ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 1 : เมื่อกระบวนการยุติธรรมไร้คำตอบ ปล่อยโชคชะตารับผิดชอบผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “งานคือชีวิตของสมชาย นีละไพจิตร และชีวิตคืองานของครอบครัว นีละไพจิตร”

ว่า การตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ทนายสมชายอาจถูกมองว่าเป็นฅนที่ทำให้เกิดปัญหา บางฅนอาจคิดว่าปัญหาจะหมดไป ถ้าทนายสมชายหายไป แต่เราคงประจักษ์ว่าถึงแม้วันนี้ทนายสมชายไม่อยู่ แต่ก็มีฅนอีกมากมายลุกขึ้นมา

ถึงจะมีชาวบ้านมากมายที่พวกเขายังอยู่กับความกลัว ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง แต่ก็ยังมีฅนเล็กฅนน้อยมากมายเช่นกันที่ขึ้นมายืนอยู่ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะตรวจสอบและตามหาความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ดิฉันคิดว่าถ้าทนายสมชายยังอยู่ในวันนี้ เขาจะดีใจ และภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาได้ทำมา และดิฉันก็รู้สึกเสียใจ ผิดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อปลายปี 2558 ศาลฎีกามีการพิพากษาว่า จำเลยที่เป็นตำรวจ 5 ฅนไม่มีความผิด เพราะไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ ที่สำคัญศาลยังเห็นว่าครอบครัวไม่มีอำนาจ ไม่มีสิทธิในการที่จะเป็นผู้เสียหายเพื่อทวงถามหาความเป็นธรรมให้กับทนายสมชาย

สำหรับดิฉันแล้วกระบวนการยุติธรรมไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงต่อสิ่งที่เกิดขึ้น กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มองถึงความรู้สึก ไม่ได้มองถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง กระบวนการยุติธรรมจะยืนอยู่ได้อย่างไรในเมื่อฅนเล็กฅนน้อยยังถูกเอารัดเอาเปรียบ ฅนเล็กฅนน้อยยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

เมื่อสมัยที่ตนเองเคยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเป็นผู้ที่ดูแลว่าด้วยเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงได้เชิญเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมมาเพื่อจะถามว่า กรณีของบิลลี่ (พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกรอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี) หายไปวันนี้จะให้ทำอย่างไร

หลังจากที่กรรมการคดีพิเศษไม่รับให้เป็นคดีพิเศษและตำรวจก็ยุติการสอบสวนแล้ว ต่อไปจะทำอย่างไร กระทรวงยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมต้องมีข้อเสนอแนะที่จะบอกว่าจะให้ทำอย่างไร แต่ปรากฏว่าไม่มีใครตอบ

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงทำให้ดินฉันในฐานะของเหยื่อได้เรียนรู้ว่าในการบังคับให้ฅนสูญหาย วันนี้ยังคงความคลุมเครือ วันนี้ถ้าหากบังคับให้ฅนสูญหาย ฅนที่จะต้องรับผิดชอบ หรือสิ่งที่จะต้องรับผิดชอบก็คงเป็นคำว่า “โชคชะตา” หรือเป็นเวรเป็นกรรมของคนๆ นั้นเอง
.
หมายเหตุ : งานชั้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท (Sun, 2017-03-12 / 19:39 )
ลิ้งค์ฉบับเต็ม : https://prachatai.com/journal/2017/03/70535

อ่านเพ่มเติม :
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 2
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 3
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 4
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 5