ฮาลอร์ : เสือสมิงในวัฒนธรรมมลายู

เขียนและเรียบเรียงโดย : Rozee Haree
ภาพ : Yudibatang.com
.
เรื่องเล่าเกี่ยวกับเสือในรูปมนุษย์หรือมนุษย์ที่สามารถแปลงกายเป็นเสือนั้นพบได้ทั่วในอุษาคเนย์ ในสังคมไทยนั้นปรากฏเรื่องเล่าเร้นลับประเภทนี้ในรูป “เสือสมิง”
.
ในวัฒนธรรมมลายูทั้งบนคาบสมุทรและหมู่เกาะก็ปรากฏเรื่องเล่าประเภทนี้ด้วยเช่นกัน ในสังคมมลายูชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทร (ปาตานี กลันตัน ตรังกานู) นั้นจะรู้จักในชื่อ “ฮาลอร์” ในยะโฮร์และสลังงอร์นั้นจะรู้จักในชื่อ ฮารีเมาจาดีจาดียัน ส่วนชื่ออื่นๆนั้นเช่น รีเมากือรามัต และรีเมาฮันตู
.
เรื่องเล่าเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับสิ่งเร้นลับประเภทนี้ในสังคมมลายูพบใน เซอจาระห์มลายู (سجاره ملايو) หรือ พงศาวดารกษัตริย์มะลากาเอกสารพื้นเมืองที่เกี่ยวกับราชสำนักมลายูบนคาบสมุทรฉบับนี้ได้เล่าถึงธิดาของกษัตริย์แห่งมะลากาที่หนีจากการโจมตีของโปรตุเกสและได้ซ่อนตัวบนเขาสูงที่เป็นรอยต่อระหว่างมะลากากับยะโฮร์ เจ้าหญิงซึ่งต่อมารู้จักในนาม “ปุตรีฆูนุงเลดัง” ได้รับการคุ้มครองจากเสือสมิงและกลายเป็นตำนานที่ถูกเล่าสืบทอดกันมา¹
.
ในปี 1613 เดออีรีเดีย นักเขียนเชื้อสายโปรตุเกส – มลายูคนแรกๆ ที่บันทึกเกี่ยวกับมะลากาพูดถึงเรื่องเล่าประเภทนี้ไว้ในบันทึกของเขาด้วยเช่นกัน เช่นตอนที่เขาพำนักที่มะลากาหลังจากที่ตกเป็นของโปรกุเกสนั้น มีเหตุการณ์ที่เสือออกมาไล่กัดชาวมะลากาและถูกกำราบด้วยบิชอปแห่งมะลากา ชาวพื้นเมืองเชื่อว่าเสือที่ออกมาไล่ฆ่ามนุษย์นี้เป็นสมิงของปุตรีฆูนุงเลดัง²
.
ข้อมูลเกี่ยวเสือสมิงมลายูที่ถูกเล่าโดยละเอียดนั้น คงเป็นบันทึกของวอลเตอร์ สกีตนักมานุษยวิทยาที่ได้รวมความเชื่อของชาวมลายูรวมทั้งปาตานี สกีตได้พูดถึงเรื่องลี้ลับนี้ในหนังสือ Malay Magics และได้ยกเหตุการณ์หนึ่งที่เขาเจอที่สลังงอร์³
.
ชาวพื้นเมืองได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับเสือสมิงให้สกีตฟังว่า มีชาวบ้านมลายูคนหนึ่งได้เก็บทารกน้อยมาจากชายป่า ทารกน้อยคนนี้มีผิวสีขาวผิดจากเด็กมลายูทั่วไปอีกทั้งยังมีดวงตาสีฟ้า เมื่อเด็กทารกคนนี้โตขึ้นก็มีนิสัยก้าวร้าวชอบทำร้ายเพื่อนอยู่เสมอ ครั้งหนึ่ง เมื่อชายผู้ที่ชุบเลี้ยงเอาไม้มาฟาดตีเพื่อทำโทษ เด็กผู้นี้กลับกระโดดไกลกว่าเด็กทั่วไป เมื่อตีได้สามครั้ง หางที่มีลักษณะคล้ายกับหางเสือที่ถูกเก็บซ่อนไว้ในกางเกงก็เผยให้เห็นออกมา ก่อนที่เด็กประหลาดผู้นี้จะเดินหมอบด้วยขาและแขนสองข้างแล้วหนีหายไปในชายป่า
.
เมื่อรู้ว่าเป็นลูกของเสือสมิง ชายผู้ที่เก็บเขามาเลี้ยงดูก็ตะโกนสาปแช่งว่า หากจะทำร้ายมนุษย์ให้ทำร้ายเฉพาะมนุษย์ที่ไม่มีศีรษะเท่านั้น ไม่อย่างนั้นแล้วขอให้พระเจ้าลงโทษ
.
สกีตได้เล่าว่า พวกมลายูน้อยนักที่จะล่าเสือ เพราะกลัวว่าเป็นเสือสมิง แต่หากต้องไล่ฆ่าเสือ เช่น เสือเกิดไปกัดทำร้ายคน หรือ ไล่กินวัวชาวบ้าน การยิงเสือก็เป็นเรื่องจำเป็น ก่อนจะออกไปยิงเสือนั้นก็ต้องทำงพิธี และการจะเอาเสือที่ถูกยิงแล้วออกจากป่าก็จำเป็นต้องทำพิธีอีกเช่นกัน พิธีนี้รู้จักในชื่อพิธี “บางุนรีเมา” ตอนที่สกีตไปที่หมู่บ้านกาจังในสลังงอร์ เขาได้เห็นพวกบอมอฮฺ หรือ หมอผีมลายูกำลังทำพิธีนี้พอดี พวกเขาจับเสือให้นั่งในท่ายืนแล้วเอาสิ่งของบางอย่างยัดเข้าไปในปากเสือเพื่อให้ปากเปิดอ้า จากนั้นบอมอฮฺก็ร่ายมนต์คาถา
.
ชาวมลายูที่ในสลังงอร์เชื่อว่าเสือสมิงนั้นมีหมู่บ้านของพวกตนโดยเฉพาะ ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงที่ถูกปกคลุมโดยหมอกเมฆ บ้านของสัตว์ผีประเภทนี้สร้างด้วยเสาและหลังคาที่ทำด้วยกระดูกมนุษย์และหนังศีรษะมนุษย์ เสือสมิงจะอาศัยอยู่เฉพาะในหมู่บ้านของตนและจะออกไล่ล่ามนุษย์ราวปีละครั้งซึ่งคนมลายูจะเรียกว่า “ปือเจาะห์ปาฆฺา” ผลก็คือ จะมีเหตุการณ์ที่มีเสือออกมาไล่ล่ามนุษย์ถี่และต่อเนื่อง
.
เสือสมิงนั้นบางครั้งก็ร่วมอาศัยอยู่กับชาวบ้าน เช่น ที่แฟรงค์ สวีเทนแน่มได้บันทึกไว้ตามคำบอกเล่าของชาวเปรัคในปี 1895 ที่เล่าว่า เคยมีชายเกอรินจีจากสุมาตราสี่คนแวะที่หมู่บ้านของตนและขอค้างคืนในหมู่บ้าน ในคืนนั้นปรากฎว่าไก่หลายตัวถูกเสือคาบไปกิน ชาวบ้านออกไล่ล่าเสือและยิงเสือได้หนึ่งตัวส่วนอีกตัวบาดเจ็บและหนีไปได้ เมื่อมากลับมาถึงหมู่บ้าน ชายจากเกอรินจีปรากฏเหลือเพียงแค่สามคน ส่วนอีกคนนอนป่วย เพราะโดนกระสุนยิง⁴
.
เรื่องประหลาดและลี้ลับเกี่ยวกับฮาลอร์ หรือ เสือสมิงสร้างความสนใจแก่ ฮิวจด์ คลิฟฟอร์ด เป็นพิเศษ ในปี 1897 เขาได้เขียนเรื่องลี้ลับนี่ไว้ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า Malay Sketch ที่เล่าถึงเสือสมิงตนหนึ่งที่ไล่ล่าชาวมลายูในบริเวณที่ราบแม่น้ำสลิมในเปรัคจนเป็นที่หวาดผวา⁵
.
ในปาตานีปัจจุบัน เสือสมิง หรือ ฮาลอร์นั้นกลับเป็นเรื่องเล่าอันเลือนลางที่ยังพอปรากฏอยู่ในหลายชุมชน ผู้รู้ทางศาสนาในท้องถิ่นให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องราวของฮาลอร์ว่า เป็นญินนฺชนิดหนึ่งที่สามารถแปลงกายเป็นเสือได้ ชาวมลายูในยุคก่อนได้ใช้ฮาลอร์ทำหน้าที่บางอย่าง เช่น ปกป้องไร่สวนและปศุสัตว์โดยให้บอมอฮฺทำพิธีแลกกับการเซ่นไหว้ ญินนฺฮาลอร์ส่วนมากจะถูกตกทอดให้ลูกหลานต้องดูแลต่อ หรือ ที่เรียก “ฮาลอร์ปือสากอ”
.
เนื่องจากการปฎิสัมพันธ์กับญินนโดยเฉพาะการเซ่นไหว้บูชาสิ่งเร้นลับชนิดนี้เป็นเรื่องขัดกับหลักศาสนาอิสลามอย่างรุนแรงและถึงขั้นชีริก (ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ) เรื่องเล่าเกี่ยวกับฮาลอร์ก็แทบไม่มีให้ได้ยินอีก คงมีเพียงชื่อของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอรามันที่มีชื่อว่า “ตือโละฮาลอร์” เป็นพยาน
.
#แหล่งอ้างอิง

(1) Sejerah Melayu or Malay Annals of John Leyden’s Version. 1821. London : Longman Hurst Press. หน้า 293

(2) Eredia, Manuel G. von. (auth), Mills, J. V. G. (trans). 1997. Eridia’s Description of Malacca. Kuala Lumpur: The Malay Branch Royal Asiatic Society. หน้า 23

(3)Skeate, W. Walter. 1900. Malay Magics: An Introduction to the Folklore and Popular Religion of the Malay Peninsula.London : McMilan and Co. หน้า 157-170

(4)Swettenham, Frank. 1895. Malay Sketch. London: John Lane. หน้า 201

(5) Clifford, Huge. 1897. In Court and Kampong : Being Tales and Sketches of Native Life in the Malay Peninsula. Ithaca:
Cornel University Press. หน้า 62-74
.
หมายเหตุ : The Motive ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางในการสื่อสาร ซึ่ง เนื้อหา บทความ ของผู้เขียนอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกับกองบรรณาธิการ.