้านต้องออกไปทำงานหาเงินนอกพื้นที่ เงินที่ได้มาแค่เพียงพอจุนเจือในครัวเรือนเท่านั้น แต่มิอาจที่จะส่งลูก ๆ เข้าเรียนสูง ๆ ได้ พอจบชั้นประถม 6 ก็อยู่ที่บ้านไม่เรียนต่อ โตขึ้นหน่อยก็เอาไปทำงานที่มาเลย์ด้วย

ช่วงหลังมีการเปิดร้านต้มยำในมาเลย์มากขึ้น เด็ก ๆ ที่ไปส่วนใหญ่จะเข้าไปทำงานในร้านต้มยำ เริ่มจากล้างจาน ค่อย ๆ ไต่เต้าเป็นเด็กเสิร์ฟ วิถีดั้งเดิมของหมู่บ้านที่เคยผูกติดกับทะเลค่อย ๆ จางหาย ในขณะทะเลเสื่อมโทรมผู้ฅนที่เหลือก็ปรับตัวหันมาหากินในลำคลองที่โอบหมู่บ้านแทน อย่าง ยะโก๊ะ มะซอบรี และอีกหลายคน มีการวางลอบดักปูดำ บริเวณริมคลองหรือในร่องน้ำป่าโกงกาง บ้างก็ทอดแห ล่าปลากระบอก หรือทำ “โพงพาง” ที่เป็นเครื่องมือดักประจำท้องที่ในลำคลอง เพื่อดักปลาและกุ้งที่ไหลตามกระแสน้ำในช่วงน้ำลง ปัจจุบันแม้ทะเลเริ่มกลับฟื้นตัวอีกครั้ง เนื่องจากเรืออวนรุนถูกห้ามประมง ทว่าลำคลองก็เกือบถึงขั้นวิกฤต

ยะโก๊ะ พูดให้ฟังทีเล่นทีจริงว่า “เมื่อก่อน ลงไปในช่วงเช้า ใกล้ ๆ เที่ยงก็ขึ้นมา ต้องได้อย่างน้อย ๆ 300-400 บาท แต่ตอนนี้อย่าว่าแต่จะขาย จะทำแกงกินในครัวก็สาหัส “

ลำคลองเริ่มเปลี่ยนสภาพจากเดิม น้ำตื้นขึ้น เพราะเกิดจากการกัดเซาะชายฝั่ง พอฤดูมรสุมสายน้ำที่ท่วมสูงก็จะพัดตะกอนดินที่เกิดจากการกัดเซาะเข้ามาด้วย เกิดเป็นเกาะเล็ก ๆ กลางลำคลอง ต้นแสม (อ่านว่า สะ-แหม) ผุดขึ้นและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ร่องน้ำย่อยต่าง ๆ ปิดตายเป็นป่าแสม และเหนือลำคลองขึ้นไปมีโรงงานปาล์ม หลังจากโรงงานฯเกิดขึ้นอาชีพเลี้ยงปลากระพงในกระชังก็หายไป และปลากดเหลืองที่ขึ้นชื่อของตันหยงเปาว์ก็ลอยตายทุกวัน