เจอกันกรุงเทพฯ แต่ปาตานีไร้ชื่อ : วิเคราะห์บทบาทมาเลเซีย-อาเซียน ผ่านมุมมองคนชายแดนใต้

อิสมาอีล ฮายีแวจิ
.
การมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 กลายเป็นเหตุการณ์ทางการทูตที่ได้รับความสนใจทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ไม่เพียงเพราะเป็นการพบกันระหว่างผู้นำของสองประเทศเพื่อนบ้าน หากแต่ยังมีการพบกับผู้นำรัฐบาลทหารพม่า (SAC) กลุ่มรัฐบาลพลัดถิ่น NUG และการแสดงบทบาทในฐานะประธานอาเซียนภายใต้บริบทของวิกฤตในเมียนมา
.
แต่ท่ามกลางเวทีเจรจาที่ร้อนแรง ความเคลื่อนไหวระดับสูง และคำประกาศใหญ่โตในนามอาเซียน กลับไม่มีแม้แต่ “เงา” ของคำว่า “ปาตานี” หรือปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ไทยปรากฏออกมาเลย แม้ว่าทั้งมาเลเซียและไทยจะเป็น Actor สำคัญในการเดินหน้าโต๊ะเจรจาสันติภาพกับ BRN และฝ่ายต่าง ๆ ในพื้นที่
.
ปาตานี เท่ากับพื้นที่ที่ถูกลืมในเวทีที่ถูกเลือก
.
ความเงียบของประเด็นปาตานีในการพบกันครั้งนี้เป็นเรื่องที่ชวนตั้งคำถามอย่างยิ่ง มาเลเซียคือ “ผู้อำนวยความสะดวกอย่างเป็นทางการ” ของกระบวนการเจรจาสันติภาพ และไทยคือต้นทางของปัญหา หากทั้งสองฝ่ายพบกันโดยไม่เอ่ยถึงอนาคตของชายแดนใต้ ย่อมสะท้อนถึงจุดยืนที่ถูกมองข้าม หรืออย่างน้อยก็เป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ “การทูตเร่งด่วน” เท่ากับเมียนมา
.
ในขณะที่มาเลเซียย้ำชัดในเรื่องหลักการมนุษยธรรมและความชอบธรรมของประชาชนพม่า กลับไม่มีถ้อยแถลงหรือความเคลื่อนไหวในระดับเดียวกันกับผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในปาตานี ทั้งที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 7,438 คน บาดเจ็บอีก 13,827 คน และความรุนแรงสะสมต่อเนื่องมากว่า 20 ปีแล้ว
.
เมียนมาได้โต๊ะ ปาตานีได้เพียงความหวัง
.
เมียนมา แม้จะถูกวิจารณ์ว่ามีการฟอกขาวเผด็จการ แต่ในความเป็นจริง มีทั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) องค์กรต่อต้านของกลุ่มชาติพันธ์ของเมียนมา (ERO) และประชาคมระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาท การเมืองเมียนมากลายเป็นสมรภูมิที่ทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผย
.
ในขณะที่ปาตานี ยังคงเป็นเรื่องที่รัฐไทยมักจำกัดอยู่ในกรอบความมั่นคง และเวทีเจรจายังเป็นเพียงการ “ลองคุย” ไม่ใช่การ “ร่วมออกแบบอนาคต”
.
การพบกันของผู้นำที่กรุงเทพฯ อาจสร้างผลกระทบในระดับอาเซียน แต่กับปาตานี มันคือการตอกย้ำว่า พื้นที่แห่งนี้ยังไม่มีที่นั่งและโต๊ะที่สำคัญ
.
บทเรียนที่ยังต้องเรียนรู้
.
ถ้ามาเลเซียจะเป็นผู้นำอาเซียนด้านมนุษยธรรมจริง ปาตานีควรเป็นหนึ่งในวาระที่ต้องพูดถึง ไม่ใช่เพียงเพราะความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ แต่เพราะมาเลเซียเองมีส่วนร่วมกับกระบวนการนี้มายาวนาน
.
หากไทยต้องการสันติภาพที่ยั่งยืน คำถามคือ ทำไมไม่หยิบปาตานีขึ้นมาพูดในการพบผู้นำระดับสูง? หรือไทยเองก็ยังไม่พร้อมจะพูดถึงมันในระดับอาเซียน?
.
คนปาตานีควรถามกลับ ว่าทำไมปัญหาของเราไม่เคยอยู่ในวาระใหญ่ ทั้งที่มันสะสมความรุนแรงมายาวนานกว่าหลายพื้นที่ในอาเซียน
.
มาเลเซียไม่ยอมให้ใครเป็นคนกลาง
.
หลายปีที่ผ่านมา ทั้งองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC), ประเทศในอาเซียน, นักการทูตยุโรป และองค์กรด้านสันติภาพนานาชาติ ต่างเคยแสดงความสนใจจะมีบทบาทในกระบวนการเจรจาปาตานี หรืออย่างน้อยก็ทำหน้าที่เป็น “ผู้สังเกตการณ์” เพื่อเพิ่มความโปร่งใส
.
แต่มาเลเซียยืนยันจะรักษาภาพตัวเองในฐานะ “ผู้อำนวยความสะดวกหนึ่งเดียว” โดยไม่เปิดพื้นที่ให้ผู้เล่นรายอื่น ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนเชิงโครงสร้างของกระบวนการสันติภาพ เพราะในขณะที่ตัวเองไม่ผลักดันความคืบหน้า แต่ก็ไม่ยอมให้ใครทำแทน
.
BRN เองก็เคยออกแถลงการณ์ตั้งคำถามต่อความเป็นกลางของมาเลเซีย และระบุถึง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่อาจทำให้บทบาทผู้ไกล่เกลี่ยขาดความน่าเชื่อถือ
.
เมื่อการมาเยือนไทยของอันวาร์รอบนี้ ไม่ได้แม้แต่พูดถึง “ปาตานี” นั่นจึงนำไปสู่คำถามสำคัญ
.
“ถ้าจะไม่ใส่ใจ แล้วจะรั้งตำแหน่งคนกลางไว้ทำไม?”
.
บทบาทไทย-มาเลเซียกับปาตานี ยังต้องการมากกว่า “การพบกัน”
.
การเจรจาและการสร้างสันติภาพไม่ควรเป็นเรื่องของการเลือกพื้นที่ตามกระแส แต่ควรเป็นการยืนหยัดในหลักการกับทุกปัญหาที่มีชีวิตคนเป็นเดิมพัน หากมาเลเซียอยากเป็นผู้นำแห่งสันติภาพในอาเซียนจริง ปาตานีควรต้องมีชื่ออยู่ในทุกการเดินทางของนายกรัฐมนตรี
.
“เพราะปาตานี ก็ยังอยู่ในแผนที่”

.
แหล่งอ้างอิงข้อมูล

● มูฮำหมัด ดือราแม. (2568, 22 มีนาคม). ประธาน MAPIM ชี้สันติภาพปาตานี ต้องเริ่มจากวาระประชาชนก่อน. ประชาไท. https://prachatai.com/journal/2025/03/112418…

● ฐิตินบ โกมลนิมิ. (2566, 23 กุมภาพันธ์). การพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้นั้นเปราะบาง: จะไปต่อได้อย่างไร ?. The Active. https://theactive.thaipbs.or.th/read/peace-talk-dialogue

● ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช (2559. 15 มกราคม). บทความ: OIC กับการพูดคุยสันติภาพภายใต้รัฐบาลทหาร. ThaiPBS. https://www.thaipbs.or.th/news/content/7341

● ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง. (2567. 28 สิงหาคม). เสียงจากมาเลเซีย: วิพากษ์บทบาทมาเลเซียในการเจรจาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้. The 101.World. https://www.the101.world/malaysia-roles-in-thailand-deep…/